“อิติปิโสถอยหลัง” อุบายเร่งจิตให้สงบ โดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)
วิธีบริกรรม “อิติปิโสถอยหลัง” นั้นมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ท่องจำ
ท่องจำคือวิธีทำจิตให้สงบอย่างหนึ่ง ช่วยให้จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ปัจจุบันได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่องจำอิติปิโสฯ ผู้ปฏิบัติต้องใช้กำลังสติอย่างมากเพ่งพินิจ จึงจะจำอิติปิโสฯแต่ละอักขระได้อย่างชัดเจนไม่ผิดพลาด
ผู้เขียนแบ่งอิติปิโสฯเป็น 6 บรรทัดเพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำ ดังนี้
“ติ-วา-คะ-ภะ โธ-พุท นัง-สา-นุส-มะ-วะ-เท
ถา-สัต-ถิ-ระ-สา-มะ-ทัม-สะ-ริ-ปุ
โร-ตะ-นุต-อะ ทู-วิ-กะ-โล โต-คะ-สุ
โน-ปัน-สัม-ณะ-ระ-จะ-ชา-วิช
โธ-พุท-สัม-มา-สัม
หัง-ระ-อะ วา-คะ-ภะ โส-ปิ-ติ-อิ”
เมื่อท่องจำได้จนขึ้นใจแล้ว ควรฝึกขั้นต่อไป
ขั้นที่ 2 บริกรรม
ก่อนบริกรรมทุกครั้งควรเลือกจุดที่จับลมได้อย่างชัดเจนมากที่สุดในกาย เช่น ปลายจมูก หรือกลางสะดือ แล้วเริ่มบริกรรมไปทีละจังหวะ
บริกรรมจังหวะใดแล้วจิตสงบนิ่งแน่วแน่ ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ดับลงไป ควรข้ามไปขั้นที่ 3 คือขั้นพักจิตทันที ไม่ต้องบริกรรมให้ครบทุกจังหวะ แต่หากจิตยังไม่สงบได้ที่ ควรฝึกไปตามลำดับจนกระทั่งจังหวะสุดท้าย
ขั้นบริกรรมมี 5 จังหวะ ดังนี้
จังหวะที่ 1 บริกรรมพร้อมกับดูลมหายใจเข้า-ออก ทำได้สองวิธี คือ
1. บริกรรมหนึ่งอักขระกับลมหายใจเข้า-ออกแต่ละครั้ง เช่น หายใจเข้า-ออก ภาวนาว่า “ติ” หายใจเข้า-ออกภาวนาว่า “วา” ฯลฯ ภาวนาไปหลาย ๆ เที่ยวจนจิตสงบได้ที่ แล้วพักจิตในจุดที่สงบนิ่งนั้น หากจิตยังไม่สงบดี ควรใช้วิธีที่สอง
2. บริกรรมหนึ่งอักขระกับหนึ่งลมหายใจ เช่น หายใจเข้าภาวนาว่า “ติ” หายใจออกภาวนาว่า “วา” หายใจเข้าภาวนาว่า “คะ” หายใจออกภาวนาว่า “ภะ” ฯลฯ ภาวนาไปหลาย ๆ เที่ยวจนจิตสงบได้ที่แล้วจึงพักจิตในความสงบ หากจิตยังไม่สงบดีให้ภาวนาจังหวะต่อไป
จังหวะที่ 2 บริกรรมเร็ว
บริกรรมอย่างถี่ยิบเหมือนกับร่ายมนตร์ อย่าให้มีช่องว่างระหว่างอักขระต่ออักขระ เพ่งความรู้สึกทั้งหมดไปที่คำบริกรรม ขณะบริกรรมไม่ต้องใส่ใจลมหายใจเข้า-ออก เพียงแต่เพ่งความรู้สึกทั้งหมดที่จะดใดจุดหนึ่งภายในกาย
จะบริกรรมในใจหรือออกเสียงก็ได้ทั้งนั้น บริกรรมกี่รอบก็ได้ตามความพอใจ จนกระทั่งจิตสงบได้ที่ ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ดับไป แล้วเลื่อนไปขั้นพักจิต หากจิตยังไม่สงบนิ่งอีก ควรฝึกจังหวะต่อไป
กดเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป>>>