ตรวจเบาหวาน

สำรวจอาการเบาหวาน จะรู้ได้อย่างไรเมื่อเป็นโรคยอดฮิต

อาการเบาหวาน เช็กร่างกายก่อน รู้ก่อน รักษาก่อน

จริงอยู่ว่าโดยปกติ แทบทุกคนต่างไปตรวจเช็กสุขภาพประจำปีกันทั้งนั้น จะรู้ว่าป่วยหรือไม่ป่วยเป็นโรคอะไรก็ด้วยการตรวจนี้ล่ะ แต่บางครั้งโรคภัยไม่ได้มาเราตามเวลานัดหมอ อาจแสดงสัญญานบางอย่างกับเราก่อน และหากเราสังเกตได้แล้วรีบไปตรวจเช็ก ก็จะยิ่งได้เปรียบในการเตรียมตัวรับมือ วันนี้ ชีวจิต จะแนะนำวิธีการสังเกต อาการเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยอดฮิตที่คนเป็นกันมาก

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเบาหวาน

นอกจากการตรวจสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การตรวจเช็กสภาพร่างกายด้วยตัวเองง่ายๆ ที่บ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรารู้ทันสุขภาพร่างกายของตัวเอง

เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด, อาการเบาหวาน, เบาหวาน, ตรวจเบาหวาน, โรคเบาหวาน
เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด สามารถตรวจที่บ้านได้ง่ายๆ

ในกรณีที่เรามีเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ก็สามารถตรวจ อ่านค่า แล้วเทียบกับผลด้านล่าง หากมีผลดังกล่าว เป็นไปได้ว่า คุณเป็นโรคเบาหวาน (รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลการตรวจสุขภาพต่างๆ อาจมีผลการตรวจในลักษณะเหล่านี้แสดงให้เห็น)

  1. มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  2. มีอาการของโรคเบาหวานร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือด เวลาใดก็ตาม มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  3. มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ใน 2 ชั่วโมง ภายหลังการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่กินเข้าไป
  4. มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 6.5 ขึ้นไป

เบาหวาน Type 2 ประเภทที่พบมากที่สุดในบุคคลทั่วไป

เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มากถึง 95 ของผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการดังนี้

  1. ปัสสาวะมากและบ่อย กระหายน้ำบ่อย และมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  2. สายตาพร่ามัว
  3. เป็นแผลเรื้อรัง หายช้า
  4. มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปาก และกระเพาะปัสสาวะบ่อยครั้ง
  5. ปวดและชาตามมือและเท้า

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน Type 2

  1. อายุ 40 ปีขึ้นไป
  2. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  3. น้ำหนักเกิน ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
  4. มีภาวะความดันโลหิตสูง มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือมีระดับไขมันในเลือดสูง
  5. สตรีที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
  6. ไม่ออกกำลังกาย
  7. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และ/หรือสูบบุหรี่

แล้วเราจะป้องกันโรคเบาหวานได้อย่างไร

โรคเบาหวาน, อาการเบาหวาน, ตรวจเบาหวาน, ป้องกันเบาหวาน, ผู้ป่วยเบาหวาน
ตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
  2. ควบคุมโภชนาการให้มีความสมดุลทั้งการกินอาหารและการออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้ยารักษาโรค
  3. ควรตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ โดยปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจเช็กเมื่อใด และระยะห่างของเวลาในการตรวจที่เหมาะสม
  4. ยาบางชนิดหรือยาสมุนไพรอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในเลือด ต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรเท่านั้น

อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง

คนเป็นเบาหวานควรลดอาหารให้พลังงานลง แคลอรีคือหน่วยนับพลังงานที่ร่างกายใช้ ร่างกายสร้างแคลอรีจากอาหารพลังงาน ดังนั้นจึงควรควบคุมปริมาณอาหารเหล่านี้ ได้แก่

คาร์โบไฮเดรต

เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารกลุ่มนี้จะถูกร่างกายเอามา เผาผลาญเป็นพลังงานก่อนเพื่อน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมจะเผาผลาญได้พลังงาน 4 แคลอรี

ข้าวกล้อง ธัญพืช

ไขมัน

ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตหนึ่งเท่าตัว คือไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลอรี ดังนั้นการลดแคลอรีจึงต้องมุ่งลดอาหารไขมัน

โปรตีน

โดยโปรตีน 1 กรัมให้พลังงานได้ 4 แคลอรี แต่ร่างกายจะหันมาใช้โปรตีนเป็นพลังงานก็ต่อเมื่อไม่มีไขมัน และคาโบไฮเดรตให้ใช้แล้ว ดังนั้นการลดอาหารให้พลังงานจึงควรมุ่งไปที่ไขมันและคาร์โบไฮเดรต ไม่จำเป็นต้องลดโปรตีน
เพราะฉะนั้นเราจึงควรทราบปริมาณแคลอรีในอาหารที่ตนเองชอบรับประทาน โดยวิธีอ่านฉลากหรือศึกษาจากผลวิจัย
เช่น สถาบันวิจัยมหิดลรายงานไว้ว่าเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วให้พลังงาน 635 แคลอรี ข้าวราดกะเพราไก่ให้ 495 แคลอรี ชีส
เบอร์เกอร์ให้ 280 แคลอรี ปาท่องโก๋ 140 แคลอรี

อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรทานและไม่ควรทาน

  • เลือกรับประทานผักสด สลัด หรือซุปใสก่อนการรับประทานอาหารอื่น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอาหารที่มีไขมันหรือแคลอรีสูงได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะมักมีแคลอรีอยู่เสมอ ควรดื่มน้ำเปล่า หรือชาจีนแทนจะดีกว่า
  • งดน้ำหวานหรือน้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงอาหารมันหรือหวาน
  • เสี่ยงอาหารไขมันที่มองเห็นด้วยตา (visible fat) ทุกชนิด
  • เปลี่ยนวิธีปรุงอาหารจากทอด ผัด แกงกะทิ มาเป็นปิ้ง ต้ม นึ่ง ย่างแทน
  • และผลไม้ให้มาก ด้านหนึ่งเพื่อให้อิ่มท้องเสียก่อนจะได้ไม่รับประทานไขมันมาก โดย
  • รับประทานผักและผลไม้เต็มที่ แต่ไปลดไขมันและคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่น เช่น ข้าว แป้ง และน้ำตาลในอาหารจานหลัก
  • รับประทานอาหารที่ปรุงจากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือธัญพืชไม่ขัดสึ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ตแบรนด์ ขนมปังโฮลวีต เพราะมีกากชนิดละลายได้เป็นส่วนประกอบ
  • ลดไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ โดยครวได้รับไม่เกิน 10% ของแคลอรีที่ร่างกายได้รับต่อวัน

เทคนิคจำกัดอาหารเพื่อคนเป็นเบาหวาน

  • เลือกนั่งกับผู้ที่รู้จักและสนทนากับผู้ที่นั่งข้างเคียงขณะรับประทาน เพื่อจะได้รับประทานช้าลง
  • ก่อนรับประทานอาหารควรดื่มน้ำเปล่า เพื่อให้อิ่มเร็วขึ้น
  • ไม่รับประทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป เมื่อเหลืออีก 4 – 5 คำจะอิ่มควรหยุดได้
  • ไม่ปล่อยให้ตนเองหิวจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนไปงานเลี้ยง ควรรับประทานอาหารว่างก่อนไปงานเผื่อมีการเสิร์ฟอาหารช้า
  • ไม่รับประทานเพราะความเกรงใจผู้อื่น แต่รับประทานเพื่อสุขภาพของตนเอง

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เบาหวาน อยากกินผลไม้ต้องอ่าน!

น่ารู้ เลือดเป็นกรด หรือภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวานอันตรายอย่างไร

เบาหวานลงไต คืออะไร มาทำความรู้จักกัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.