แร่ธาตุในน้ำแร่ช่วยอะไร ดื่มยังไงให้ได้ประโยชน์
น้ำแร่ ในท้องตลาดตอนนี้มีมากมาย หลากหลายทั้งยี่ห้อ แหล่งน้ำ รวมไปถึงราคาที่มีตั้งแต่ซื้อง่ายหลักหน่วย ไปจนถึงขวดละหลายร้อย หรือบางทีก็เป็นพัน และอีกหนึ่งความแตกต่างคือแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำ ซึ่งจะเลือกยังไงให้เข้ากับความต้องการของร่างกาย วันนี้ชีวจิตจะพาไปดูกันค่ะ
น้ำแร่ จากธรรมชาติ แบบไหนที่ควรดื่ม?
โดยปกติแล้วคนเราจะดื่มน้ำปกติที่ค่า pH =7 คือเป็นกลางที่ ต่ำกว่าเป็นกรด สูงกว่าเป็นด่าง ส่วนน้ำแร่ทั่วไปจะมีค่า pH ไม่เกิน 8.5 และไม่ต่ำกว่า pH 6.5 เนื่องจากว่า หากมากสูง หรือต่ำไปกว่านี้ จากแทนที่จะให้ประโยชน์กับร่างกายอาจจะกลายเป็นส่งผลเสียต่อร่างกายได้
น้ำแร่ แร่มาจากไหน อันตรายไหม
แร่ธาตุในน้ำแร่มาจากแร่ธาตุในดิน ที่อยู่บริเวณแหล่งต้นน้ำ หลายคนจึงเปรียบการดื่มน้ำแร่ เปรียบเสมือนที่สัตว์ป่ากินดินโป่ง เนื่องจากเป็นแร่ธาตุในดินเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นแล้วเพื่อความปลอดภัย น้ำแร่จะต้องถูกตรวจสอบคุณภาพเพื่อป้องกันการปนเปื้อนโดยเฉพาะโลหะหนักและสารอันตรายอื่นๆ
หากน้ำแร่ผ่านกระบวนการ เช่น การกรอง หรือการเติมแก๊ซ จะต้องมีการระบุไว้ที่ฉลากเพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ หลายคนอาจจะสงสัยเพิ่มว่าแล้วน้ำที่ได้แร่ธาตุจากในดิน จะไม่มีการปนเปื้อนจากสารเคมีที่เราใช้ทุกวันหรือ ซึ่งคำตอบคือน้อยมาก เนื่องจากน้ำแร่ต้องผ่านชั้นดิน ชั้นหินซึ่งเหมือนเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ และเพื่อรับรองความปลอดภัยจึงต้องมีมากตรวจสอบคุณภาพน้ำนั้นเอง
ประโยชน์ของน้ำแร่
แคลเซียม
- ช่วยในเรื่องบำรุงกระดูก
- ป้องกันโรคกระดูกพรุน การหดตัวของกล้ามเนื้อ
- จำเป็นต่อการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อและระบบประสาท
ไบคาร์บอเนต
- กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร
- ช่วยเพิ่มปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย
- ช่วยปรับให้สารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย ที่มีฤทธิ์เป็นกรดกลายเป็นกลาง
- กระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น
แมกนีเซียม
- ช่วยควบคุมแคลเซียมไม่ให้เกาะตามเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ลดการเกิดนิ่ว
- ทำให้การทำงานของระบบประสาทและสมองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ป้องกันและบรรเทาอาการปวดไมเกรน
- กระตุ้นวิตามิน บี ซี และอีให้ทำงานได้ดีขึ้น
- ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ลดโอกาสการเกิดตะคริวได้
ซิงค์
- ลดระยะเวลาของอาการหวัด
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ลดสิวที่รุนแรงและอักเสบ
- ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
- ชะลอการลุกลามของจอประสาทตาเสื่อม
โซเดียม
- ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย
- ควบคุมความดันโลหิต
- ดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในไตและลำไส้เล็ก
ผู้ที่อยู่ในวัยทองควรหลีกเลี่ยงน้ำแร่ที่มีโซเดียม เนื่องจากอาจทำให้ความดันเพิ่มสูง
โพแทสเซียม
- ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานปกติ
- ควบคุมสมดุลของแร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงาน
- ช่วยควบคุมให้ร่างกายมีความเป็นกรด-ด่างพอเหมาะ
- ป้องกันภาวะกรดไหลย้อนหรือกรดเกินในกระเพาะอาหาร
- ปรับความดันโลหิตให้เหมาะสมในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากโพแทสเซียมอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
ซัลเฟต
ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะในคนที่ท้องผูกเรื้อรัง
ฟลูออไรด์
ป้องกันฟันผุ
เด็กควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากหากบริโภคในปริมาณมาก อาจทำให้ฟันเป็นจุดด่างดำ
น้ำแร่ ประโยชน์ที่คาดไม่ถึง
ประโยชน์จากแร่ธาตุในน้ำแร่ มีประโยชน์ที่คาดไม่ถึงอีกด้วย คือ
มีงานวิจัยที่ศึกษาพบว่าธาตุแคลเซียมในน้ำแร่ดูดซึมได้ดีกว่านมวัวสด จึงเหมาะกับผู้ที่อยู่ในวัยทองซึ่งต้องการแคลเซียมในการเสริมสร้างกระดูกมากกว่าปกติ รวมถึงเหมาะกับคนที่แพ้นมวัว และดื่มนมวัวไม่ได้
อีกประเด็นที่มีการศึกษาและน่าสนใจนั้นก็คือ ยังไม่เคยพบรายงานการติดเชื้อท้องเสียจากการดื่มน้ำแร่ ในขณะที่เคยมีรายงานการท้องเสียจากการดื่มน้ำประปา
ใครบ้างที่ไม่ควรดื่มน้ำแร่
กลุ่มบุคคลที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง ดังนี้
- ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่หัวใจทำงานได้ไม่ดีไม่ควรดื่มน้ำแร่
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมสูงและน้ำแร่เกลือโซเดียมคลอไรด์
- ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมากและแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ควรดื่มน้ำแร่เกลือโซเดียมคลอไรด์
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟอร์
- ผู้ป่วยภาวะการย่อยและลำไส้ไม่ปกติ ไม่ควรดื่มน้ำแร่ไบคาร์บอเนต เพราะจะทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารและมีแผลในทางเดินอาหาร ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟต
- ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีครรภ์
น้ำแร่บางชนิดอาจมีแคลเซียมหรือแมกนีเซียมสูง ซึ่งอาจรบกวนความสามารถของร่างกายในการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญ
เด็กเล็ก
เนื่องจากเด็กต้องการสารอาหารที่ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ร่างกายกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กอ่อนแอต่อการบริโภคแร่ธาตุ การได้รับแร่ธาตุมากเกินไปอาจทำลายความสมดุลสารอาหารในร่างกายเด็กได้
Tip ง่าย ๆ ดื่มน้ำแร่ให้ดีต่อตัวเรา
- ดื่มน้ำแร่ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้นๆ 1 ลิตร ภายใน 30 นาที ขณะท้องว่าง จะช่วยขับนิ่วออกจากร่างกาย แนะนำว่าไม่ควรดื่มก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับเนื่องจากต้องเข้าห้องน้ำบ่อย
- ทยอยดื่มทีละนิด ก่อนอื่นดื่มเข้าไปก่อนปริมาณ 500 มิลลิลิตร และตามด้วยน้ำแร่ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยจิบครั้งละน้อย ๆ จะช่วยเรื่องการอ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่นมากขึ้น
- ดื่มน้ำแร่ในปริมาณ 500-700 มิลลิลิตร ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้
- น้ำแร่ที่มีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 50 มิลลิกรัม/ลิตร ช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องผูกได้ กระตุ้นให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
ข้อควรระวัง ไม่ควรดื่มน้ำแร่เป็นประจำทุกวันเพราะจะทำให้เป็นนิ่ว และร่างกายเสียสมดุล
ปัจจุบันเราไม่ต้องกรอกน้ำแร่มาดื่มเองแล้ว เพราะน้ำแร่แบบขวดมีขายในร้านค้าชั้นนำทั่วไป สามารถเลือกซื้อได้ตามความชอบ รสชาติก็แตกต่างกันไปตามชนิดของน้ำแร่ที่เลือก แต่ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ดี และไม่ควรดื่มมากจนเกินไปเพราะอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ที่มา
- นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 589 รวมวิธีดื่มน้ำให้ถูกชนิด เวลา ปริมาณ สนใจคู่มือดื่มน้ำให้ได้สุขภาพ สั่งซื้อ คลิก
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- นพ. กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ชะลอวัย.
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
น้ำประปา ปลอดภัยจริงไหม
แจกสูตรน้ำผัก บำรุงดวงตา ห่างไกลโรค
ดื่มน้ำมากไป ระวังสุขภาพพัง