พระพุทธองค์จึงให้นางยักษ์ไปพักอาศัยในบ้านของกุลธิดา แล้วให้กุลธิดาเป็นผู้หาอาหารมามอบให้คือข้าวสุก จากนั้นนางยักษ์และกุลธิดาจึงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน
อรรถกถา คาถาธรรมบทได้เล่าย้อนกลับไปเมื่ออดีตชาติของกุลธิดาและนางยักษ์ว่า ครั้งกุลธิดาเกิดเป็นภรรยาหลวง นางยักษ์เป็นภรรยาน้อย ภรรยาหลวงเป็นหมันจึงวางยาพิษให้ภรรยาน้อยแท้งลูกถึงสามครั้งจนนางตาย ภรรยาน้อยจึงผูกพยาบาทขอจองเวรภรรยาไปทุกชาติ เมื่อภรรยาหลวงเกิดเป็นแม่ไก่ ภรรยาน้อยเกิดเป็นแม่แมว ก็กินไข่ของแม่ไก่ไปถึงสามครั้งรวมถึงแม่ไก่ด้วย ต่อมาแม่ไก่เกิดเป็นแม่เสือ ส่วนแม่แมวเกิดเป็นกวาง แม่เสือก็ไล่กินลูกของแม่กวางถึงสามครั้ง รวมถึงแม่กวางด้วย เป็นเช่นนี้สลับกันไปกันมาไม่มีสิ้นสุด

การจองเวรต่อกันข้ามภพข้ามชาติของภรรยาหลวงและภรรยาน้อยได้มาสิ้นสุดลงในสมัยของพระสมณโคดมนั่นเอง พระพุทธศาสนามีเรื่องการจองเวรอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องพระเจ้าพิมพิสารกับพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอริกับพระบิดามาตั้งแต่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางเวเทหิ หลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระองค์ก็ถูกพระโอรสสังหาร
แม้แต่พระพุทธเจ้าเองครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงคิดจองเวร เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งพระพุทธองค์เป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น เจ้าชายนามว่า “ทีฆาวุกุมาร” พระบิดาและพระมารดาถูกพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชจับตัวไป และสั่งประหารทั้งสองพระองค์ พระบิดาได้สั่งสอนพระโพธิสัตว์ว่า
“ลูกเอ่ย เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว และอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวรเลย เวรทั้งหลายระงับได้เพราะการไม่จองเวร“
เจ้าชายทีฆาวุกุมารเจ็บแค้นพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชที่ทรงประหารพระบิดาและพระมารดา พระองค์รอโอกาสจะเอาคืนจนกระทั่งพระองค์เจริญวัยและได้เข้ามาเป็นองครักษ์ โดยที่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเองก็ไม่ล่วงรู้ วันหนึ่งทีฆาวุกุมารได้โอกาสจะสังหารพระองค์ แต่เมื่อรำลึกถึงคำสอนของพระบิดา จึงปล่อยวางจากความแค้น
ความหมายของโอวาทแห่งพระบิดามีความหมายว่า “อย่าเห็นแก่ยาว” หมายถึงอย่าจองเวรให้ยืดเยื้อ “อย่าเห็นแก่สั้น” หมายถึง อย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก “เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวรเลย” หมายถึง ถ้าทีฆาวุกุมารตามสังหารพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชต่อไป ลูกหลานของพระองค์ย่อมจองเวรตามสังหารทีฆาวุกุมารต่อไป และลูกหลานของทีฆาวุกุมารก็จะตามฆ่าลูกหลานของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จะเป็นเช่นนี้สืบต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น “ เวรทั้งหลายระงับได้เพราะการไม่จองเวร “ หากเลิกความเคียดแค้นจองเวรลงได้ วงจรแห่งการจองวรจะยุติลงเมื่อนั้น
อารมณ์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน เมื่อมีคนมาทำไม่ดีต่อเรา เราย่อมอยากทำสิ่งนั้นตอบกลับ ซึ่งสิ่งนี้พระพุทธเจ้าทรงเคยรู้สึกมาก่อนตอนเสวยพระชาติเป็นทีฆาวุกุมาร แต่ผลที่ตามคือ ทำให้เราต้องถูกเขาทำกลับเช่นกัน แล้วเราต้องทำเขากลับอีก หากผูกพยาบาทจองเวรต่อกันอีก วงจรนี้ก็จะเกิดขึ้นสืบไปอย่างไม่จบสิ้น การตัดจากวงจรนี้ได้คือการให้อภัย ดังที่ทีฆาวุกุมารและนางยักษ์ได้ทำไปนั่นเอง
ที่มา
อรรถกถา คาถาธรรมบท กาลียักษิณี
ภาพ
http://storyuponme.blogspot.com
บทความน่าสนใจ
ยักษิณี “กาลี” ผู้บรรลุโสดาปัตติผลได้ด้วยการเลิกจองเวร
เจ้าชายผู้ชนะความโกรธ นิทานธรรมะสอนเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
ลีลาแห่งกรรมและการให้ผลของกรรม โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ดับความโกรธ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า
เหตุเกิดจากความอาฆาตแค้นของแม่ครัว ที่มีต่อสุนัขจอมขโมยเนื้อหมู
วิบากกรรมแห่งวจีทุจริต เราเผลอกันไปมากน้อยแค่ไหนแล้วกับบาปนี้