ยอมรับผิด ให้ได้ มีผลดีกว่าที่คิด
การถูกตำหนิว่าตัวเรามีข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก ยิ่งในคนที่มักมองตัวเองในแง่ดี คิดว่าตัวเองถูกเสมอ ตนเองดีแล้ว จะเป็นกลุ่มคนที่รับการถูกตำหนิได้ยากกว่าคนทั่วไป หนึ่งในวิธีการรับมือการถูกตำหนิ คือการคิดพิจารณา และ ยอมรับผิด ให้เป็น มาดูรายละเอียดที่แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตแนะนำกันเลยค่ะ
อย่าเพิ่งรีบต่อต้าน แก้ตัว
ทั้งกับผู้อื่นและตนเอง ระวังการพยายามหาเหตุผลให้ตัวเองว่าตัวเองดีแล้ว เพราะการทำแบบนั้นจะเสียโอกาสการพัฒนาตนเอง และยิ่งทำให้จิตใจรุ่มร้อนมากขึ้น ไม่สงบจากการไม่ยอมรับข้อเท็จจริงบางอย่างที่อาจแฝงอยู่ในคำตำหนินั้น
ฝึกเปิดใจ
ฝึกฝนนำคำตำหนิมาไตร่ตรองด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นกลาง ด้วยเทคนิคบุคคลที่ 3 คือ การถอยออกมามองสถานการณ์นั้นใหม่ โดยฝึกมองเหตุการณ์นั้นในฐานะบุคคลที่ 3 ที่เห็นเหตุการณ์นั้นทั้งหมด
หลายครั้งเราจะมีมุมมองกับสถานการณ์นั้นเปลี่ยนไป เราจะเห็นทั้งสองฝั่ง เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เราจะเป็นกลางและเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น การเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นด้วยใขที่เป็นกลางและเปิดรับ เป็นต้นทางของการนำวิกฤตมาเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา
ฝึกตั้งสติ
เวลาถูกตำหนิมักจะโกรธและไม่พอใจ เกิดเป็นโทสะ บ่น ด่า ตัดพ้อ ความรุนแรงเป็นได้ตั้งแต่บ่นกับตนเองหรือบ่นลงสื่อโซเชียล หรือบางคนรุนแรงจนถึงขั้นด่าทอต่อว่าจนถึงทำร้ายร่างกายกัน
การกระทำทั้งหมดเกิดจากการขาดสติ และการกระทำลงไปด้วยอารมณ์แค้นหรือโกรธมักส่งผลกระทบตามมาในแง่เสียหายมากกว่าในแง่ดี
การตั้งสติ สูดลมหายใจลึก ๆ ลดความร้อนของกายและใจลง จะช่วยให้จัดการกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
ฝึกยอมรับความผิดพลาด
ในการถูกตำหนิเราจะได้ข้อมูลมาว่าเราผิดพลาดจุดนั้นจุดนี้ หลังจากที่เราได้ดำเนินการข้อ 1-3 คือ ไม่ต่อต้าน-ไม่แก้ตัว เปิดใจ และตั้งสติ ก็มาถึงข้อสำคัญคือ การนำข้อมูลที่ได้จากการถูกตำหนิมาพิจารณาว่าเรามีความผิดพลาดตรงไหนบ้าง
ใน 10 ส่วนที่เขาพูด อาจมีส่วนที่พูดเกินจริงไปบางส่วน แต่ก็อาจมีส่วนที่ตรงกับความจริงแฝงอยู่เช่นกัน เช่น ใน 10 ส่วนที่เขาพูด เขาอาจพูดเกินจริงไป 9 ส่วนและจริง 1 ส่วน
การพิจารณาว่า 1 ส่วนที่ผิดพลาดไปนั้น มีอะไรที่เราสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวเราในระยะยาว ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ มองความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้และหยิบมาแก้ไขเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเราเสมอ
(ข้อมูลจาก : คอลัมน์ Mind Update นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 525)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
BRAIN CARING TIPS วิธีดูแลสมอง 10 ประการ