ออกกำลังกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด, เบาหวาน, โรคเบาหวาน, ผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวาน คุมอยู่! ด้วยเทคนิคออกกำลังกายคุมน้ำตาลในเลือด

เบาหวาน จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป ถ้ารู้จักออกกำลังกาย

เบาหวาน เห็นชื่อหวาน ๆ แต่ร้ายนะจ๊ะ เพราะร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะไม่สามารถผลิตหรือนําฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งมีหน้าที่นําน้ำตาลไปให้ร่างกายใช้เป็นพลังงานได้เต็มที่ จึงทําให้เกิดโรคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทําให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคเบาหวานขึ้นจอตาและไตวาย เราสามารถเช็กอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคเบาหวาน ได้ดังนี้

  1. เหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
  2. ผิวหนังแห้งและคัน
  3. มีความอยากอาหารมากขึ้น
  4. แผลหายช้า
  5. กระหายน้ำบ่อย
  6. ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนเป็นไข้
  7. ปัสสาวะบ่อย
  8. ปวดศีรษะ
  9. ตาพร่ามัว

ทั้งนี้ คุณกาญจนา พันธรักษ์ หรือครูกาญจน์ อดีตนักกรีฑาทีมชาติชุดซีเกมส์ถึงสองสมัย มีประสบการณ์อยู่ในวงการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายตลอดมา ทั้งฟิตเนสและโยคะ แนะนำว่า เราสามารถเยียวยาโรคเบาหวานด้วยการกินยา ควบคุมอาหาร และออกกําลังกาย เนื่องจากการออกกําลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อดึงน้ำตาลในกระแสเลือดมาสร้างเป็นไกลโคเจน (Glycogen)

โดยพบว่า หลังการออกกําลังกาย 24 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง และอินซูลินก็ทํางานดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ การออกกําลังกายยังช่วยลดปริมาณไขมันสะสมในตับจึงลดภาวะดื้ออินซูลินได้ แต่จะออกกําลังกายอย่างไร ประเภทไหนดี ครูกาญจน์มีคําแนะนํามาฝาก

ออกกำลังกาย ลดน้ำตาลในเลือด

การเตรียมตัว

  1. ควรคํานวณหาชีพจรในการออกกําลังกายที่เหมาะสม สําหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ไม่เคยออกกําลังกายมาก่อนเลย โดยใช้เกณฑ์การเต้นของชีพจรที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นขั้นต่ำ ดังสูตรนี้

ชีพจรในการออกกําลังกายขั้นต่ำ = 60 เปอร์เซ็นต์ x (220- อายุ) ครั้ง/นาที

ตัวอย่างเช่น อายุ 60 ปี คํานวณชีพจรขั้นต่ำได้ดังนี้ = 60/100 x (220-60) ครั้ง/นาที = 96 ครั้ง/นาที

  1. หาข้อจํากัดหรือความไม่พร้อมของร่างกาย เช่น ข้อเสื่อม น้ำหนักเกินมาตรฐาน แล้วเลือกประเภทกีฬาให้เหมาะสมกับตัวเอง
โยคะ, ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด, ออกกำลังกาย, เบาหวาน, โรคเบาหวาน
ออกกำลังกายด้วยการฝึกโยคะ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ประเภทการออกกําลังกาย เพื่อคนเป็น เบาหวาน ที่แนะนํา

สำหรับการออกกําลังกายที่ครูกาญจน์แนะนำมี 2 ประเภท คือ

1.คาร์ดิโอหรือแอโรบิก

เป็นการออกกําลังกายที่ต้องใช้ออกซิเจน จึงมีความสัมพันธ์กับการทํางานของหัวใจ เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ แนะนําให้ออกกําลังกายประเภทนี้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หากไม่เคยเล่นมาก่อน ให้เริ่มจากวันละ 15 นาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาในวันต่อๆ มา

2.การออกกําลังกายแบบใช้แรงต้าน (Resistant Exercise)

เช่น ยกน้ำหนัก นอกจากนี้ยังรวมถึงประเภทที่ต้องฝึกหายใจ และใช้สมาธิ เช่น โยคะ พิลาทีส และไทเก๊ก การยกน้ำหนักช่วยให้กล้ามเนื้อดึงน้ำตาลและไขมันมาใช้เป็นพลังงานขณะยกลูกน้ำหนัก

การฝึกโยคะและพิลาทีสก็ต้องใช้พลังงานในการฝึกท่าต่างๆ และควรเสริมท่าโยคะที่ช่วยบริหารไตและตับอ่อน รวมถึงท่าที่กระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน ได้แก่ ท่าตั๊กแตน ท่าสามเหลี่ยม ท่าบิดตัว และท่ายืนด้วยไหล่

แนะนําให้ฝึกออกกําลังกายประเภทไทเก๊กครั้งละ 2 ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ส่วนการออกกําลังกายจะทําให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลา ความหนัก ระดับน้ำตาลก่อนออกกําลังกาย คําแนะนําเพิ่มเติมคือ หากออกกําลังกายแบบคาร์ดิโอร่วมกับการใช้แรงต้านจะทําให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ดีกว่าการออกกําลังประเภทใดประเภทเดียว

ข้อควรระวัง

ในช่วงแรกไม่ควรออกกําลังกายด้วยความแรง เพราะจะทําให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน (Catecholamine) หลั่งออกมา ซึ่งจะทําให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจึงควรเริ่มออกกําลังกายด้วยความแรงจากน้อยไปหามาก

มาออกกําลังกายกันนะคะ เพื่อให้คุณสามารถดูแลตัวเองและคนที่คุณรักได้นาน ๆ

อาหารที่คนเป็น เบาหวาน ควรเลี่ยง

คนเป็นเบาหวานควรลดอาหารให้พลังงานลง แคลอรีคือหน่วยนับพลังงานที่ร่างกายใช้ ร่างกายสร้างแคลอรีจากอาหารพลังงาน ดังนั้นจึงควรควบคุมปริมาณอาหารเหล่านี้ ได้แก่

คาร์โบไฮเดรต

เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารกลุ่มนี้จะถูกร่างกายเอามา เผาผลาญเป็นพลังงานก่อนเพื่อน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมจะเผาผลาญได้พลังงาน 4 แคลอรี

ไขมัน

ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตหนึ่งเท่าตัว คือไขมัน 1 กรัม ให้พลังงสย 9 แคลอรี ดังนั้นการลดแคลอรีจึงต้องมุ่งลดอาหารไขมัน

โปรตีน

โดยโปรตีน 1 กรัมให้พลังงานได้ 4 แคลอรี แต่ร่างกายจะหันมาใช้โปรตีนเป็นพลังงานก็ต่อเมื่อไม่มีไขมัน และคาโบไฮเดรตให้ใช้แล้ว ดังนั้นการลดอาหารให้พลังงานจึงควรมุ่งไปที่ไขมันและคาร์โบไฮเดรต ไม่จำเป็นต้องลดโปรตีน
เพราะฉะนั้นเราจึงควรทราบปริมาณแคลอรีในอาหารที่ตนเองชอบรับประทาน โดยวิธีอ่านฉลากหรือศึกษาจากผลวิจัย
เช่น สถาบันวิจัยมหิดลรายงานไว้ว่าเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วให้พลังงาน 635 แคลอรี ข้าวราดกะเพราไก่ให้ 495 แคลอรี ชีส
เบอร์เกอร์ให้ 280 แคลอรี ปาท่องโก๋ 140 แคลอรี


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

โปรแกรมช่วย ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.