พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ ตำรวจใจเหล็ก…ผู้กล้าแห่งนราธิวาส
หากจ่าเพียรขาเหล็กคือวีรบุรุษแห่งบันนังสตา วีรบุรุษแห่งระแงะคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส* พื้นที่สีแดงที่ไม่ว่าใครก็ไม่กล้าย่างก้าวเข้าไป
ทว่าสำหรับ พล.ต.ต.นพดลแล้ว…นราธิวาสคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สถานที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…จุดริเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชนมากมาย
“การที่เรามีโอกาสไปรับราชการ ไปดูแลชาวบ้าน ดูแลโครงการของพระองค์ท่านในพื้นที่นั้นถือว่าเป็นกุศล ผมจะพูดเสมอว่า แผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์ ต้องช่วยกันดูแลพระองค์ท่านเหน็ดเหนื่อยมามากแล้วถึงวาระของเราที่จะแบ่งเบาท่านบ้าง
“ผมเรียนที่โรงเรียนไกลกังวลมาตั้งแต่เด็ก จำเนื้อเพลง ‘ข้าพระบาทนักเรียนไกลกังวลนั้น แม้ชีวันสละได้เพื่อไท้เอย’ ได้ขึ้นใจ เลยมีความผูกพันกับสถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์
“พอโตขึ้นพ่ออยากให้ทำงานการรถไฟแต่ผมอยากเป็นตำรวจ…อยากจะได้ตอบแทนแผ่นดิน เลยไปสอบเข้านายร้อย พอเรียนจบก็ขอไปประจำการที่ภาคใต้”
เริ่มแรก ร.ต.อ.นพดลรับราชการอยู่จังหวัดสงขลา ก่อนจะได้เข้าไปเป็นตำรวจฝ่ายปกครองนักเรียนนายร้อย กลายเป็น “ผู้กองป๋อง”…อาจารย์ที่ “นำ” นักเรียนทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะวิ่ง ฝึกหรือแม้แต่ตอนกระโดดร่มชูชีพ
“ตำรวจเป็นอาชีพที่ทำบุญกุศลได้ทุกวันแต่น่าเสียดายที่หลายคนไม่ได้นึกถึงจุดนี้การจราจรติดขัดก็ช่วยเขาโบกรถได้ มีคนไม่ดีก็ช่วยจับเข้าคุกได้ ทั้งหมดนี้กุศลทั้งนั้น”
4 ปีถัดมา ร.ต.อ.นพดลขอย้ายไปจังหวัดนราธิวาสทันทีที่มีตำแหน่งว่าง แม้ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะเป็นจุดเสี่ยงก็ตาม…ผลจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ “ผู้กองป๋อง”ได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนราธิวาส
แม้ด้วยสถานะที่เป็นถึง “รองผู้บังคับการ” และสามารถนั่งโต๊ะได้ แต่ พ.ต.อ.นพดลกลับเลือกสวมใส่เครื่องแบบตำรวจลงตรวจพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะรู้ว่าการลงพื้นที่แต่ละครั้งมีความเสี่ยงมากก็ตาม
“ที่แต่งชุดตำรวจลงพื้นที่ตลอด เพราะเครื่องแบบคืออำนาจรัฐ อำนาจรัฐอยู่ได้ทุกที่ไม่ว่าจะพื้นที่เสี่ยงภัยยังไงก็ต้องเข้าให้ถึงเขาจะทำอะไรเราก็ไม่เป็นไร…แค่ตายคาเครื่องแบบเท่านั้น นั่นคือเกียรติยศเพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวตาย
“ส่วนมากที่ลงพื้นที่เพราะชาวบ้านยังต้องการเรา พี่น้องประชาชนยังอยู่นอกที่ทำการ เราต้องออกไปหาเขา…อยากให้เขารัก เราต้องให้ พอชาวบ้านขาดอะไร ผมจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปช่วย เพราะเรามีทรัพยากร มีรถ คน กำลังวังชา สามารถที่จะช่วยได้
“เวลาจะทำกิจกรรมอะไร เราต้องทำร่วมกับชาวบ้าน ไม่ทำตัวเป็นพระเอกฝ่ายเดียว แต่ต้องเหนื่อยร่วมกัน พอทำแบบนี้ก็จะเกิดเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน”
ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาสจึงมักเห็น “รองฯ” ไปโบกรถตามสี่แยกไฟแดงบ้าง ช่วยแม่ค้าขายของบ้าง หรือพาลูกน้องแวะเวียนไปที่งานศพบ้าง บางคราก็มาชักชวนชาวบ้านช่วยกันทาสีรั้วโรงเรียน ตัดแต่งต้นไม้ริมถนน งานวัดงานบุญก็พาตำรวจไปเก็บขยะ ทำความสะอาดวัด จนทั่วทั้งอำเภอไม่มีใครไม่รู้จัก “ท่านรองฯ” คนนี้
“สิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นเกราะให้เราได้คือพี่น้องประชาชน ถ้าเขาชอบเรา เขาก็จะเชื่อและช่วยเรา ดังนั้นอย่าไปคิดว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งอะไร แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือชาวบ้านได้บ้าง”
18 เมษายน 2550 คืออีกวันที่ตำรวจนายนี้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ก่อนจะได้รับแจ้งว่ามีเหตุระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงในอำเภอระแงะ เขาจึงลงพื้นที่ไปตรวจด้วยตัวเอง
“ตูม” เสียงระเบิดดังกึกก้องทันทีที่ขาซ้ายเหยียบลงไปบนกับระเบิด ตัวของเขาลอยขึ้นเหนือพื้นจากแรงอัดของระเบิดท่ามกลางสายตาตกตะลึงของเจ้าหน้าที่ทุกคน
“รองฯ ตายแล้ว! รองฯตายแล้ว!” เสียงตะโกนจากลูกน้องดังแว่วเข้าหู เขาส่งเสียงแหบเครือจากลำคอที่แห้งผากเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าตนยังไม่ตาย เจ้าหน้าที่ทุกนายจึงช่วยกันแบก “ท่านรองฯ” ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งโรงพยาบาล
“อึดอัดขาซ้าย…ถอดรองเท้าให้หน่อย”ลูกน้องแต่ละคนต่างมองหน้ากัน น้ำตาคลอเบ้า วินาทีนั้นทำให้เขาได้ตระหนักว่า…ขาซ้ายของเขาไม่อยู่แล้ว…
“สู้ สู้ สู้” ทันทีที่เฮลิคอปเตอร์แตะถึงพื้นดิน เสียงตะโกนให้กำลังใจจากหมู่ชนที่มารวมตัวกันกว่า 200 คนดังแว่วเข้าหู แม้อาการทางกายจะสาหัส แต่กำลังใจของเขาเต็มอิ่มยิ่งกว่าสิ่งใด
“หมออย่าให้ผมตายนะ…ผมจะกลับมาทำงานใหม่” นี่คือคำขอร้องสุดท้ายจากเขาก่อนที่สติจะดับวูบไป
ท่ามกลางความหวั่นใจกับอาการของ “ท่านรองฯ” ชาวไทยพุทธ คริสต์และอิสลาม ต่างแห่กันไปบริจาคเลือดที่โรงพยาบาล ก่อนสวดมนต์ภาวนาและสวดขอพรจากพระเจ้าให้ตำรวจใจเพชรคนนี้รอดปลอดภัยและหายจากอาการบาดเจ็บในเร็ววัน
พ.ต.อ.นพดลโดนระเบิดเข้าที่ขาซ้ายอย่างแรง ส่งผลให้ขาซ้ายขาดตั้งแต่ใต้เข่าลงไป มือซ้ายเกือบต้องถูกตัด กระดูกข้อมือแตก เนื้อหลังมือแหลกละเอียด ขาขวาถูกทำลายจนเนื้อแหว่งไปหลายส่วน
“ตอนจิตแพทย์มาตรวจเช็กสภาพจิตใจ ผมบอกเขาว่า ‘จะเสียอะไรก็เสียไปแต่ผมจะไม่เสียจิตใจของผม…ผมเลือกแล้วที่จะปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม่เป็นไร หมอช่วยรักษาบาดแผลให้เร็วที่สุดก็พอ…ผมจะได้กลับไปทำงานต่อ’”
เหตุการณ์ระทึกขวัญผ่านพ้นไป 6 ปีแล้ว เขามีขาเทียมมาแทนขาซ้ายข้างเก่า มีแขนซ้ายที่สั้นกว่าเดิม มีสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ที่แขนคอยย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ที่เกือบคร่าชีวิตเขาไป และมีขาขวาเป็นขาหลักขาเดียวที่พาเขาไปไหนมาไหน แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่า “หัวใจ” ที่ยังคงมีความสุขในการทำงาน แม้อวัยวะบางส่วนจะใช้การแทบไม่ได้แล้วก็ตาม
“ตอนเกิดเรื่องผมไม่เคยร้องไห้ฟูมฟายส่วนมากผมจะเป็นคนให้กำลังใจคนที่มาเยี่ยมมากกว่า” “ท่านรองฯ” หัวเราะก่อนจะเสริมว่า “ผมยังโชคดี มือและขายังใช้ได้บ้าง แต่ถึงไม่มีมือไม่มีขา ถ้ายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องสู้ต่อไป ผมไม่มีวันยอมแพ้
“ผมตระหนักอยู่เสมอว่า ที่อยู่มาได้จนถึงตอนนี้เพราะเลือดของพี่น้องประชาชนดังนั้นตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลมา ผมทำงานตลอดไม่เคยหยุด เพราะเมื่อมีโอกาสเราควรทำประโยชน์ให้เต็มที่ ไม่ให้เสียโอกาสที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินไทย”
ปัจจุบัน นอกจาก พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ จะได้กลับไปทำงานที่รักยิ่งแล้ว ยังได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นนายตำรวจราชสำนักและได้รับรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย
แม้ พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณจะไม่ยอมรับคำว่า “วีรบุรษ” ด้วยเห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่น่ายกย่องยิ่งกว่า แต่สำหรับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะชาวใต้แล้วชื่อของนายตำรวจผู้เสียสละเพื่อชาติคนนี้ได้ประทับอยู่ในใจของพวกเขาในฐานะ“วีรบุรุษผู้กล้าหาญ” มานานแสนนานแล้ว
บทความน่าสนใจ
แค่สุขที่ได้ช่วย “ตำรวจช่าง” ฮีโร่แห่งท้องถนน
ตำรวจแคนาดาใจดี ซื้อสูทให้หัวขโมยใส่ไปสัมภาษณ์งาน
ตำรวจใจบุญ รับอุปการะเด็กชายเหยื่อจากคดีทารุณกรรมเด็ก
ตำรวจจอร์เจียอบอุ่น โอบกอดเด็กน้อยในโรงพยาบาล แทนอ้อมกอดของพ่อแม่
ตำรวจจราจรเก็บขยะ ถ้าใจสะอาดก็ไม่มีอาชีพไหน สกปรก