เหงือกและฟัน, อาหารบำรุงเหงือกและฟัน, เหงือก, ฟัน, บำรุงเหงือกและฟัน

7 อาหารใกล้ตัว ช่วย เหงือกและฟัน แข็งแรง

อาหารใกล้ตัว ช่วย เหงือกและฟัน แข็งแรง

เหงือกและฟัน เป็นด่านแรกของระบบย่อยอาหาร หากเหงือกแข็งแรง ฟันบดเคี้ยวอาหารละเอียด รับรองระบบย่อยอาหารจะทำงานสบาย ร่างกายดูดซึมได้เต็มที่ แต่หากเหงือกบวมและฟันโยกคลอน ไม่เพียงระบบย่อยอาหารทำงานหนัก อาจส่งผลให้ไม่อยากเคี้ยว ไม่อยากกินจนร่างกายขาดสารอาหารและเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

 

ดื่มชาเขียว ต้านโรคเหงือก

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนเพิ่งตื่นเต้นไปหมาด ๆ เมื่ออ่านพบว่าฃชาเขียวช่วยต้านเชื้อไวรัสทั้งไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่มาวันนี้ได้ยิ้มอีกรอบ เพราะรู้ว่าชาเขียวที่ดื่มเป็นประจำยังช่วยให้สุขภาพเหงือกแข็งแรงอีกด้วย

ล่าสุด The Journal of Periodontology รายงานผลจากแบบสำรวจพฤติกรรมดื่มชาเขียวของคุณน้าคุณอาชาวญี่ปุ่น อายุ 49 – 50 ปี จำนวน 940 คน ว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว มีความเสี่ยงเป็นโรคเหงือก เช่น โรคปริทันต์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชาเขียว

ทันตแพทย์หญิงฉัตรแก้ว บริบูรณ์หิรัญสาร งานทันตกรรมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคปริทันต์มีอีกชื่อคือ “โรครำมะนาด” มีสาเหตุจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีคราบอาหารตกค้าง ส่งผลให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียจนเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ (Plaque) กลายเป็น

หินปูนสะสมบริเวณร่องเหงือก (รอยต่อระหว่างเหงือกกับฟัน)ทำให้เหงือกอักเสบ บวมแดง เลือดออกง่ายขณะแปรงฟันมีกลิ่นปาก เหงือกร่น จนต้องสูญเสียฟันในที่สุด

หากรู้จักรักษาสุขภาพเหงือกซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ฟันก็แข็งแรงไปด้วยดังรายงานจากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เก็บข้อมูลจำนวนฟันที่ยังคงอยู่ไม่จากไปตามกาลเวลาจากชายและหญิงจำนวน 25,000 คน อายุ 40 – 60 ปี

พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว มีค่าเฉลี่ยจำนวนฟันมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชาเขียว โดยผู้ที่มีฟันเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ มีเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ในชาย และ 13 เปอร์เซ็นต์ในหญิง นักวิจัยเชื่อว่า สารคาเทชิน (Catechin) ในใบชาเขียวมีส่วนช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอักเสบ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกนั่นเอง

แนะนำให้ชงชาเขียวร้อน ดื่มขณะอุ่น ไม่ใช่ชาเขียวแช่เย็นผสมน้ำหวานบรรจุขวด หรือชาเขียวเติมน้ำตาล เพราะน้ำตาลเป็นอาหารชั้นดีของแบคทีเรียภายในช่องปาก หากดื่มผิดวิธีอาจกระตุ้นให้เหงือกอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงฟันผุเพิ่มขึ้น

ชาเขียว, เหงือกอักเสบ, เหงือกและฟัน, โรคเหงือก, น้ำชาเขียว
ดื่มชาเขียวอุ่นๆ บรรเทาอาการเหงือกอักเสบได้

เคี้ยวเนยแข็งลดกรดในช่องปาก

อาหารที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลเป็นอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในช่องปาก โดยแบคทีเรียจากคราบหินปูนที่เกาะติดบนผิวฟันจะเปลี่ยนน้ำตาลจากอาหารให้กลายเป็นกรดและสารพิษ

กรดที่สร้างจากแบคทีเรียจะตรงเข้าทำลายเคลือบฟันจนฟันผุ ส่วนสารพิษทำให้เหงือกอักเสบลุกลาม ยิ่งช่องปากมีความเป็นกรดสูง หรือมีค่าพีเอช (pH) ในช่องปากต่ำกว่า 5.5 ยิ่งเสี่ยงฟันผุจนถึงสูญเสียฟันในที่สุด

แต่หากกินเนยแข็งร่วมด้วยในมื้ออาหาร ไม่เพียงไม่เพิ่มความเป็นกรดในช่องปาก แต่ยังช่วยลดกรดอีกด้วยพิสูจน์แล้วโดย Journal General Dentistry ซึ่งเปรียบเทียบความเป็นกรดในช่องปากหลังกินอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ เนยแข็ง นมวัว และโยเกิร์ตไขมันต่ำ

นักวิจัยวัดค่าความเป็นกรดในช่องปากของอาสาสมัครทั้งก่อนและหลังกินอาหาร โดยวัดหลังกินอาหาร 3 นาที จากนั้นให้กลั้วปากด้วยน้ำสะอาดและวัดค่าซ้ำทุก ๆ 10 นาที จนครบ 30 นาที

ปรากฏว่าอาหารทั้ง 3 ชนิดไม่มีผลเพิ่มความเป็นกรดในช่องปากตามคาด เพราะมีน้ำตาลต่ำ แต่เนยแข็งกลับเหนือกว่าคือช่วยลดความเป็นกรดในช่องปากด้วย

นักวิจัยเชื่อว่า เนยแข็งมีโปรตีนสูงเช่นเดียวกับนมและโยเกิร์ตไขมันต่ำ แต่แตกต่างที่เนื้อสัมผัส ทำให้ต้องเคี้ยวก่อนกลืน ยิ่งเคี้ยวจึงยิ่งกระตุ้นให้ผลิตน้ำลายเพิ่มขึ้น ช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดในปาก พร้อมชะล้างคราบอาหาร ลดการยึดเกาะและเจริญเติบโตของแบคทีเรียบนผิวฟัน นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยคืนแร่ธาตุให้ฟันแข็งแรงอีกด้วย

เนยแข็งไม่อยู่ในอาหารที่ ชีวจิต แนะนำหากอยากลองกินเนยแข็งบ้างเป็นครั้งคราวแนะนำให้กินร่วมกับอาหารเพื่อสุขภาพชนิดอื่น เช่น กินคู่กับขนมปังธัญพืช แครกเกอร์โฮลวีต ถั่วชนิดต่าง ๆ หรือขูดโรยบนสลัดผักหลายชนิด

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.