สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล

“สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล” จิตรกรไร้มือ เขาคือแรงบันดาลใจของทุกคน

สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล จิตรกรไร้มือ เขาคือแรงบันดาลใจของทุกคน

สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล ครูสอนศิลปะ และจิตรกรไร้มือ เขาคือไอดอลของผู้พิการ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่มีร่างกายปกติอีกด้วย เขาคือบทพิสูจน์ว่าความพิการไม่ใช่อุปสรรค ปัจจุบันเขาเป็นศิลปินฝีมือเยี่ยม และสามารถสร้างผลงานมีมูลค่าถึงหลักแสนบาท

อ.สาโรจน์พิการมาแต่กำเนิด ตอนเด็ก ๆ อ.สาโรจน์ ไม่ได้ชอบศิลปะเป็นพิเศษ พอเรียนจบ ม.3 ต้องเลือกเส้นทางว่าจะไปสายอาชีพหรือสายสามัญ แต่เนื่องจากร่างกายเป็นตัวบังคับ ทำให้ไม่สามารถเรียนพิมพ์ดีด หรือเรียนช่างเทคนิคพวกนั้นได้ จึงตัดสินใจเรียนศิลปะเพราะคิดว่า สามารถทำได้ดีกว่าทางเลือกอื่น ๆ เนื่องจากปกติต้องใช้สองมือเขียน จึงคิดว่าสำหรับการวาดรูปก็น่าจะใช้สองมือเขียนได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเรียนศิลปะ

เมื่อมาเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวะลำปาง อ.สาโรจน์เรียนได้ที่โหล่ เพราะเรียนสู้คนอื่นไม่ได้ แรก ๆ ใช้ปลายแขนเขียนรูป แต่เพราะช่วงแขนสั้นทำให้ใบหน้าและสายตาไปชิดกับกระดาษเกินไป ภาพจึงออกมาไม่ดี เขาจึงหาวิธีเขียนด้วยมือข้างเดียว โดยใช้อุปกรณ์ช่วย คือเอาหนังยางรัดด้ามพู่กันกับเนื้อบริเวณปลายแขน เพราะใช้นิ้วเดียวถือพู่กันไม่ได้

หลังจากนั้นผลการเรียนจากอันดับบ๊วยก็ขึ้นมาติด 1 ใน 10 ของโรงเรียน จนได้เป็นตัวแทนของวิทยาลัยมาแข่งวาดภาพที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นก็เป็นตัวแทนภาคเหนือมาแข่งที่กรุงเทพฯ แต่ก็ยังไม่ได้รางวัล จนกระทั่งขึ้นปี 3 ได้เป็นตัวแทนภาคเหนือมาแข่งอีกครั้ง คราวนี้ได้ที่ 2 แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาจดจำไม่ลืม คือ คนที่ได้ที่ 1 ยกรางวัลให้ แล้วบอกว่า “เรายอมแพ้ใจนาย” การแข่งขันครั้งนั้น ทำให้อ.สาโรจน์รู้สึกว่า ในการแข่งขัน ใครจะชนะใครจะแพ้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เป็นเรื่องของน้ำใจคนที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องการแพ้ชนะมากนัก

สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล

หลังจากเรียนจบ ปวช.ปี 3 อ.สาโรจน์มาสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คณะจิตรกรรม เพื่อเรียน ปวส.อีก 2 ปี แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ อ.สาโรจน์ คิดว่า ตัวเองเดินมาถูกทางแล้วแน่นอน

วันนั้น อ.สาโรจน์เดินอยู่บนสะพานลอย พบขอทานคนหนึ่งร่างกายปกติดีไม่ได้พิการกำลังนั่งขอทานอยู่ แต่เขาซึ่งเป็นคนพิการกลับเป็นคนทำงาน ทำให้อยากพิสูจน์ว่า นั่งสะพานลอยมีอะไรดี เขาจึงปลอมตัวโดยหาเสื้อผ้าเก่า ๆ มาใส่แล้วนั่งขอทาน วันนั้นวันเดียวได้เงิน 1,500 บาท เป็นขอทานอยู่ 2 วันก็เลิก แต่ 2 วันนั้น ทำให้เขาได้เห็นแล้วว่า เงินที่ได้มานั้นไม่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เพราะตัวเขามองว่าคุณค่าของความเป็นคน อยู่ที่การได้ทำงาน มีความภาคภูมิในในสิ่งที่ทำ

“ขอเขากินเขาก็ให้ด้วยความสงสาร แต่ไม่มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน”

ตลอดเวลาที่เรียน อ.สาโรจน์ต้องทำงานไปด้วย เพราะฐานะทางบ้านยากจน การเรียนศิลปะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งค่าสี ค่ากระดาษ ตอนนั้นเขารับจ้างวาดภาพเหมือนที่สวนลุมพินี แต่เพราะเป็นคนพิการ ช่วงแรก ๆ จึงไม่ค่อยมีลูกค้ามาวาดภาพ เขาจึงใช้วิธีประกาศว่า ถ้ามานั่งเป็นแบบแล้วเขียนไม่เหมือนตัวจริง ไม่ต้องจ่ายเงิน ทำจนกระทั่งคนเห็นว่าเขาทำได้ ก็มีคนมาเข้าคิวใช้บริการเป็นแถวยาวมาก

การมานั่งสเก็ตภาพที่สวนลุมฯ ทำให้อ.สาโรจน์ได้ประสบการณ์หลายอย่าง อยู่มาวันหนึ่ง มีอาแป๊ะแก่ ๆ คนหนึ่ง เดินเข้ามาเอาเงินยัดใส่กระเป๋าให้ 500 บาท แล้วบอกว่า ไม่ต้องวาดรูปให้หรอก ที่ให้เงินเพราะเห็นว่า เขาแขนขาไม่ดียังทำมาหากิน แต่ลูกชายของแป๊ะไม่คิดจะทำอะไรเลย

สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล

อีกครั้งที่เขาจำได้ไม่มีวันลืมคือ วันหนึ่งขณะที่อ.สาโรจน์นั่งสเก็ตภาพที่สวนลุมฯ ตามปกติ มีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็น จากนั้นก็เข้ามาพูดกับอาจารย์ว่า ขอบคุณพี่มากครับที่ให้กำลังใจผม เขาถึงกับงงเพราะนั่งเขียนรูปอยู่เฉย ๆ ให้กำลังใจตรงไหน ชายหนุ่มอธิบายว่า

“ผมเป็นนักศึกษาและคิดว่าจะไม่ไปสอบไฟนอลเพราะมีปัญหาชีวิต แต่พอเดินมาเห็นพี่เป็นแบบนี้ พี่มีไม่ครบ พี่มานั่งสเก็ตภาพหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ผมนี่สิมีความพร้อมกว่าพี่ตั้งเยอะตั้งแยะ ผมเห็นพี่อย่างนี้ พรุ่งนี้ผมต้องไปสอบละ”

เหตุการณ์นี้ทำให้อ.สาโรจน์คิดได้ว่า การที่เขาทำหน้าที่ของตัวเอง มันกลายเป็นแรงขับให้กับคนอีกหลายคนที่ได้มาเห็น และทำให้คนเหล่านั้นมีกำลังใจขึ้นมา และคงจะมีคนอีกเยอะที่เห็นแต่ไม่ได้เข้ามาทักเข้ามาพูดคุยด้วย เขาจึงรู้สึกว่า

“เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีของมันเอง เพียงแต่ว่าพอเจออุปสรรคขึ้นมาเราก็หาวิธีชาร์จแบตของเราเองมันก็น่าจะผ่านไปได้”

สิ่งที่อ.สาโรจน์ทำ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ในทางกลับกัน การที่คนเหล่านั้นเข้ามาเปิดใจกับเขา ก็กลายเป็นพลังและช่วยให้กำลังใจแก่อาจารย์ด้วยเช่นกัน

สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล

อย่างไรก็ตาม กว่าจะประสบความสำเร็จ ชีวิตก็ต้องผ่านอุปสรรคมาก่อน ช่วงที่พบอุปสรรคอาจารย์จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถทำได้ แต่ถ้ามีอุปสรรคเข้ามาก็ต้องหาที่ยึดเหนี่ยว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือส่วนหนึ่งที่เขายึดเหนี่ยวในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ

“เพราะว่าเราแค่ทำเรื่องส่วนตัวไม่สำเร็จ พระองค์ทรงทำโครงการตั้งมากมาย ยังสำเร็จ เพราะฉะนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ต่อสู้มาจนถึงทุกวันนี้”

หลังเรียนจบ อ.สาโรจน์ ทำงานเป็นครูสอนศิลปะได้ 4 ปี ก็มารับงานฟรีแลนซ์สารพัดอย่าง เช่น วาดฉาก เพนต์ดอกไม้ส่งออกต่างประเทศ ในที่สุดสามารถเก็บหอมรอบริบจนเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเล็ก ๆ ได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังสอนตามหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย ถือว่าทุกวันนี้ชีวิตประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะสามารถทำให้ความฝันเป็นจริง ไม่ว่าการแสดงเดี่ยวนิทรรศการ มีบ้าน มีรถ และมีกำลังใจ

อ.สาโรจน์ยังบอกอีกว่า ชีวิตคนเราไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ทุกคนต่างก็มีปัญหา เรื่องท้อทุกคนก็คงมี ถึงจังหวะหนึ่งที่เราทำแล้วมันไม่ได้อย่างที่เราคิด งานแสดงภาพใช่ว่าจะขายภาพได้ทุกครั้ง บางปีขายไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินก็เคยมี แต่ก็ไม่ท้อ เพราะคิดว่า

“เราเดินเส้นทางนี้ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด เราต้องไปให้สุดก่อน แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยินดีที่จะตั้งรับกับมัน”

 

***ภาพศิลปะจิตรกรรม “PORTRAIT” ผลงานของ อาจารย์สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล กำลังจัดแสดงที่หอศิลป์จามจุรี ชั้น 1 ห้องนิทรรศการ 2 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น. จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ***

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  CH7NEWSMGRonlineHeroชุมชน

ภาพ  มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์, MGRonline, oknation, siamfocustimenews

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สตีเฟน วิลต์เชียร์ “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” ศิลปินออทิสติกสุดยอดอัจฉริยะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.