รับมือ วัยทอง
นอกจากมนุษย์ป้า วัยทอง ที่คนในโซเชี่ยลเรียกขานกัน (ว่าด้วยสรรพคุณที่เป็นหญิงสูงอายุ แต่ไม่มีวินัย โวยวาย ไม่มีมารยาท ไม่เกรงใจใคร) ก็ยังมีมนุษย์ลุงอีกด้วย ล่าสุดผู้เขียนไปซื้อของในร้านค้า จู่ๆ มนุษย์ลุงคนหนึ่ง จากการคะเนอายุคาดว่าเกินวัยเกษียณ มาดันตัวเรา แล้วแซงคิวจ่ายเงินเฉยเลย มิหนำซ้ำยังหันมาดุเรา ว่า “อย่าถือตะกร้าขวางทาง” อื้อหือ โชคดีที่เราเป็นชาวชีวจิต อารมณ์เย็น จึงไม่อยากทะเลาะใคร
อันที่จริงก็มีความเป็นไปได้ ที่มนุษย์ป้า และมนุษย์ลุง จะแสดงอารมณ์เพราะอยู่ในวัยทอง ทั้งยังมีอาการ ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ส่งผลให้อารมณ์ร้อน หงุดหงิด เครียดง่าย โมโหง่าย แสดงออกอย่างไม่มีมารยาท และไม่เหมาะสม
หากมนุษย์ป้ามนุษย์ลุงเกิดจากวัยทองจริง เราควรจะรับมืออย่างไร
สำหรับวัยทองในผู้หญิงก็คงเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วนะคะ มาอัพเดตการรับมือกับวัยทองผู้ชายกันดีกว่านะคะ
ข้อเท็จจริงของวัยทองในผู้ชาย
- ผู้ชายทุกคน เมื่อสูงอายุ ค่าฮอร์โมนเพศชาย เทสทอสสเตอโรน (Total Testosterone) จะค่อย ๆ ลดลง แต่ไม่กลายเป็นศูนย์เหมือนฮอร์โมนเพศผู้หญิงในหญิงวัยทอง
- อาการวัยทองในเพศหญิงค่อนข้างเด่นชัด พบถึงร้อยละ 75 โดยครึ่งหนึ่งของคนที่มีอาการจะเป็นมาก จนต้องพบแพทย์ ส่วนอาการวัยทองในเพศชายไม่เด่นชัดเท่า
- อาการวัยทองในเพศหญิง วินิจฉัยได้ง่าย อาการที่เด่นชัดคือๆ ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับในช่วงใกล้หมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนไปแล้ว สามารถยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการเจาะเลือดไปตรวจ แต่อาการวัยทองในผู้ชายนั้น วินิจฉัยได้ยาก ไม่สามารถบอกว่าค่าฮอร์โมนเพศชายลดลงเท่าไหร่จึงจะเข้าเกณฑ์วินิจฉัยชายวัยทอง
- การรักษาวัยทองในเพศหญิงด้วยฮอร์โมนเพศหญิงมักได้ผลดี แต่ในเพศชายได้ผลไม่แน่นอน
วัยทองในเพศชายต่างจากในเพศหญิงอย่างไร
วัยทองในเพศหญิงเกิดจากการหยุดทำงานของรังไข่ ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงหมดไปทันที มีอายุเฉลี่ย 48-51 ปี โดยแบ่งเป็น
- อาการวัยทองระยะสั้น มีอาการระบบประสาทแปรปรวน หงุดหงิด เครียด ซึมเศร้า ร้อนวูบวาบ
- อาการวัยทองระยะกลาง มีการเสื่อมของระบบผิวหนัง และเยื่อบุ ได้แก่ ผิวแห้ง คันผิว ช่องคลอดแห้ง แสบช่องคลอด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด
- อาการวัยทองระยะยาว มีอาการของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และมีปัญหาจากกระดูกพรุน
แม้อาการวัยทองในเพศหญิงจะตอบสนองการรักษาด้วยฮอร์โมนเพศหญิงเป็นอย่างดี แต่อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น มะเร็งเต้านม แพทย์จึงใช้ฮอร์โมนเพศหญิงรักษาเฉพาะอาการวัยทองระยะสั้น และระยะกลาง ไม่รักษาระยะยาว เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับวัยทองในเพศชายมีการศึกษาน้อยกว่า มีความเข้าใจน้อยกว่า แม้จะให้คำจำกัดความของวัยทองเพศชายว่า เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศชาย แต่อาการก็มีต่าง ๆ กัน ช่วงอายุที่เกิดวัยทองก็ไม่แน่นอน ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน จากงานวิจัยพบว่า ผู้ชายอายุ 20-80 ปี เฉลี่ยฮอร์โมนลดลง 100 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร หรือลดลงร้อยละ 0.4 ต่อปี ในคนหนุ่ม ระดับฮอร์โมนเพศชายจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งวัน ค่าฮอร์โมนสูงสุดอยู่ที่ 8 โมงเช้า และต่ำสุดตอนสองทุ่ม แต่ในชายสูงวัยระดับฮอร์โมนทั้งวันไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ใช้ค่าฮอร์โมนเทสทอสสเตอโรน น้อยกว่า 325 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำ พบฮอร์โมนเพศชายต่ำในผู้ชาย อายุ 60 ปี 70 ปี 80 ปี คิดเป็นร้อยละ 20 30 50 ตามลำดับ แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ค่าต่ำเท่าไหร่จึงจะมีอาการวัยทอง เพราะชายบางคนมีฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ไม่มีอาการใดๆ
อาการของวัยทองในเพศชาย ไม่ได้แบ่งเป็นระยะเหมือนวัยทองหญิง แต่มีข้อบ่งชี้ที่สำคัญดังต่อไปนี้
- อาการเซ็กส์เสื่อม เป็นอาการที่พบได้บ่อย สัมพันธ์กับค่าฮอร์โมนเทสทอสสเตอโรน น้อยกว่า 325 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร มีสามประการคือ อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวตอนเช้า (Poor Morning Erection) ความต้องการทางเพศน้อย (Low Sexual Desire) และอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว(Erectile dysfunction)
- กระดูกพรุน กระดูกหัก
- มีไขมันสะสมที่หน้าท้อง สะโพก ต้นขา มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
- โลหิตจาง
- มีปัญหาทางอารมณ์ ที่พบมากคือ ร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
- มีปัญหาความจำ และขาดสมาธิ
- เกิดโรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
การรับมือกับอาการ วัยทอง ในเพศชาย
- ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อาการทางอารมณ์ในชายสูงวัยส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากวัยทอง แต่มักเกิดจากความเครียด ต้องหาวิธีลดความเครียด เช่น ออกกำลังกาย บำเพ็ญประโยชน์ หางานอดิเรกทำ พักผ่อนหย่อนใจ นวดตัว ทำสปา ร้องเพลง พูดคุยปรับทุกข์ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
- พบแพทย์ หากสงสัยว่าเป็นอาการของชายวัยทอง โดยเฉพาะมีอาการเซ็กส์เสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อเจาะหาค่าฮอร์โมนเทสตอสเตอโรน ในเวลา 8-10 โมงเช้า อย่างน้อยสองครั้ง หากค่าต่ำกว่า 200 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร และตรวจไม่พบโรคของลูกอัณฑะ หรือโรคต่อมใต้สมอง การรักษาด้วยฮอร์โมนเพศชาย อาจช่วยทำให้ อาการเซ็กส์เสื่อม อารมณ์หงุดหงิด ภาวะซึมเศร้า ดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นทุกคน ที่สำคัญไม่ควรเพิ่มฮอร์โมนให้มีค่าสูงกว่า 4-500 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร เพราะอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคของต่อมลูกหมาก โรคหลอดเลือดและหัวใจ
- รักษาวัยทองตามอาการ แพทย์มักใช้ยารักษาตามอาการ หากใช้ฮอร์โมนเพศชายควรรักษาระยะสั้น เพราะหากรักษาระยะยาว อาจมีผลเสีย เสี่ยงต่อการเกิด โรคต่อมลูกหมาก โรคหัวใจและหลอดเลือดฯลฯ
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต โดย คุณหมอชัญวลี เป็นสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร