ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่า ปี พ.ศ.2564 สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2574 สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากคนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น มีลูกทั้งน้อยลงและช้าลง ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องมีประชากรผู้สูงวัย 20 คนต่อประชากรทั้งหมด 100 คน และหากมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด จะส่งผลให้ประเทศนั้นๆ เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเป็นลำดับถัดไป แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์สามารถแปรผันกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่และอัตราการตายของประชากรทั่วไป
จากสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุออกมาว่า ปัจจุบันพบว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยโตไม่ทันความต้องการของตลาด และไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการจัดการบริการ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยการพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักกิจกรรมบำบัด
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานบริการบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน การดำเนินงานยังคงพบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอ ฯลฯ หรือในกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิต ณ สถานประกอบการ ควรต้องดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุที่จะให้คำตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว
ต่อไปเราลองไปทำความรู้จักกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุกันดีกว่าค่ะ ว่ามีรูปแบบไหนบ้าง แล้วแต่ละรูปแบบมีทิศทางและแนวโน้มการดำเนินงานอย่างไร เผื่อว่าใครสนใจอยากเข้ามาในธุรกิจนี้เนื่องจากมีความน่าสนใจ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว ผู้ที่สนใจจะเริ่มลงทุนทำธุรกิจจึงควรศึกษามาตรฐานของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้ดี เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจที่ตนเองมีความสนใจ และสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนค่ะ
ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งได้ออกเป็น 6 รูปแบบ ดังนี้
1.สถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน (Day Care)
เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่รับฝากผู้สูงอายุไว้ดูแลในช่วงกลางวันที่ลูกหลานออกไปทำงานแล้วไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพัง อาจเป็นเพราะผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม ที่หากไม่มีคนอยู่ดูแลอาจเดินหลงออกไปนอกบ้านแล้วกลับบ้านไม่ถูกหรือเปิดแก๊สทิ้งไว้ หรือบุตรหลานกลัวว่าผู้สูงอายุอาจจะเหงาจึงต้องการให้อยู่ที่ศูนย์ดูแลจะได้มีเพื่อนในการพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลเรื่องอาหารและการเตือนเรื่องการรับประทานยา
นอกจากนี้สถานดูแลผู้สูงอายุแบบ Day Care นั้น ดำเนินการไม่ยากเนื่องจากไม่ต้องมีที่พักค้างคืน และผู้ใช้บริการเป็นผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ในการเป็นผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นเปิดศูนย์เฉพาะกลางวัน ทำได้ไม่ยากใช้งบลงทุนไม่มาก สามารถรับผู้สูงอายุได้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ การขยายสาขาก็ทำได้รวดเร็ว และเมื่อทำธุรกิจลักษณะนี้มาระยะเวลาหนึ่งผู้สูงอายุอายุมากขึ้น ต้องการการบริการหรือการดูแลที่มากขึ้น คนเหล่านี้ก็จะพัฒนาต่อกลายมาเป็นลูกค้าสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในระดับที่ต้องการบริการมากขึ้นในที่สุด
2.ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
สำหรับธุรกิจประเภทนี้เป็นการจัดให้มีที่พำนักระยะยาวโดยจะเน้นประเภทอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบบริการบ้านพักหรือห้องพักระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในโครงการเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว นอกจากนี้ รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุยังมีข้อแตกต่างกันได้อีกตามระดับความต้องการการช่วยเหลือทางด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุเอง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับพำนักระยะยาวสามารถแบ่งเจาะกลุ่มตลาดเป็นแบบที่เน้นผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้แต่ไม่มีครอบครัวหรืออยู่คนเดียวและอยากจะอยู่รวมกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ ที่มีวัยใกล้เคียงกัน (active adult / independent living) หรือเป็นแบบที่เน้นผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ (assisted living)
มีการคาดว่าในระยะสั้นว่า ธุรกิจการจัดหาที่พำนักระยะยาวจะเติบโตด้วยตลาดผู้สูงอายุต่างชาติที่เกษียณการทำงานมากกว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสูงอายุนิยมมาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีการเดินทางมาเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% นอกจากนี้ ข้อมูลจาก International Living Magazine1 รายงานว่า ไทยถูกจัดอยู่ใน 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยยามเกษียณ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่แพง รวมถึงการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
3.สถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home)
เป็นสถานที่ที่ดูแลผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่องในหลายระดับตั้งแต่การดูแลกลุ่มพึ่งพิง พอจะดูแลตัวเองได้บ้างในบางเรื่อง (Assisted Living) ไปจนถึง ระดับการดูแล 24 ชั่วโมงแบบ Nursing Home Care โดยคนๆ หนึ่งอาจจะเข้ามาอยู่ในชุมชนในระดับแค่ Daycare แต่ต่อมามีสภาวะร่างกายที่เสื่อมลง จนต้องเข้าไปอยู่ใน Nursing Home ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังและจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการที่ Nursing Home แต่ละแห่งมีระดับราคาค่าบริการ แตกต่างกัน การตัดสินใจเลือก Nursing Home นอกจากราคาแล้วยังมีปัจจัยอีกหลายด้านประกอบการพิจารณา และปัจจัยเหล่านี้ มีผลโดยตรงต่อต้นทุนของ Nursing Home ทำให้ระดับราคาค่าบริการแตกต่างกันด้วย ซึ่งปัจจัยที่ผลต่อราคาประกอบด้วย ทำเลของ Nursing Home รูปแบบการชำระเงิน และเงื่อนไขการใช้บริการ ความหลากหลายของบริการ ความสามารถในการเข้าถึงโรงพยาบาล และคุณภาพของบุคลากร
4.โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ
สำหรับธุรกิจประเภทนี้ที่เริ่มเห็นในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายรูปแบบและระดับราคา ได้แก่ โครงการที่มีโมเดลธุรกิจเป็นการขายสิทธิในการเข้าอยู่อาศัยตลอดชีวิต กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และไม่สามารถขายสิทธิต่อให้ผู้อื่น โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม รวมถึงการมีบริการทางการแพทย์ให้บริการเป็นประจำทุกวัน
ตามมาด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายโดยเน้นให้ออกแบบให้บ้านมีลักษณะเฉพาะเพื่อผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น บ้านแต่ละหลังจะมีสัญญาณเตือนไปยังสถานีพยาบาล/ ส่วนดูแลกลาง เป็นต้น รวมถึงการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและศูนย์บริการต่างๆ ครบถ้วนอยู่ในโครงการ นอกจากนี้ ลักษณะเด่นของโครงการทั้งสองรูปแบบคือการมีส่วนดูแลกลางที่จะบริหารจัดการเรื่องบริการทางการแพทย์ และการจัดให้มีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกจุดขายสำคัญที่จะช่วยลบภาพลักษณ์การเป็นสถานสงเคราะห์ของบ้านพักคนชรา ให้เป็นการลงทุนเพื่อซื้อบริการที่จำเป็นและรูปแบบชีวิตที่ต้องการในวัยเกษียณอายุค่ะ
อย่างไรก็ตามด้วยสัดส่วนคนชราที่มากขึ้น แลสภาพทางด้านสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความต้องการของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ขยายตัว แต่ทั้งนี้ก็ยังมีจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมเพื่อเร่งยกระดับคุณภาพบริการ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ รวมถึงการแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันธุรกิจบริการผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวมาก
ทั้งยังก่อให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ให้บริการใหม่ ๆ หลายรูปแบบ เช่น ธุรกิจส่งคนเข้าไปดูแลและบริการผู้สูงอายุที่บ้านพัก บริการรับพาไปเที่ยว บริการพาไปพบแพทย์ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนคนในครอบครัวที่มีภาระงานประจำ แต่เรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักเพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตค่ะ
ข้อมูลจาก: คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ