เรื่อง ว.วชิรเมธี
ดิฉันทรมานกับการเป็นโรคซึมเศร้ามากค่ะ เป็นโรคนี้ตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ แต่คิดฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุ 15 และพยายามทำมาเรื่อยๆ จนล่าสุดเกือบจะสำเร็จค่ะ ทรมานมาก แต่คุณหมอช่วยชีวิตไว้ โดยส่วนตัวแล้วแม่จะพาเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ พอโตขึ้นก็เข้าวัดสวดมนต์เอง มีจิตใจที่ดี แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีแต่ความเศร้าถึงขนาดคิดจะฆ่าตัวตายอยู่ตลอด ตอนนี้ดิฉันอายุ 30 แล้วก็ยังนั่งซึมและร้องไห้ทุกวัน ดิฉันไม่กล้าออกไปพบใคร ไม่ทำงานนอกบ้าน เพราะออกไปก็เจอความกดดันของสังคม ดิฉันรับไม่ไหว สับสนตัวเองมากค่ะ การสวดมนต์หรืออ่านหนังสือธรรมะก็เอาไม่อยู่ ดิฉันรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวบนโลกนี้ ไม่อาบน้ำไม่สระผม อาการน่ากลัวค่ะ ดิฉันกำลังจะทำร้ายตัวเองอีกครั้ง ดิฉันกลัวว่าจะตายจริงๆ ค่ะ ใจจริงดิฉันยังไม่อยากตาย เพราะอยากอยู่ดูแลพ่อแม่ อยากจะสร้างบ้านให้ท่าน ทำให้ท่านมีความสุขมากกว่านี้ แต่การที่ดิฉันเป็นอย่างนี้ทำให้ทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ดิฉันขอคำแนะนำเพื่อเป็นทางออกของชีวิตด้วยค่ะ
อาการของโรคซึมเศร้านั้นคงมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ แต่สาเหตุสำคัญที่สุดก็คงมาจาก “จิต” นั่นเอง
ธรรมชาติของจิตจำเป็นจะต้องเกาะติดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ถ้าจิตเกาะติดกับอารมณ์ (เรื่องราว) ร้ายๆ เช่น ความทรงจำในอดีตที่ไม่ดี ก็จะทำให้เกิดอาการ “จิตตก” เมื่อจิตตก ผลที่ตามมาก็คือ ความหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง เศร้าสร้อย หมดอาลัยตายอยาก ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เกาะเกี่ยวกับใครไม่ติด มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความว่างเปล่า หนักเข้าก็อาจถึงขั้นลุกขึ้นมาทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน หากจิตเกาะเกี่ยวหรือหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ดีหรือเรื่องที่ดี ก็จะเกิดอาการที่ “จิตฟู” ขึ้นมาได้ ลักษณะของจิตฟูก็คือ เกิดความเชื่อมั่น มีกำลัง สดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ยิ้มแย้มผ่อนคลาย เอิบอิ่ม บางคราวรู้สึกเอิบอิ่มยินดีมากก็ถึงขั้นต้องเผยอยิ้มกับตัวเองหรือร้องไห้ด้วยความปีติสุขออกมาได้
ในกรณีของคุณนั้น ผู้เขียนไม่ทราบภูมิหลังมาก่อนว่าก่อนหน้าที่จะเกิดอาการซึมเศร้านั้น คุณเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร หรือใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมแบบไหน เคยเกี่ยวข้องกับใคร
ต้องไม่ลืมว่า โรคทุกโรคล้วนมีสมุฏฐาน ในโลกนี้ไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้นมาลอยๆ แม้แต่เพียงเรื่องเดียว
แต่ในเมื่อคุณไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ ผู้เขียนก็คงได้แต่สันนิษฐานกว้างๆ เพียงว่า เป็นผลมาจากสภาพ“จิตตก” แล้วขาดการ “ยกจิต” ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
ถ้าหากข้อสันนิษฐานของผู้เขียนถูกต้อง การยกจิตก็ทำได้ โดยการที่คุณต้องฝึก “อยู่กับปัจจุบัน” ให้ได้ เพราะ“อดีต” หรือ “อนาคต” จะมีตัวตนขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเกิดการ “ครุ่นคิด” ขึ้นมาเท่านั้น ลองสังเกตดูก็ได้ เวลาที่เราฟังเพลง อาบน้ำ ทำงานหนัก หรือคุยกับเพื่อน ความคิดหมกมุ่นในอดีตหรือความกังวลต่ออนาคตจะแทรกตัวเข้ามาไม่ได้ แต่พอเราอยู่เฉยๆ เท่านั้นเอง จิตก็จะเกาะเกี่ยวเอาอดีตหรือไม่ก็ฟุ้งไปในอนาคตทันที
ทางออกในกรณีของคุณก็คือ ควรฝึกเพื่อให้จิตเกิด“สมาธิ” คือความสงบและจิตเกิดปีติสุข แล้วพักจิตอยู่กับความปีติสุขนั้น ก็จะทำให้จิตเกิดมีกำลังขึ้นมา แล้วมีความสุขจากปีตินั้นคอยหล่อเลี้ยงให้จิตมีคุณภาพใหม่ๆ เช่น แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่หมกมุ่นกับความทุกข์ทั้งหลาย การที่จิตแนบอยู่กับสมาธิหรือปีติสุขเช่นนี้ จะทำให้จิตนั้นมีที่เกาะเกี่ยวในทางสูงหรือในทางบวก โอกาสที่อาการซึมเศร้าจะแทรกเข้ามาก็เป็นไปได้น้อยจะค่อยๆ มีคุณภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ
หรืออีกทางหนึ่งต้องฝึก “วิปัสสนา” เพื่อจิต “ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน” ให้มากที่สุด เมื่อจิตตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันไม่ฟุ้ง ไม่ลอยไปตกอยู่ในอารมณ์อดีตหรืออนาคต คุณภาพของจิตก็จะดีขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน
กล่าวกันว่า เมื่อแรกที่มหาโจรองคุลิมาลบวชนั้น ท่านทุกข์กับความหลังอันโหดร้ายของตัวเองมาก เพราะพอหลับตาลงก็เห็นแต่ภาพของการฆ่าฟัน ความรู้สึกผิด เกาะกุมใจของท่านจนไม่เป็นอันภาวนา ท่านทุกข์ถึงกับมาเฝ้าขอคำแนะนำเป็นพิเศษจากพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ทรงแนะกุศโลบายให้ท่านเจริญวิปัสสนากล่าวคือ ฝึกการตามดู ตามรู้ลมหายใจ (กาย) ความรู้สึก (เวทนา) ความคิด (จิต) และสภาพความกระเพื่อมไหวในลักษณะต่างๆ ของจิต (ธรรม) เมื่อท่านเพียรฝึกอยู่จิตก็เกิดการเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันมากขึ้นๆ จนในที่สุดจิตของท่านก็ดีดตัวขาดผึงออกมาจากอดีต ท่านกลายเป็นคนของปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีวันวาน ไม่มีวันพรุ่งนี้มีแต่วันนี้หรือขณะจิตเดียวนี้เท่านั้น พอท่านทำได้ถึงขนาดนี้ ท่านก็หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง ถึงกับที่ท่านกล่าวว่า ตัวท่านเองซึ่งตื่นรู้ขึ้นมาแล้วนี้ ได้ค้นพบกับ “การเกิดใหม่” อีกครั้งหนึ่ง ท่านเรียกการเกิดใหม่นี้ว่า“อริยชาติ” คือ การเกิดอันประเสริฐ
การเกิดอันประเสริฐจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่เจริญวิปัสสนาจนจิตเกิดอาการตื่นตัวและตื่นรู้ คือหลุดพ้นจากการเกาะเกี่ยวเอาอดีตและอนาคตมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว การเจริญวิปัสสนานั้น คุณสามารถทำได้ด้วยการพยายามตระหนักรู้ดูอาการของกายที่เคลื่อนไหว (ลมหายใจหรือกายจริงๆ ที่เคลื่อนไหวทำโน่น – นี่ – นั่น) ความรู้สึก(ทุกข์ – สุข – เฉยๆ) ความคิด (ที่ฟุ้งไปในเรื่องราวต่างๆ)และความวูบไหวเปลี่ยนแปรอันเป็นคุณภาพของจิต (ธรรม)คุณเพียงแต่ “ลองจับตาดู” เท่านั้น ไม่ต้อง “ตั้งหน้าตั้งตาดู” แต่อย่างใด พยายามทำอย่างผ่อนคลาย ฝึกดูฝึกสังเกตกาย เวทนา จิต ธรรม ไปเถิด ทำไปเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ ถ้าจับจุดถูก คุณจะเห็นอาการของจิตที่วูบไหวไปในรูปแบบต่างๆ พอหาจิตเจอเท่านั้นแหละ ทีนี้คุณจะหลุดออกจากโรคซึมเศร้าได้ และจะมีของเล่นใหม่ที่ให้ความสุข ความสดชื่น ความสว่างโพลงแก่ชีวิตจิตใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการอยากฆ่าตัวตายจะหายไปอย่างเด็ดขาด
ที่พูดมานี้ พยายามพูดให้ง่ายที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าคุณจะเข้าใจหรือเปล่า ก็เลยอยากขอแนะนำอีกนิดหนึ่งว่า คุณควรหาโอกาสไปฝึกเจริญวิปัสสนากับสำนักต่างๆ ที่สอนการเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานสี่ดู เมื่อไปฝึกกลับมาแล้วลองกลับมาอ่านคำตอบนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วคุณจะเห็นว่าการออกจากเขาวงกตของโรคซึมเศร้านั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงๆ