พญานาคในทรรศนะของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปุจฉาถึง กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส หรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่าด้วยเรื่อง จตุโลกบาล พระองค์ทรงสืบค้นเรื่องจตุโลกบาล เพื่อเป็นข้อมูลเขียนภาพที่วัดเบญจมบพิตร
พระองค์ทรงตรวจข้อมูลจากหลายแหล่งแล้ว ทราบว่าในพระพุทธศาสนากล่าวถึงจตุโลกบาลไว้ใน อาฏานาฏิยสูตร และบางส่วนของคัมภีร์ในพระพุทธศาสนากล่าวไม่ตรงกัน รัชกาลที่ 5 ทรงขอความช่วยเหลือจากกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้พระองค์ทรงระบุรูปลักษณ์ ประวัติ สีผิว อาวุธ ของจตุโลกบาล
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสนองงานรัชกาลที่ 5 ศึกษาและสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับจตุโลกบาลอย่างละเอียด ทั้งในศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พญานาคในทรรศนะของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
พระองค์ทรงวิสัชชนาถวายรัชกาลที่ 5 ว่า
“พวกนี้ (นาค) เข้าใจต้องกันทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายผู้ถือพระพุทธศาสนาว่า เป็นชาติงูมีภพอยู่ภายใต้ เรียกบาดาล ฝ่ายพราหมณ์กล่าวตามหนังสือปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่าง ๆ ในเรื่องฮินดู จัดเป็นพวก เทวดากลาย ๆ มีหน้าอย่างมนุษย์ มีหางอย่างงู มีคอพอกอย่างงู ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Cobra นาคนั้นมีตั้งพันตระกูล ที่เป็นสตรีมีรูปงาม ได้ร่วมคู่กับมนุษย์ก็มี ฝ่ายพวกถือพระพุทธศาสนา เข้าใจว่า มีปกติเป็นงู แต่จำแลงเป็นมนุษย์ได้ตามใจ และชอบเล่าเรื่องไว้ในที่นั้น ๆ เป็นอันมาก
“เจ้าของพวกนาคนี้ ในตำรับข้างพระพุทธศาสนา ชื่อท้าววิรูปักข์ในภาษามคธ (บาลี) ชื่อท้าววิรูปากฺษ ในภาษาสันสกฤต ในหนังสือพุทธศาสนามหายานฝ่ายจีน ผู้รจนาเล่าถึงรูปที่เห็นดขาทำไว้ว่า ท้าววิรูปากฺษ มีหน้าแดง ถือกลดหรือฉัตร พอกางขึ้น ก็เกิดพายุใหญ่ฟ้าคะนองฝนตก อีกปากหนึ่งว่า พอกางขึ้น ก็เกิดมืดทั่วไปทันที”
วิสัชชนาของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเรื่อง พญานาค นี้ ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระนักวิชาการ มีการศึกษาเปรียบเคียงพญานาคในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา รวมไปถึงพระพุทธศาสนามหายานด้วย
ที่มา :
ประชุมพระราชปุจฉา เล่ม 2 กรมศิลปากร
ภาพ :
วัดสุวรรณาราม
วัดประยูรวงศาวาส
บทความน่าสนใจ
พญานาคปากพล่อย นิทานธรรมะเตือนใจอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน
“เทวดากับการสวดมนต์ ” เรื่องเล่าถึงเทวดาของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม