ท้องเสีย รับมือได้ด้วยวิธีธรรมชาติ
อาการ ท้องเสีย หรือท้องร่วง (diarrhoea) มักจะเกิดขึ้นหลังจากการกินอาหารรสจัดหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน ในบางรายอาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาถ่าย ยาระบาย ยาลดกรด หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด ทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดอาการอักเสบ ปกติมักหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน หากเป็นนานกว่านี้อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นในเด็กเล็ก คนชรา หรือคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
อาการท้องเสียแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังซึ่งท้องเสียชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในอาหาร ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำสีเหลืองหรือขาวเป็นฟอง และถ่ายมากกว่าวันละ 3 ครั้ง ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีกลิ่นก็ได้
ถ้ามีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาจเกิดจากภาวะลำไส้บีบตัวมาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตรายแสดงถึงโรคร้ายแรง เช่น กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ บิด ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคในช่องท้องอื่นๆ
กินอยู่อย่างไรเมื่อท้องเสีย
เมื่อมีอาการท้องเสีย คนส่วนใหญ่มักจะกินยาแก้ท้องเสีย ซึ่งความจริงแล้วไม่มีประโยชน์ในการรักษาแต่อย่างใด เพราะยาแก้ท้องเสียจำพวกยาที่ทำให้หยุดถ่าย อาจมีผลข้างเคียง ทำให้ท้องอืดหรือเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ทางที่ดีควรรอให้ร่างกายถ่ายเพื่อขับเชื้อหรือสารพิษออกมาจนหมด อาการก็จะทุเลาไปเอง แต่ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วยังไม่หาย เรามีวิธีดูแลตัวเองอย่างง่ายๆ มาฝากค่ะ
1. ดื่มน้ำสะอาด น้ำหวาน หรือดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป (สำหรับเด็กและคนชรา ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ)
2. การดื่มนมเปรี้ยวที่มีแล็คโตบาซิลลัสผสมอยู่จะช่วยฟื้นฟูแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ปกป้องลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะหากแบคทีเรียเหล่านั้นตายไปเพราะมีการติดเชื้อ
3. ควรงดอาหาร 24 ชั่วโมง ระหว่างนั้นควรดื่มแต่น้ำข้าวต้มผสมเกลือเล็กน้อยทุกๆ 15 – 30 นาที เมื่ออาการทุเลาขึ้นจึงกินอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นอกจากนี้ยังไม่ควรดื่มนมและควรงดผักผลไม้ชั่วคราว หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น
4. เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินอาหารแข็ง เช่น ผักนึ่ง กล้วย ไข่ต้ม ข้าวกล้องสวยที่หุงค่อนข้างแฉะ ซึ่งอาหารแบบนี้เหมาะสำหรับเด็กด้วย แต่ควรบดอาหารให้ละเอียดก่อน จนกระทั่งอาการดีขึ้นมากจึงกลับไปกินตามปกติ
สูตรน้ำดื่มเพิ่มเรี่ยวแรง
ทั้งสองสูตรนี้ใช้ดื่มเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปค่ะ
- สูตรน้ำข้าว นำน้ำแช่ข้าวสาร 1 แก้ว เกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา และน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ มาผสมกัน แล้วดื่มทันที
- สูตรน้ำเกลือแร่ นำน้ำต้มสุก 1 ขวดกลมใหญ่ (ประมาณ 750 มิลลิลิตร) น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่นครึ่งช้อนชา ผสมกันเพื่อดื่ม
บรรเทาท้องเสียด้วยสมุนไพร
หากลองมาทุกวิธีแล้วยังไม่ทุเลา ลองเก็บสมุนไพรในสวนครัวหลังบ้านมาเยียวยาอาการท้องเสียกันดีกว่าค่ะ
- ฝรั่ง ใช้ยอดอ่อนของฝรั่งประมาณ 10 – 15 ใบ ปิ้งไฟให้กรอบ ต้มกับน้ำสะอาด หรือใช้วิธีชงกับน้ำร้อน แล้วดื่มเป็นชาสมุนไพร หรือใช้ผลอ่อนของฝรั่งเคี้ยวสดๆ รสฝาดของฝรั่งจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้
- ฟ้าทลายโจร ล้างใบฟ้าทลายโจรสดให้สะอาด แล้วผึ่งลมให้แห้ง (ควรผึ่งในร่มที่มีอากาศโปร่ง ห้ามตากแดด) บดเป็นผงให้ละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้ง เก็บไว้ในขวดที่แห้งให้มิดชิด กินครั้งละ 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
- กล้วยน้ำว้า กินกล้วยน้ำว้าห่ามครั้งละ – 1 ผล หรือนำกล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ชงกับน้ำดื่มครั้งละ – 1 ผล หรือบดผลดิบให้ละเอียด ปั้นเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 4 เม็ด ก่อนอาหารและก่อนนอน
- ทับทิม นำใบหรือเปลือกของผลแห้งมาต้มกับน้ำสะอาด ถ้าได้รสฝาดลิ้นถือว่าใช้ได้ (ส่วนปริมาณแล้วแต่ความเหมาะสมของอาการแต่ละคน) ดื่มเรื่อยๆ จนอาการดีขึ้น
น้ำมันหอมฟื้นฟูร่างกาย
เมื่อผ่านกระบวนการในการเยียวยาอาการท้องเสียมาทุกขั้นตอนแล้ว เป็นธรรมดาที่ร่างกายจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง แถมยังหน้านิ่วคิ้วขมวดโดยไม่ตั้งใจ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีสูตรฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังสูญเสียน้ำจากการถ่ายท้องมาแนะนำ ทำแล้วรับรองสบายทั้งกายและใจค่ะ
1. นวดหน้าท้องด้วยน้ำมันหอม หยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ จูนิเปอร์ แซนดัลวูด คาโมมายล์ หรือเจอเรเนียม อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงในน้ำมันหรือโลชั่นประมาณ3 – 4 หยด เพื่อนวดหน้าท้องวันละ 2 ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัว และช่วยลดการบีบรัดตัวของลำไส้ได้
2. อาบน้ำคลายเครียด หยดน้ำมันหอมผสมน้ำอาบประมาณ 6 – 8 หยด กลิ่นของน้ำมันหอมจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น
* หมายเหตุ ในทางจิตวิทยาระบุว่า น้ำมันหอมมีคุณสมบัติในการคลายเครียดของระบบประสาท การคลายเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อหน้าท้องให้มีการบีบรัดตัวน้อยลง อีกทั้งยังคลายการบีบตัวของลำไส้จากการท้องเสียได้ทางอ้อมอีกด้วย
T I P : อาการท้องเสียที่ควรรีบไปพบแพทย์
1. ปวดท้องรุนแรงหรือถ่ายท้องรุนแรง (อุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ) และเป็นอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นเลือด
2. อาเจียนรุนแรงหรือมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว
3. เมื่อลุกขึ้นนั่งแล้วมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือมีไข้สูง
4. อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งสงสัยว่าน้ำอาจปนเปื้อนเชื้อไทฟอยด์ อะมีบา พยาธิใบไม้ในเลือด หรืออหิวาต์
ข้อมูลอ้างอิง
- คุณขนิษฐา ปานรักษา หัวหน้างานแพทย์ แผนไทย กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสมุทรสาคร
- หนังสือที่ปรึกษาครอบครัวสุขภาพดี
- หนังสือบำบัดโรคด้วยการแพทย์ทางเลือก
- หนังสือคู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ท้องเสียก่อนมีประจำเดือน ทำอย่างไร
4 สุดยอดวิธีแก้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ให้ระบายง่ายถ่ายสะดวก