รู้มั้ย! สเต็ปแรกของการมีความสุข คือการ เปลี่ยนความคิด
เมื่อปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่ หลายคนต่างดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสุข พร้อมอธิษฐานให้กับตัวเองขอให้เป็นปีนี้เป็นปีที่ดี ที่จะได้กลายเป็นคนใหม่ ทิ้งอะไรเดิมๆ พร้อมใช้ชีวิตกับสิ่งรอบข้างได้อย่างมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้ชีวิตของเรามีสุขอย่างแท้จริงล่ะ? วันนี้ GoodLife ขอพาทุกคนไปตามหาผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการลองปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด เพื่อชีวิตที่ดีอย่างเห็นได้ชัด
ทำอย่างไรถึงจะมี “ความสุข”
หลายๆ คนอาจจะคิดว่าแค่มี “เงิน” เราก็สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้แล้ว แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงความต้องการของมนุษย์ การใช้เงินซื้อความสุขเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนถาวร เพราะเงินนั้นมีวันหมดไป
แล้วอะไรคือตัวสร้างความสุขให้กับเราทุกคนล่ะ?
แท้จริงแล้ว คนเรามีความสุขได้ง่ายๆ จากคนรอบข้างและสภาพแวดล้อมรอบตัว อย่างที่ อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)” เพราะมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้เพียงลำพัง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุขให้กับตนเองอยู่เสมอ
สอดคล้องกับทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่อธิบายถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ มิตรภาพ และความรักต่อคนรอบข้างไว้ว่า เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งจะขวนขวายหาความสุขนั้นจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้างๆ ตลอดเวลา
แล้วเราจะบริหารความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างได้อย่างไรล่ะ?
เปลี่ยนความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ด้วยการปรับ Mindset ของตัวเราเอง
เมื่อคนสองคนเกิดมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันย่อมก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือทางลบ
เรามักจะคิดว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกัน
แท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงปลายทางของการแสดงออกซึ่งไม่ใช่คำตอบสู่การเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงลึกที่ยั่งยืน แต่เบื้องหลังอันเป็นพื้นฐานคือ “ความคิด” ของเราที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนทุกพฤติกรรมของมนุษย์
ดร. เทอรี่ วอร์เนอร์ (Dr. Terry Warner) อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
มนุษย์เรามีการกำหนด Mindset หรือ วิธีการมองโลกและสภาพแวดล้อมรอบข้าง ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- Inward Mindset คือ การมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ และเห็นคนอื่นแค่เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นพาหนะสู่เป้าหมายของตนเอง เป็นอุปสรรคและสิ่งกีดกั้นการมีความสุขของตนเอง หรือแม้แต่เป็นแค่สิ่งไร้ค่า ไร้ตัวตน ไร้ซึ่งความสำคัญ ตรงกันข้ามกับข้อที่ 2
- Outward Mindset เป็นการมองคนรอบข้างเป็นเห็นคนเป็นคนและให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเราเอง
การมองโลกผ่านเลนส์ทั้งสองแบบนี้ให้ “ผลลัพธ์” ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เป้าหมายของเรา “ใหญ่” ที่สุด จนทำให้เรา “เห็นแก่ตัว”
การมองโลกแบบ Inward Mindset จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบ ที่ส่งผ่านคำพูดและภาษากายไปยังผู้คนรอบข้าง ซึ่งคนรอบข้างเหล่านั้นก็สามารถรับรู้ได้ถึงพฤติกรรมนี้ของเราเช่นกัน และพวกเขาจะเริ่มปฏิบัติต่อเราในทิศทางเดียวกัน
เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดเป็นวงจรแห่ง “การกล่าวโทษ” ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเราและคนรอบข้างแย่ลงเรื่อยๆ โดยที่ตัวเราเองก็ไม่ฉุกคิด หรือ ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านี่คือสิ่งที่เราต้องรีบแก้ไข ต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
เพราะเลนส์แบบ Inward Mindset ได้ผลักให้เราเข้าไปอยู่ในกล่องที่เห็นแต่ตัวเอง และบิดเบือนไปจากความเป็นจริงเรียบร้อยแล้ว
มองโลกตามความเป็นจริง ว่าทุกคนก็เป็น “มนุษย์” เหมือนกัน
ในขณะที่การมองโลกผ่านเลนส์ Outward Mindset จะทำให้เราเห็นโลกตามความเป็นจริง และเริ่มปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้า ในแบบที่เห็นเขาเป็น “มนุษย์” คนหนึ่ง
เราจะมองคนรอบข้างเป็นมนุษย์ ซึ่งสามารถมีความปรารถนา เป้าหมาย และ ความต้องการที่จะมีความสุขที่ไม่ต่างจากตัวเรา ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการช่วยเหลือ และ มุ่งเน้นประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งยินดีช่วยเหลือทุกคนอย่างสุดความสามารถ
ผลลัพธ์ คือ ความสุขที่เบ่งบานทั้งในใจของเราและคนรอบข้างร่วมกันแบบทวีคูณ
ยกตัวอย่าง
สถานการณ์ความแตกต่างระหว่าง Inward และ Outward Mindset ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
หัวหน้าที่มี Inward Mindset จะมองลูกน้องเป็นเพียงวัตถุหรือพาหนะสู่ผลประโยชน์ของทีม หรือแม้แต่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมเชิงลบที่ไม่เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการคอยจับผิดและกล่าวโทษอย่างรุนแรง การควบคุมการทำงานแบบไม่เปิดรับความคิดเห็น หรือการเพิกเฉยและไม่สนใจลูกน้องคนนั้นว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในทีม ที่จะส่งผลเชิงลบในการบั่นทอนความสามารถและประสิทธิภาพการทำงาน
อาทิ การหมดไฟในการทำงานและรู้สึกหดหู่จนอาจถึงขั้นต้องหางานใหม่ เกิดเป็นภาวะสมองไหล หรือในกรณีที่แย่กว่านั้นคือลูกน้องตั้งตนเป็นศัตรูกับเจ้านาย เกิดการหันหลังคุยกันและใช้มาตราการแรงมาแรงกลับ ซึ่งส่งผลต่อทีมองค์รวมและองค์กรแบบหยั่งรากลึก
ตรงข้ามกับหัวหน้าแบบ Outward Mindset ที่จะมองลูกน้องทุกคนเป็นคนที่มีความต้องการและเป้าหมายชีวิตที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของตัวเอง ส่งผลให้การแสดงออกที่เต็มไปด้วยความหวังดี ที่อยากให้เขาพัฒนายิ่งขึ้นหรือก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้จริงๆ ช่วยให้ลูกน้องพัฒนาศักยภาพหรือพร้อมทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเต็มใจ และใช้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความสุข
นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเอากระบวนการมองโลกแบบ Outward Mindset มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ชีวิตมีความสุขมากยิ่งขึ้น อาทิ
- เริ่มปรับลดความหงุดหงิดรำคาญใจในช่วงวันหยุดเทศกาลที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน เพียงปรับการมองโลกเป็นแบบ Outward Mindset ที่มองผู้คนที่กำลังเดินเบียดเสียดกับตัวเรา หรือคนเดินทะเล่อทะล่าเข้ามาในเฟรมถ่ายรูปของเรา ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ต้องการดื่มด่ำและเก็บภาพบรรยากาศแห่งความสุขนี้ไว้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นเราจะหงุดหงิดใจหรือแม้แต่ส่งเสียงไม่พอใจดุด่าเขาเหล่านั้นไปทำไม ในเมื่อเราสามารถแบ่งปันช่วงเวลาเหล่านี้ให้กับตัวเราพร้อมกับทุกๆ คนได้
- สถานการณ์ในบ้าน ที่ต่างคนต่างทำงานของตนเองให้เสร็จก่อนวันหยุดรับปีใหม่ จนอาจละเลยหน้าที่ในบ้านบางอย่าง เช่น การกวาดพื้น หรือล้างห้องน้ำ ไปบ้าง ซึ่งถ้ามองทุกคนผ่าน Inward Mindset จะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจจากการขาดความรับผิดชอบของสมาชิกในบ้านจนอาจเกิดปากเสียงกันเป็นระยะๆ แต่หากเราปรับมุมมองผ่าน Outward Mindset เราจะพร้อมให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างสุดความสามารถ และเอาใจช่วยทุกคนให้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผลลัพธ์คือทุกคนมีเวลาได้ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านอย่างมีความสุขตลอดเทศกาลวันหยุดอย่างเต็มที่ไปพร้อมกัน
การปรับเปลี่ยน Mindset จึงเปรียบเสมือนการปรับเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก มองตัวเรา และมองคนอื่น ซึ่งจะมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และการทำงานได้อย่างเป็นสุขในทุกสถานการณ์
การมองโลก Inward และ Outward Mindset สามารถเกิดกับเราทุกคนในทุกวินาทีของจังหวะชีวิต ดังนั้น เราจึงควรมีสติและฝึกใช้ Outward Mindset ทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเปลี่ยนคุณให้เป็นคนใหม่ที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตกับสิ่งรอบข้างมากขึ้นกว่าเดิม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้นำหลักสูตร “Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต” เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย
บทความโดย: พิระดา ธรรมวีระพงษ์
Author: Pirada Tumweerapong
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- 4 เป้าหมาย พัฒนาตัวเอง จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนชีวิตไปอีกขั้น
- 4 วิธีเปิดใจให้หันมามองเห็น คุณค่าในตัวเองมากขึ้น เริ่มได้จากการ มองโลกในแง่ดี
- ปีใหม่ เราคนใหม่! ด้วย วิธีเปลี่ยนตัวเอง ให้คิดบวกและเข้มแข็งกว่าที่เคย
- หลักจิตวิทยาคนทำงาน กับบันได 6 ขั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ!
- 5 สัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาต้อง เปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วล่ะ!
- 5 วิธีมีสติ ใช้ชีวิตอย่างคนฉลาด เพื่อเปลี่ยนเราให้เป็นคนใหม่
- 5 วิธีเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อเริ่มใหม่ในปี 2021
- 5 Tips ดูแลตัวเอง ในแบบที่ร่างกายและจิตใจต้องการ ‘จากคุณ’