แก้โรคโลหิตจาง
คำถาม : ต้องการทราบว่า อาหารอะไรบ้างที่กินแล้วทำให้เป็นโรคโลหิตจาง แล้วอาหารอะไรบ้างที่กินแล้วช่วย แก้โรคโลหิตจาง ตอนนี้กำลังตั้งครรภ์อยู่ค่ะ
บ.ก.ขอหาคำตอบให้
ได้ยินน้องสาวๆมาถามบ่อยเรื่อง จะกินอะไรดีเพื่อหยุดภาวะหรือโรคโลหิตจาง บ.ก.ก็เลยไปค้นข้อมูลที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วในนิตยสารชีวจิต ปักษ์หนึ่งเราสัมภาษณ์หมอแผนปัจจุบัน ซึ่งคือ แพทย์หญิงอุษณี อัศววิโรจน์กุล สมัยท่านยังเป็น กุมารเวชศาสตร์โรคเลือด อธิบายเรื่องสาเหตุของโรคนี้ไว้ในนิตยสารชีวจิต ปี 2547 ว่า
- ขาดอาหารธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่พบในคนที่รับประทานอาหารไม่ได้ หรือได้ไม่ครบทุกประเภท พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ ผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แท้งบุตร หรือหลังคลอด
- โลหิตจางจากพันธุกรรม ที่พบบ่อยในประเทศไทยคือ โรคทาลัสซีเมีย หรือโลหิตจางจากมะเร็งเม็ดเลือด โรคตับ โรคไต
- โลหิตจางจากกระดูกฝ่อ เนื่องจากกระดูกเป็นตัวสร้างเม็ดเลือด ฉะนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้การสร้างเม็ดเลือดลดลง เกิดภาวะโลหิตจาง สาเหตุความผิดปกติของไขกระดูก อาจมาจากการกินยาที่มีฤทธิ์ทำลายกระดูก เช่น ยาเฟนิลบิวทาโซน คลอแรมฟินิคอล รวมทั้งสีทาบ้าน รังสีต่างๆ
- โลหิตจางจากการที่ร่างกายไม่ดูดซึมวิตามินบี 12
ต่อมาก็ต้องกลับไปดูนิตยสารชีวจิตอีก 2 ปักษ์ที่ว่าด้วยภาวะหรือโรคโลหิตจาง เขียนโดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ในนิตยสารชีวจิตฉบับ 304 – 305 ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งกล่าวถึงอาการ ได้แก่
- เหนื่อยเพลีย
- หายไม่ออก หรือหอบระหว่างทำงานและออกกำลังกาย
- ปวดหัว เวียนหัว อาจเป็นบ่อยทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
- นอนไม่หลับ
- ผิวซีด ค่อนข้างเหลือง
- เบื่ออาหาร รู้สึกไม่ปกติของช่องท้องและลำไส้
นอกจากนี้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต อธิบายว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป มีอาการดังกล่าว 4-5 ข้อขึ้นไป แปลว่ากำลังเป็นโรคโลหิตจาง โดยท่านแนะนำให้กินอาหารชีวจิต นั่นคือ กินข้าวกล้อง 50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารในมื้อนั้นๆ ผัก 25 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนจากพืช ได้แก่ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ หรือปลา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปริมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ และกินถั่ว ผลไม้ ซุปอีก 10 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากต้องการลดข้าวให้เหลือ 30 % ก็ได้ โดยเพิ่มผักเป็น 35 % โปรตีน 25 %
ขณะเดียวกันให้เน้นอาหารที่มี
- ธาตุเหล็ก
- โฟลิกแอซิด
- วิตามินบี 12
เช่น หอย ปลา ถั่วต่างๆ แอสปารากัส ข้าวโอ๊ต แครอท แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ผลไม้แห้ง ลูกพีช อินทผลัม กล้วยตาก จมูกข้าว (ข้าวสาลีและข้าวเจ้า)
ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์สาทิสยังแนะนำให้กินวิตามินและแร่ธาตุสกัดเม็ดด้วยคือ เหล็ก โฟลิกแอซิด วิตามินอี วิตามินบี 6 และ 12 รวมทั้งแมกนีเซียม
กินนานเท่าไร อาจารย์สาทิสกล่าวว่า 4-6 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
แถมด้วยสมุนไพรกลางบ้านตำรับอเมริกัน ซึ่งศาสตราจารย์ ดี.ซี จาร์วิส แนะนำคือ
- น้ำแอปเปิ้ล เน้นว่า ควรคั้นแยกกาก ดื่มทันที
- น้ำส้มสายชูกลั่น หรือแอปเปิ้ลไซเดอร์ โดยใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว ดื่มหลังอาหาร
- น้ำหัวบีตคั้นแยกกาก ดื่มทันที ½ แก้ว
- ชาคาโมมายด์
แม้จะเป็นข้อมูลเก่า แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีความอมตะ เพราะร่างกายมนุษย์และพยาธิสภาพการเกิดโรคยังไม่แตกต่างกันนัก อย่างไรก็ดี หากเป็นโรคหรือภาวะความผิดปกติใดที่อยู่ในกระแส บ.ก.ก็สามารถหาคำตอบมาให้ได้ค่ะ
ดร็อปคำถามไว้ในอินบ็อกซ์ของเพจนิตยสารชีวจิตนะคะ