เบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา อาการแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวังให้ดี

เบาหวานขึ้นตา มีอาการอย่างไร ป้องกันอย่างไร

“หวานขึ้นตา” เป็นคำที่เรามักเอามาพูดเล่นๆ แต่ถ้าเกิดอาการ เบาหวานขึ้นตา ขึ้นมาจริงๆ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วค่ะ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้เลยทีเดียว 

เพราะความน่ากลัวของอาการเบาหวานขึ้นตา คือ เป็นสาเหตุสําคัญของการสูญเสียการมองเห็นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก

ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อธิบายว่า “เบาหวานขึ้นตา หรือชื่อเต็มๆ คือ เบาวหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy, DR) เป็น สาเหตุสําคัญของการสูญเสียการมองเห็นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก และผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และอาจเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ตามระยะเวลา ที่ป่วยเป็นเบาหวาน”

ยิ่งเป็นเบาหวานมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตาได้มากเท่านั้น!

การเกิดเบาหวานขึ้นตา

เบาหวาน เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหลายอย่าง เช่น ผิวกระจกตาหลุดลอก ต้อหิน ต้อกระจก ปลายประสาทเสื่อม เป็นต้น แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญคือภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

โดยเป็นผลมาจากการที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน และไม่สามารถเข้าเซลล์เพื่อแปลงเป็นพลังงานได้ น้ำตาลจึงตกค้างอยู่จำนวนมากเกินไปที่บริเวณหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งกรอบ เปราะแตกง่ายยืดหยุ่นได้น้อยจนตีบตันไปในที่สุด ส่งผลให้เซลล์รอบ ๆ หลอดเลือดไม่ได้รับสารอาหารจึงทำให้เส้นเลือดฝอยเล็กที่คอยลำเลียงเลือดมาเลี้ยงจอประสาทตาเสียหาย เส้นเลือดจอประสาทตาอุดตัน ร่างกายจึงมีกระบวนการรักษาตนเองด้วยการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมา เป็นเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่บริเวณจอประสาทตา ทำให้เกิดภาวะจึงทำให้จำนวนเส้นเลือดฝอยที่สร้างใหม่ทับจอประสาทตา จนทำให้มองไม่เห็น

อีกกรณีหนึ่งคือ เลือด และ หรือ ของเหลวรั่วเข้าสู่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวม รวมถึงเกิดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตาบางส่วนได้

ภาวะจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic macular edema, DME) เป็นภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตา (DR) อีกทอดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่ได้รับความเสียหายรั่วเข้าสู่จุดรับภาพ (macula) และก่อให้เกิดอาการบวมที่บริเวณดังกล่าว

สำหรับการสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากเบาหวานขึ้นจอตาสามารถรักษาได้ หากตรวจพบเร็วและรับการรักษาตั้งแต่
เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดตาบอดได้ร้อยละ 95

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเบาหวานเข้าจอประสาทตา

ปัจจัยที่มีผลต่อการมีเบาหวานขึ้นจอตา มากหรือน้อย มีดังนี้

  • ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นเบาหวานมานาน ยิ่งมีโอกาสพบมีเบาหวานขึ้นจอตาได้บ่อยและรุนแรงมากขึ้น
  • การควบคุมระดับน้ำตาล ยิ่งคุมได้ดี ยิ่งลดโอกาสเกิดและลดความรุนแรงของเบาหวานขึ้นจอตา
  • ปัญหาไตวายแทรกซ้อนจากเบาหวาน เป็นตัวบ่งชี้ว่าน่าจะมีเบาหวานขึ้นจอตาด้วยเช่นกัน การรักษาโรคไตมีส่วนช่วยให้เบาหวานขึ้นจอตาดีขึ้น
  • ความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดของจอตา ซ้ำเติมภาวะเบาหวานขึ้นจอตามากยิ่งขึ้น
  • การมีไขมันในเลือดสูง การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอาจช่วยลดการรั่วของไขมันสะสมที่จอตาได้
  • ผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดเบาหวานขึ้นจอตาได้ หรือทำให้เบาหวานขึ้นจอตาที่มีอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้นได้

ระยะเบาหวานขึ้นตา

ระยะการเกิดเบาหวานขึ้นตา แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือ 

  1. ช่วงแรก ที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดจอตาไม่แข็งแรง ทำให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้มีเลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตาจนเกิดอาการบวม อาจไปกระทบการมองเห็น หรือทำให้จอตาขาดเลือดจนสูญเสียการมองเห็น 
  2. ระยะก้าวหน้า เป็นช่วงที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้อาจมีปัญหาเปราะบาง ฉีดขาดง่ายจนมีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืด ทำให้จอตาลอก หรือทำให้ความดันตาสูง และเป็นสาเหตุของต้อหินได้ 

อาการเบาหวานขึ้นตา

อาการของเบาหวานขึ้นตา ในหลายๆ รายอาจไม่แสดงอาการแม้อยู่ในระยะรุนแรงแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรละเลยการตรวจตา โดยอาการที่แสดงว่าเบาหวานเริ่มขึ้นตา คือ 

เบาหวานขึ้นตา
ภาวะเบาหวานขึ้นตา อาจทำให้มองเห็นภาพเบลอ มัว ไม่ชัดเจน
  1. มองเห็นจุดหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา 
  2. มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  3. ตามัว การมองเห็นแย่ลง 
  4. แยกแยะสีได้ยาก 
  5. เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  6. สูญเสียการมองเห็น 
ภาพการมองเห็นของ อาการ เบาหวานขึ้นตา
อีกหนึ่งภาวะที่เกิดจากการเกิดเบาวหวานขึ้นตา คือ มองเห็นจุดดำๆ ในภาพ และมองภาพไม่ชัดเจน

ป้องกันเบาหวานขึ้นตา

ถึงแม้ว่าเบาหวานขึ้นตาจะน่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันการมองไม่เห็นได้อยู่นะคะ 

  1. ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดัน และไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  2. งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
  3. สังเกตุการมองเห็นของตัวเอง และไปพบจักษูแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติ 
  4. ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี แม้ว่าจะมองเห็นได้ตามปกติก็ตาม 

สูตรชาบำรุงสายตาอายุกว่าสองพันปี

ส่วนผสม

  • เก๊กฮวย 1 หยิบมือ
  • เก๋ากี้ 1 หยิบมือ
  • รากชะเอมเทศ 1 หยิบมือ

วิธีดื่ม

  • ใช้ส่วนผสมทั้ง 3 ใส่ในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 90 องศาชงดื่มระหว่างวัน
  • ควรดื่มติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อช่วยบำรุงสายตา

สรรพคุณของเก๊กฮวยและรากชะเอมเทศสามารถไล่ความร้อนออกจากดวงตา

นอกจากการควบคุมอาหาร ป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูง การตรวจตาเป็นประจำก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานจะละเลยไม่ได้เด็ดขาดเลยนะคะ 

ข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สำรวจอาการเบาหวาน จะรู้ได้อย่างไรเมื่อเป็นโรคยอดฮิต

น่ารู้ เลือดเป็นกรด หรือภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวานอันตรายอย่างไร

เบาหวาน อาหารต้องระวัง และการกินที่ต้องดูแล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.