มังคุด ผลไม้หน้าร้อน กินเป็นยาได้
ภายใต้เปลือกหนาสีม่วงอมน้ำตาลของผลไม้นาม มังคุด มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งราชวงศ์อังกฤษ เคยรับสั่งว่า จะพระราชทานตำแหน่งอัศวินหรือเงิน 100 ปอนด์ แก่คนที่สามารถนำผลมังคุดสดมาถวายพระนางได้
จริงเท็จอย่างไรไม่มีผู้ใดทราบ แต่ที่แน่ ๆ มังคุด คือผลไม้ที่คนไทยอวยยศความอร่อยให้เป็น “ราชินีแห่งผลไม้ทั้งปวง”
ไม่นานมานี้มีข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่าปีนี้ผลผลิตมังคุดจากภาคตะวันออกมีมากกว่าปีที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ราคามังคุดตกต่ำได้ ซึ่งผลผลิตจะออกมามากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
ฟังแล้วก็ปลุกพลังไทยช่วยไทยในใจขึ้นมา อยากชวนคุณไปอุดหนุนมังคุด ช่วยเหลือเกษตรกรกันสักหน่อย และเพื่อให้การกินมังคุดลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงขอนำแง่มุมต่าง ๆ ของมังคุดมาฝากกัน
เปลือก มังคุดเป็นยา
เปลือกมังคุดมีรสฝาดจากสารแทนนิน รสฝาดนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ สรรพคุณยาตามศาสตร์แพทย์แผนไทยคือ ฤทธิ์สมานบาดแผลและรักษาอาการท้องผูก เปลือกมังคุดจึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานที่นำไปใช้รักษาอาการท้องร่วง ท้องเสี่ยเรื้อรัง หรือโรคบิด
วิธีการนำเปลือกมังคุดไปใช้
นำเปลือกมังคุดแห้งครึ่งผล มาย่างไฟให้เกรียมแล้วฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงแล้วละลายน้ำชาวข้าวหรือน้ำต้มสุก ดื่มทุก 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้แพทย์พื้นบ้านยังใช้เปลือกมังคุดแห้งฝนกับน้ำปูนใสเพื่อใช้ทารักษาแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย
แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรทายาจากผิวมังคุดบริเวณใกล้ดวงตา หรือทาบนเนื้อเยื่ออ่อน ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ และควรล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนนำไปตากทำยา เพื่อขจัดสารเคมีตกค้าง
แพทย์แผนจีนยังมีตำรับยาที่ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยนำเปลือกมังคุดแห้งบดผงมาผสมกับน้ำมันถั่วลิสงแล้วทาบริเวณที่เป็นแผลอีกด้วย
ปัจจุบันมีการนำเปลือกมังคุดมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาสิว ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก ยาสมานแผลในช่องปาก และรักษาโรคปริทันต์ เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว
ประโยชน์ของ มังคุด บำรุงร่างกาย
มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า เนื้อในของมังคุดมีสารกลุ่มคาเทชินและฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แม้ปริมาณจะไม่มากเท่าในส่วนของเปลือก แต่ส่วนเนื้อย่อมมีรสชาติดีกว่า
ขณะที่มีข้อมูลจากหนังสือ สารานุกรมสมุนไพรไทย – จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย กล่าวถึงสรรพคุณของเนื้อมังคุด (ในตำราเขียนว่า เนื้อหุ้มเมล็ด) ว่ามีรสหวาน เปรี้ยว เป็นยาเย็น ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และที่น่าสนใจคือ ใช้แก้ร้อนในจากการกินทุเรียนมากเกินไปอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การบริโภคมังคุดต้องระมัดระวังในกลุ่มของผู้ที่กำลังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สรรพคุณของมังคุด
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ลดความแห้งกร้าน
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ และกระเพาะอาหาร
- ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- เปลือกมังคุด มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง แก้อาการคัน และรักษาผิวหนังบวมแดง
- เปลือกของต้นมังคุด นำมาบดทำยาสมุนไพร ช่วยสมานแผลให้หายเร็ว
- สารสกัดจากเปลือกมังคุด นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ช่วยต้านแบคทีเรีย ลดสิวบนใบหน้า
- ฟื้นฟูความสมดุลของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ ลดปัญหาท้องผูก
- หากถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้เปลือกมังคุดต้มกับน้ำสะอาด ดื่มช่วยบรรเทาอาการได้
- ผลดิบและเปลือกของมังคุด สามารถช่วยสมานแผล แก้ท้องร่วง และแก้ท้องเสีย
- มังคุดช่วยลดกลิ่นปาก ส่วนเปลือกมังคุดช่วยลดกลิ่นตัว จึงนิยมนำมาสกัดทำเป็นสบู่มังคุด
หมายเหตุ : แม้มังคุดจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ รวมถึงมีส่วนช่วยยับยั้งมะเร็ง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอ ที่จะสรุปว่ามังคุดสามารถรักษาโรคมะเร็งในคนได้ผลจริง เพราะเป็นเพียงการทดลองในหลอดวิจัยเท่านั้น
อาหารจากมังคุด
“เคยกินน้ำปลาพริกใส่มังคุดไหม” ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ฉันรู้จักเอ่ยถามขณะที่กำลังสนทนากันถึงประเต็นเรื่องอาหารของภาคกลาง ซึ่งสะดุดใจฉันมาก จึงซักถามขอความรู้ท่านเพิ่มจนได้ความว่า น้ำปลาพริกมังคุดคือเครื่องจิ้มที่คนฝั่งธนบุรีสมัยก่อนนิยมกินกัน
โดยนำมังคุดสุกมาแกะเอาแต่เนื้อแล้วใส่ลงในถ้วยน้ำปลาพริก นัยว่าอาศัยรสเปรี้ยวอมหวานของผลมังคุดให้ช่วยเติมแต่งรสชาติน้ำปลาพริกให้พิเศษมากขึ้น แล้วจัดขึ้นสำรับพร้อมไข่เต่าทะเลต้ม ซึ่งต้องเป็นคนที่รู้วิธีเท่านั้นจึงจะต้มไข่เต่าทะเลให้สุกได้
กล่าวกันว่าสองสิ่งนี้เป็นของคู่ตุนาหงันที่กินเข้ากันได้เอร็ดอร่อย ทว่าปัจจุบันที่มีกฎหมายกำหนดให้เต่าทะเลเป็นสัตว์อนุรักษ์ จึงไม่สามารถนำไข่เต่ามาบริโภคได้ ถ้าอยากลองลิ้มคงต้องปรับเป็นไข่เป็ดต้มยางมะตูมมากินด้วยกันแทน
นอกจากนี้อีกเมนูจากมังคุดที่ฉันชื่นชอบคือ ยำมังคุด ที่ร้านจันทรโภชนา จังหวัดจันทบุรี เขานำเนื้อมังคุดแกะเปลือก
อย่างเบามือ ให้เนื้อในไม่ชอกช้ำและยังติดกันเป็นก้อนกลม มายำกับน้ำยำใส่พริกขี้หนูสดซอย พร้อมกุ้งสดลวก จัดใส่จาน โรยกุ้งแห้งป่น เคียงไข่ต้ม กินแล้วชื่นใจ อร่อยเหาะไปเลย
เลยจากภาคตะวันออก ลงใต้ไปนครศรีธรรมราช ฉันเคยกิน”มังคุดคัด” ที่นำมังคุดห่ามมาปอกเปลือกล้างน้ำปูนใสให้กรอบขึ้น แล้วเสียบไม้แช่เย็นเป็นของกินเล่น บอกเลยว่าอร่อยจับใจ ได้สัมผัสทั้งเนื้อกรอบๆ ของมังคุด รสเปรี้ยว อมหวาน และกลิ่นหอมเฉพาะตัว
เห็นไหมว่านอกจากรับประทานอย่างผลไม้สดแล้ว มังคุดยังนำมาปรุงเป็นอาหารเมนูอร่อยขึ้นสำรับได้อีกด้วย ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าลืมออกไปอุดหนุนมังคุดที่กำลังประสบปัญหาล้นตลาดบ้านเรากัน เพราะ”ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”
และถ้าคนไทยไม่ช่วยคนไทย แล้วใครจะช่วยเรา จริงไหม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมสมุนไพรไทย – จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย
บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง”มังคุด…ราชินีผลไม้”
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article
เรื่อง สิทธิโชค ศรีโช ภาพ iStock
ชีวจิต 567