ลดความดันโลหิตสูง ด้วยการกินลูกเกด
ลูกเกดช่วย ลดความดันโลหิตสูง ได้อย่างไร? หลายคนอาจกำลังสงสัยอยู่ แต่เราหาคำตอบมาฝากแล้วแหละ โดยข้อมูลของที่ประชุมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐฯ ได้รับแจ้งรายงานผลการศึกษา 2 เรื่องว่า การกินลูกเกดและถั่วเหลือง จะช่วยลดความดันโลหิตสูง ตัวการใหญ่ของโรคหัวใจ ให้เบาบางลงได้
ลูกเกดผลไม้ลดความดัน
นายแพทย์ฮาโรล์ด เบย์ส (Harold Bays) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมแทบอลิกและหลอดเลือด ลุยวิลล์ (Louisville Metabolic and Atherosclerosis Research Center) ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ทีมวิจัยศึกษาความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตหลังกินลูกเกด เปรียบเทียบกับการกินขนมขบเคี้ยวทั่วไปที่วางขายในท้องตลาดอย่างแครกเกอร์และคุกกี้
ทีมวิจัยทดลองโดยให้อาสาสมัครผู้เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง (Prehypertension) กลุ่มแรกกินลูกเกด ส่วนอีกกลุ่มกินขนมชนิดอื่นซึ่งให้พลังงานใกล้เคียงกัน โดยกินก่อนอาหาร 3 มื้อ นาน 12 สัปดาห์
ผลปรากฏว่า ผู้ที่กินลูกเกดมีระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) ลดลง 5 – 7 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) ลดลง 6 – 10 มิลลิเมตรปรอท
แม้การศึกษานี้ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดลูกเกดจึงช่วยลดความดันโลหิตได้แต่จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) ระบุว่า ลูกเกดครึ่งถ้วยตวงมีโพแทสเซียมสูงถึง 456 มิลลิกรัม คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงมีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิต
เลือกและเก็บอย่างไร
ควรเลือกลูกเกดที่บรรจุในภาชนะโปร่งใสปิดสนิท ไม่มีไอน้ำเกาะภายในบรรจุภัณฑ์ หรือระบุแหล่งผลิตและวันหมดอายุชัดเจน ลูกเกดควรมีขนาดสม่ำเสมอ เนื้อนิ่ม หากกินไม่หมดควรใช้หนังยางรัดปากถุงให้แน่นหรือใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด เก็บในตู้เย็นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ทั้งนี้เพื่อความสดใหม่และมีรสชาติดีไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน
Tip : เตรียมลูกเกดให้นิ่ม
แช่ลูกเกดในน้ำสะอาดนาน 5 – 10 นาทีบีบพอหมาด ลูกเกดจะพองตัวและนิ่ม พร้อมสำหรับปรุงอาหารหรือเป็นของขบเคี้ยว
Did you know?
ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะให้พลังงานเทียบเท่าข้าว 1 ทัพพีหากใครกำลังควบคุมน้ำหนักก่อนกินควรคำนึงถึงปริมาณและพลังงานที่เหมาะสมร่วมด้วย
คุณประโยชน์จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อกินร่วมกับเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งาคั่ว และถั่วต่างๆ ค่ะ
จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ352
บทความน่าสนใจอื่นๆ
รวมเทคนิคบอกลายาลดความดัน รับมือความดันโลหิตสูงด้วยตัวเอง
วิธีง่ายๆ รับมือความดันโลหิตสูง ตามคำแนะนำของกูรูชีวจิต
ความเครียด และนอนไม่หลับ ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง
ewajit