ลดความดันโลหิต ด้วย ปลาทอดซอสสตรอว์เบอร์รี่
โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์
4-5 ปีมานี้ พบว่าคนไทยต้องเจ็บป่วยด้วยอาการของความดันโลหิตสูง หรืออาการของหลอดเลือดหัวใจตีบไม่น้อยเลยทีเดียว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้วงจรชีวิตปกติถูกริดรอน สิ่งเหล่านี้ถูกสะสมเหมือนเราหยอดกระปุกออมสินทุกวัน โดยไม่เคยรู้ตัวว่าโรคร้ายกำลังมาเยือน
ทำไมความดันโลหิตจึงสูง
- เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแคบลงหรือหดตัว ซึ่งเป็นผลจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด (ปัจจุบันพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อย) หรือ การเสื่อมสภาพของตัวหลอดเลือดเอง (พบในผู้สูงอายุ) ทำให้เลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายผ่านหลอดเลือดที่แคบนั้นช้าลงหรือน้อยลง หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ แรงดันที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
2.การบริโภคเกลือโซเดียม เกินขนาดเป็นประจำ ทำให้ร่างกายอุ้มน้ำมาก ไตต้องทำงานหนักเพื่อขับน้ำ และต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงสูง จึงทำให้หัวใจต้องบีบตัวเร็วและแรงขึ้น ส่งผลให้ความดันสูง
สัญญาณเตือน !
หากคุณมีอาการปวดตุบ ๆ บริเวณขมับ หรือปวดบริเวณท้ายทอย ปวดศีรษะ มีอาการมึนงง และเมื่ออาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันบ่อย ๆ บอกได้เลยว่าความดันในร่างกายคุณเริ่มสูงแล้ว ทั้งนี้ค่าความดันปกติทั่วไปควรอยู่ที่ ค่าตัวบน 110 -120 มม.ปรอท ค่าตัวล่าง 70 – 80 มม.ปรอท
5 วิธี หนีความดันสูง
1 ลดปริมาณการบริโภคเกลือในปริมาณสูง(โดยเฉพาะเกลือโซเดียม) ซึ่งในเกลือแกง 1 ช้อนชานั้นจะประกอบด้วยเกลือหลายชนิด แต่จะมีเกลือโซเดียมเจืออยู่ประมาณ 2400 มิลิกรัม ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปควรจำกัดเกลือโซเดียมให้อยู่ที่ 2400-4500 มิลิกรัมต่อวัน ก็จะปลอดภัยต่อโรคดังกล่าว หากเป็นกลุ่มที่ต้องควบคุมโซเดียมระดับปานกลาง กล่าวคือเริ่มมีภาวะความดันสูงเล็กน้อย ให้บริโภค ไม่เกิน 1000 มิลิกรัม ต่อวัน ทั้งนี้ต้องพึงระวังเกลือโซเดียมที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น ขนมกรุบกรอบ ไส้กรอก หมูแฮม มันฝรั่งทอด ผักดอง หรือเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ด้วย
- ควบคุมอาหารประเภทแป้ง และไขมัน เพราะแป้งส่วนเกินที่ร่างกายใช้ไม่หมดจะถูกย่อยและสุดท้ายนำไปจัดเก็บในรูปแบบไขมัน โดยอาจไปพอกตามผนังหลอดเลือด การทำงานของหลอดเลือดจึงผิดปกติ
3.หมั่นออกกำลังกายเพื่อขับของเสียทางเหงื่อและเพิ่มการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4.ลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งก่อผลเสียต่อความดันเลือด และความแข็งแรงของหลอดเลือด
5.หันหน้าหาพระธรรม เพื่อปรับสภาพจิตใจให้ผ่องแผ้ว ปราศจากความเครียด
ฉบับนี้ดิฉันมี อาหารจานอร่อย อย่าง ปลาทอดซอสสตรอว์เบอร์รี่ มาฝากให้คุณปรุงรับประทานต้านโรคความดันสูงกัน เพราะนอกจากมีปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายแล้ว ยังมีไขมันดีที่ช่วยกำจัดไขมันตัวร้ายในร่างกายได้ใน ส่วนผลไม้ต่างๆ ก็ช่วยขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย และขับปัสสาวะได้ รวมถึงขึ้นช่าย ที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโดยตรง ปรุงแต่งรสด้วยเกลือเพียงเล็กน้อย ปริมาณโซเดียมไม่เกินกว่ามาตราฐานสุขภาพที่กำหนดไว้ อร่อยอุ่นใจไร้กังวล ฉบับหน้ามาติดตามว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ต้องปฏิบัติตัวเช่นไรนะคะ ปลาทอดซอสสตรอว์เบอร์รี่
ปลาทอดซอสสตรอว์เบอร์รี่
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่)
เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที
เนื้อปลาแดงหรือเป็นเนื้อปลาช่อน 200 กรัม
มะเขือเทศเชอรี่ผ่าครึ่ง 5 ผล
สับปะรดหั่นเต๋า 2 ช้อนโต๊ะ
เนื้อส้มหั่นชิ้น 2 ช้อนโต๊ะ
แคนตาลูปหั่นเต๋า 2 ช้อนโต๊ะ
สตรอว์เบอร์รีชนิดที่มีรสเปรี้ยวอมหวานหั่นเต๋า(1) 5 ผลใหญ่
พริกขี้หนูซอย ½ ช้อนชา
น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ
ก้านต้นขึ้นช่ายหั่นซอย 1 ช้อนชา
ใบสะระแหน่ 1 ช่อสำหรับแต่งประดับ
สตรอว์เบอร์รี่หั่นเต๋าสำหรับเคียงจาน 2 ผลใหญ่
น้ำเปล่า ¼ ถ้วย
เกลือ 1 หยิบมือ
วิธีปรุง
- ขอดเกล็ดปลาล้างให้สะอาดแล้วแล่เป็นชิ้น โรยเกลือบนปลาเล็กน้อยพักไว้ ทาน้ำมันลงในกระทะเล็กน้อยตั้งกระทะให้ร้อน ใส่ปลาลงจี่ให้สุกเหลืองทั้งสองด้าน จัดใส่จานเตรียมไว้
- ใส่สตรอว์เบอร์รี่ (1) ลงในกระทะอีกใบ ใช้ทัพพีกดให้เละเติมแล้วน้ำเปล่ายกขึ้นตั้งไฟกลาง ใส่น้ำผึ้งลง เติมเกลือ 1 หยิบมือ คนให้เข้ากัน รอจนซอสข้นขึ้น ชิมดูให้มีรสเปรี้ยวนำหวานและเค็มเล็กน้อย ปิดไฟ นำไปราดบนปลา โรยพริกขี้หนูและก้านขึ้นฉ่ายที่หั่นไว้และประดับด้วยใบสะระแหน่ เคียงจานด้วยผลไม้สดชนิดต่าง ๆ เคล้ารวมกัน พร้อมเสิร์ฟ
หมายเหตุ ควรเสิร์ฟคู่กับชามะลิหรือใบเตย เพราะจะช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ ลดอาการเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลียได้ ล้อมกรอบ หยิบมือ คือ การใช้นิ้วโป้ง ชี้ และกลาง รวบหยิบวัตถุที่มีลักษณะเป็นผงพร้อมกัน