เกือบจะเป็นเปรี้ยวหวาน อาหารบำรุงสายตาสำหรับผู้สูงวัย
โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์
หลายท่านคงเคยได้ยินว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแววตาของเราสามารถแสดงออกถึงความรู้สึก แต่เหนือกว่านั้น แววตายังสะท้อนถึงสุขภาพเจ้าของดวงตาได้อีกด้วย
อาทิ ถ้าตาแดงจัดอาจเกิดจากดวงตาอักเสบ หากมีน้ำตาออกตลอดเวลา อาจมีสาเหตุจากท่อน้ำตาอุดตัน หากตาขาวมีสีเหลือง อาจเป็นเพราะตับหรือถุงน้ำดีผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เราสามารถสังเกตเองได้ หากรู้ว่าผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สายตากลับมาใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา เนื่องมาจากการเสื่อมของเลนส์ตาทำให้ยืดหยุ่นได้ไม่ดี ส่งผลให้มองเห็นสิ่งของระยะใกล้ไม่ชัด แต่ชัดในระยะไกล หรือที่เราเรียกว่าสายตายาว กลุ่มนี้ต้องอาศัยการสวมแว่นสายตาเพื่อประสิทธิภาพการมองเห็น แต่สำหรับบุคคลทั่วไปและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากการมองเห็นผิดปกติไป ไม่ควรซื้อยามาหยอดตาเอง เพราะเราอาจไม่รู้ว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากสิ่งใด หากกรณีต้องทำการผ่าตัด หรือต้องลอกตา ก็จะได้รักษาอย่างทันท่วงที
สำหรับบุคคลสูงอายุทั่วไป สามารถใช้อาหารช่วยชะลอการเสื่อมและช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาให้ดีขึ้นได้ โดยเลือกบริโภคกลุ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน เอ และเบต้าแคโรทีน ซึ่งสามารถชะลอความเสื่อมของดวงตา ยกตัวอย่างอาหารกลุ่มนี้ได้แก่ เม็ดเก๋ากี้ แครอต ผักบุ้ง หรือทับทิม เป็นต้น โดยวิตามินชนิดนี้จะละลายได้ดีในน้ำมัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรับประทานจึงควรเติมน้ำมันลงในขั้นตอนการปรุงอาหารเล็กน้อยเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด
นอกเหนือจากเรื่องอาหาร เรายังมีวิธีบริหารกล้ามเนื้อตาแบบง่าย ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาแข็งแรง และกระตุ้นให้ประสาทตาทำงานดีขึ้น เลือดไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงดวงตาได้มากขึ้น โดยวิธีกลอกตาเป็นวงกลมช้า ๆ ร่วมกับมองบนและล่างสลับกัน มองซ้ายมองขวา สลับกัน นับการบริหารทั้งสามแบบนี้เป็น 1 ยก โดยควรบริหารดวงตาครั้งละ 3 ยก วันละสองครั้งเช้าและเย็น ก็จะช่วยให้สุขภาพดวงตาของคุณดีขึ้นได้ หรืออาจใช้การนวดดวงตาโดยใช้นิ้วกดนวดเบา ๆ บริเวณเปลือกตาบน และขอบตาล่าง ในทิศทางเริ่มจากหัวตาไปทางหางตา ทำเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงดวงตาได้ดีขึ้น
เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับหน้าต่างของหัวใจคุณผู้อ่านทุกท่าน ฉบับนี้ดิฉันมีเมนูซึ่งไม่ว่าเป็นผู้สูงอายุ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถได้รับประโยชน์จากวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ในผักผลไม้นานาชนิดจากอาหารจานนี้ แต่ด้วยวิธีปรุงที่แบ่งเป็นหลายส่วน ทั้งทอด ละผัดแบบเปรี้ยวหวานก่อนจัดประกอบลงในจาน จึงไม่สามารถเรียกว่าเป็นผัดเปรี้ยวหวานได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ดิฉันเลยขออนุญาตตั้งชื่อว่า “เกือบจะเป็นเปรี้ยวหวาน” แทน ถึงที่มาของชื่อดูไม่ชัดเจน แต่ได้ปรุงรับประทานกัน ดิฉันก็เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกการมองเห็นของคุณคมชัดขึ้นไม่มากก็น้อยแน่นอนค่ะ
เกือบจะเป็นเปรี้ยวหวาน
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที
เนื้อปูต้มสุก 30 กรัม
กุ้งทะเลแกะเปลือกเว้นหาง 4 ตัว
เนื้อปลาทับทิมหั่นเป็นชิ้นขนาด 2 คูณ 4 นิ้ว 6 ชิ้น
ผักบุ้งไทยเจียนเป็นเส้น 60 กรัม
พริกหวานสีแดง เขียว เหลือง หั่นเต๋า ชนิดละ 2 ช้อนโต๊ะพูน
เม็ดทับทิม 4 ช้อนโต๊ะ
สับปะรดหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
มะม่วงห่ามหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
แครอตหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
หอมหัวใหญ่หั่นเต๋า 2 ช้อนโต๊ะ
เก๋ากี้ 2 ช้อนชา
ขิงสับ 1 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
เนื้อเสาวรสสด 2 ผล
น้ำเลมอน 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทรายไม่ขัดขาว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำสต๊อกไก่ 3 ช้อนโต๊ะ
เกลือ ½ ช้อนชา
แป้งทอดกรอบสำหรับชุบทอด 1 ถ้วย
น้ำปูนใส 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำเย็นสำหรับผสมแป้ง ¾ ถ้วย
แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันรำข้าวสำหรับผัดและทอดปลาเล็กน้อย
ผิวเลมอนขูดฝอย และพริกไทยป่นเล็กน้อย
วิธีทำ
1.ละลายแป้งทอดกรอบกับน้ำเย็นและน้ำปูนใสเตรียมไว้ ใส่เนื้อปลา กุ้ง ผักบุ้งที่เจียนไว้ ทีละชนิด ลงชุบแป้งแล้วใส่ลงทอดในกระทะด้วยน้ำมันร้อน ใช้ไฟกลาง พอสุกเหลืองและแป้งกรอบดีแล้ว ตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำมันไว้
2.ใส่น้ำมันรำข้าวสำหรับผัดลงในกระทะ ใส่กระเทียม ขิงสับ หอมหัวใหญ่ ผัดจนมีกลิ่นหอม ใส่แครอต พริกหวาน ตามด้วยมะม่วง ทับทิม แล้วปรุงรสด้วย เกลือ น้ำตาล พริกไทย เนื้อในเสาวรส น้ำเลมอน เติมน้ำซุป ชิมรสให้เปรี้ยว หวาน เค็ม กลมกล่อม ใส่เม็ดเก๋ากี้ แล้วจึงใส่แป้งมันที่ละลายน้ำไว้ ลงคนให้เหนียวดี ปิดไฟ
3.นำของทอดทุกอย่างจัดใส่จานให้สวยงาม ตักส่วนผสมข้อ 2 ราดลงไป โรยหน้าด้วยเนื้อปู พริกไทยป่น และผิวเลมอนขูดเล็กน้อย จัดเสิร์ฟพร้อมข้าวสวย หรือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ลวกสุกก็ได้
Tip
ผู้สูงอายุที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ขอแนะนำให้ปรุงปลา กุ้ง และผักบุ้ง ด้วยวิธีลวกสุก แทน การทอด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกิน
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 481.95 กิโลแคลอรี
โปรตีน 39.60 กรัม
ไขมัน 4.77 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 69.54 กรัม
ไฟเบอร์4.43 กรัม