ประวัติความเป็นมาของข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัดเป็นหนึ่งในขนมไทย ที่น้อยคนนักจะบอกว่าไม่รู้จัก เนื่องจากเป็นขนมที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางอาหาร สามารถหาวัตถุดิบในการทำได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นขนมที่นำข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยนำมาประยุกต์ ปรุงแต่งเป็นขนมหวาน จึงถือได้ว่า “ข้าวต้มมัด” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษไทย
“ข้าวต้มมัด” มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อาทิเช่น ทางภาคเหนือจะเรียกข้าวต้มมัดว่า “ข้าวต้มผัด” ทางภาคกลางเรียกว่า “ข้าวต้มมัด” เรียกตามรูปลักษณ์ที่มีห่อและมัดเป็นกลีบโดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย ส่วนทางภาคใต้โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า “เหนียวห่อกล้วย” เพราะลักษณะที่เห็น ประกอบกับวิธีการทำที่เป็นการนำข้าวเหนียวมาห่อกล้วยเอาไว้และห่อปิดด้วยใบตองอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ บางท้องถิ่นจะห่อข้าวต้มมัดเป็นทรงกรวยโดยใช้ใบกระพ้อแต่ไม่มัด หรือห่อเป็นก้อนด้วยใบเตยหรือใบอ้อย แล้วไว้หางยาว ซึ่งจะเรียกว่า “ข้าวต้มลูกโยน”
ในประเพณีไทยนั้น ข้าวต้มมัดจัดเป็นขนมยอดนิยมที่มักทำไว้กินเป็นของว่างหรือเอาไปร่วมงานบุญ บ้างก็ทำไส้ถั่วดำ บ้างก็ทำไส้กล้วย บ้างก็ไม่มีไส้ ซึ่งจะเรียกว่า “ข้าวต้มน้ำวุ้น”
นอกจากนี้เรามักจัดข้าวต้มมัดไปถวายพระในงานบุญวันออกพรรษา หรืองานตักบาตร เทโว เหตุที่คนไทยนิยมนำข้าวต้มมัดไปถวายพระนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า เกิดจากชาวเมืองในสมัยพระพุทธกาลที่ไปคอยรับเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านำไปทำบุญตักบาตรเพราะเห็นว่าเป็นของสะดวกและรับประทานง่าย บ้างก็ว่าการนำข้าวต้มมัดมาใส่บาตรทำบุญจนเกิดขึ้นเป็นธรรมเนียมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นเสบียงในการเดินทางไปเผยแผ่พระธรรมคำสอน ส่วนคนไทยที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนไปใส่บาตรนั้น เล่ากันว่าเกิดจากชาวบ้านในสมัยพระพุทธกาลที่ไปเบียดเสียดต้องการจะตักบาตรองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เข้าไปไม่ถึงพระองค์จึงต้องใช้วิธีโยนข้าวต้มมัดนี้แทน
การทำข้าวต้มมัดนั้น ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิด เพียงแต่รู้เคล็ดลับในการทำเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การเลือกใบตอง ใบตองที่ห่อข้าวต้มมัด จะต้องเป็นใบอ่อนๆและช่วงใบสั้นๆ ใบตองที่ตัดมาจากต้นยังไม่สามารถนำมาห่อได้ ต้องทิ้งค้างคืนไว้ ๑ คืน เพื่อให้ใบตองนิ่ม เพื่อที่เมื่อนำมาห่อแล้วใบตองจะได้ไม่แตก ส่วนการวางใบตองสำหรับห่อนั้นให้วางตามขวาง โดยฉีกใบตองกว้าง ๗-๘ นิ้ว นำมาวางซ้อนกันโดยสลับหัวท้าย และที่สำคัญต้องทำความสะอาดใบตองให้สะอาด
ส่วนกล้วยที่นำมาทำข้าวต้มมัดนั้น ควรเป็นกล้วยสวนที่งอมจัด เพื่อให้เวลานึ่งหรือต้มแล้วไส้ของข้าวต้มมัดจะได้สีแดงสวย นอกจากนี้ ยังสามารถใส่ไส้อื่นได้อีกด้วย เช่น ไส้เผือก หรือไส้ถั่ว เพียงเท่านี้เราก็จะได้ข้าวต้มมัดที่แสนอร่อยและมีประโยชน์ไว้รับประทานแทนขนมกรุบกรอบที่ไร้ประโยชน์ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างกิจกรรมในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ข้าวต้มมัด” ไม่ใช่เพียงขนมที่ใช้รับประทานเท่านั้น หากแต่ข้าวต้มมัดยังแฝงไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้ด้วยอย่างเต็มเปี่ยม คงจะเป็นการดีไม่น้อย หากทุกคนในสังคมช่วยกันอนุรักษ์ และให้ความสำคัญกับขนมไทย สมกับที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้น และพยายามทำขึ้นมา เพื่อให้ขนมไทย อยู่คู่คนไทยและประเทศไทย ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก
สูตรขนมไทย แนะนำ
- ขนมชั้น สูตรขนมไทยรสหวานมัน
- ขนมถ้วย สูตรขนมไทยโบราณ รสหวานมัน
- ขนมน้ำดอกไม้ สูตรขนมไทยอร่อย ทำง่าย
- ไข่หงส์ลาวา สูตรขนมไทยไส้เยิ้มน่ากิน
- ขนมตาล สูตรขนมพื้นบ้าน รสหวานมัน
- ขนมเปียกปูน สูตรขนมโบราณ เนื้อหนึบหอมหวาน
- ฟักทองแกงบวด ถ้วยโปรดวันวาน
- แจกสูตร หน้าปลาแห้งแตงโม ตำรับบ้านบุนนาค เย็นฉ่ำใจคลายร้อนแบบโบราณ
- พาเที่ยวเมืองโบราณ เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 เมืองแห่งวัฒนธรรมและวิถีชน รัชสมัยรัชกาลที่ 5
Summary
Article Name
ข้าวต้มมัด
Description
ทำไม? กล้วยในข้าวต้มมัดถึงเป็นสีแดง!
สีแดงที่เกิดกับกล้วยมาจากสารรสฝาด หรือแทนนิน ประเภท Condensed Tannins ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายด้วยน้ำ แต่ถ้าอยู่ในสภาวะกรดร้อนนานๆ (กรดที่อยู่ในเนื้อกล้วย) จะให้สารโพลิเมอร์สีแดง หรือ Red Tannins ออกมาครับ
Pages: 1 2