รู้จัก “โรคหัวใจขาดเลือด” ที่เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน

รู้จัก “โรคหัวใจขาดเลือด” ที่เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน

โรคหัวใจขาดเลือด หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นอาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจในขณะนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีเแพทย์เคยออกมาเตือนว่าอาจทำให้ตายภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

เมื่อเกิดอาการจุกแน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม จุกใต้ลิ้นปี่ ให้รีบให้รีบไปพบแพทย์ทันที แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง ความเครียด บุหรี่และแอลกอฮอล์ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี ลดเสี่ยงโรคหัวใจ โดยในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้กันค่ะ เราจะได้เอาไว้เช็คคนใกล้ตัว หรือผู้สูงอายุที่เรารัก

สาเหตุการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื่อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

ในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน เช่น ขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำงาน เล่นกีฬา เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและก่อตัวเป็นตะกรัน โดยหลอดเลือดเมื่อเกิดการร่อนหลุดของตะกรัน ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

หลักการง่ายๆ ที่สามารถปฏิบัติตนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารฟาสต์ฟูด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน เพราะอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ หลีกเลี่ยงความอ้วน ซึ่งหากมีน้ำหนักตัวมาก หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ซึ่งหากเปรียบเทียบการทำกิจกรรมประเภทเดียวกัน หัวใจของคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำงานหนักกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ ดังนั้น ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ

อาการและสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ จุกแน่นหน้าอก มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยเร็วซึ่งจะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ จะให้ผลการรักษาที่ดีมาก นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อาหารไขมันสูง ความเครียด ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคหัวใจที่อาจเป็นภัยเงียบทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ควรหลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน เช่น ปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวาย จึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเครียด โดยหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึง

  1. หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวผ่านกรรมวิธี – ทำให้มีการสะสมไขมันในหลอดเลือด ก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมา
  2. ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมาก ๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาและเพิ่มความถี่ในการออกกำลังกาย
  2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว
  3. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงานควรทำสมาธิหรือฟังเพลงเบา ๆ
  4. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เช่น งดขนมหวาน , ผลไม้รสหวานจัด เพราะหัวใจของคนอ้วนต้องทำงานมากกว่าปกติ
  5. ตรวจเช็คสุภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์

เรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้เอาไว้ แล้วอย่าลืมไปสังเกตคนใกล้ตัวของคุณนะคะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุยิ่งงต้องใส่ใจให้มาก เพราะโรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บอกเลยค่ะว่าอันตราย!

ที่มา: โรงพยาบาลราชวิถี

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ตามไปดูเคล็ดลับเสริมหัวใจแข็งแรง แม้ว่าจะสูงวัย!

โรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้ผู้สูงวัยมีหัวใจที่ทำงานผิดปกติ

ขั้นตอนการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ช่วยยืดอายุผู้สูงวัยที่เรารักได้

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.