วิธีขุดรากถอนโคน แก้ความโกรธ ที่ได้ผลดีที่สุด สูตรท่าน ว.วชิรเมธี
ท่านว.วชิรเมธี กล่าวว่า การที่ความโกรธเกิดขึ้นง่าย ๆ ก็เพราะมันมีเชื้ออ่อน ๆ อยู่แล้วในใจของเรา ในเมื่อเชื้อนั้นมีอยู่แล้ว พอใครไปรดน้ำเข้าเท่านั้น เชื้อนี้ก็จะงอกงาม เติบโตขึ้นมาแต่ถ้าไม่มีคนมารดน้ำ มันก็อยู่ต่อไปอย่างนั้นศักยภาพที่จะงอกนั้นมีอยู่ รอแค่เหตุปัจจัยที่เกื้อกูลเท่านั้น และนี่เป็นวิธีขุดรากถอนโคน แก้ความโกรธ ที่ได้ผลดีที่สุดที่ท่าน ว.วชิรเมธีแนะนำ
วิธีที่หนึ่ง กำหนดลมหายใจเข้า - ออก
การเจริญสติเพื่อที่จะบ่มเพาะความรู้สึกตัวในใจของเราคือการฝึกสมาธิ ซึ่งง่ายมาก เพราะว่าอุปกรณ์นี้ทุกคนมีอยู่แล้วนั่นคือ เราทุกคนมีลมหายใจ ขอให้ทุกคนหลับตา นั่งตัวตรง เอามือขวาของเราแตะไปตรงหน้าท้อง แล้วกำหนดลมหายใจ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ สังเกตให้ดี ถ้าเราหายใจเป็น ตอนหายใจเข้า ท้องเราจะพองออกมา ตอนหายใจออก ท้องก็จะยุบ
ลองหายใจเข้า หายใจออกดู เข้าพองออกยุบ ลองทำในความเงียบ หายใจลึก ๆเมื่อเราหายใจลึก ๆ ร่างกายจะผ่อนคลายเลือดจะสูบฉีดอย่างเป็นปกติ ความเร่าร้อนของอารมณ์จะลดลง ความฉุนเฉียวจะมลายหายไป แล้วเราจะมีสติมากขึ้น เราจะสามารถสอนตัวเองได้ ครูร้อยคนก็ไม่เท่าเราสอนตัวเองคนเดียว การสอนจากข้างในนั้นมีผลต่อชีวิตของเรายิ่งกว่าการบังคับบัญชาจากข้างนอกหลายเท่า การตามดูลมหายใจนั้นมีรายละเอียดของการฝึกอย่างเป็นแบบแผนอยู่ในอานาปานสติสูตรและมหาสติปัฏฐานสูตร ในที่นี้ขอประยุกต์มาให้ฝึกกันง่าย ๆ ในเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. เลือกหาที่สงบ
2. นั่งในท่าขัดสมาธิ หรือนั่งบนเก้าอี้ปล่อยขาสบาย ๆ (จะนอนบนเตียงหรือบนพื้นก็ได้)
3. วางมือประสานบนตัก
4. หลับตาลงอย่างผ่อนคลาย ยิ้มน้อย ๆ ที่ริมฝีปาก แล้วสังเกตดูลมหายใจ
หายใจเข้า รู้
หายใจออก รู้
หายใจเข้าท้องพอง รู้
หายใจออกท้องยุบ รู้
หายใจเข้าสั้น รู้
หายใจออกสั้น รู้
หายใจเข้ายาว รู้
หายใจออกยาว รู้
ขอแนะนำให้ทุกคนฝึกดูลมหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกลึก ๆ ทำอย่างนี้อย่างน้อย 3 ครั้งหลังอาหาร หรือทุก ๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่าความโกรธกำลังก่อตัวขึ้นในใจของเรา ทุกครั้งที่เรากลับมาหายใจ เหมือนเรากำลังสาดแสงแห่งสติเข้าไปที่ความมืด ซึ่งก็คือความโกรธในใจเรา ความมืดเมื่อพบกับแสงอาทิตย์ก็จะหายไปฉันใด เมื่อความโกรธพบกับแสงแห่งสติ ความโกรธก็จะอันตรธานไปฉันนั้น
วิธีที่สอง การเจริญสติในทุกอิริยาบถอยู่เสมอ
การเจริญสติด้วยการตามสังเกตดูลมหายใจนั้น แม้ว่าจะทำได้ง่ายก็จริง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อจำกัด คือต้องหาที่นั่งให้สบายจึงจะทำได้ ในที่นี้จึงขอแนะนำให้เจริญสติอีกแบบหนึ่งซึ่งทำได้ง่ายแต่ผ่อนคลายกว่า ง่ายและเป็นธรรมชาติกว่า นั่นคือการเจริญสติด้วยการตามดูความเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่งนอน ก็ให้เติมความ “รู้สึกตัว” ลงไปจนเกิดภาวะยืนก็รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอนอยู่ก็รู้ว่าเดิน นั่ง นอนอยู่ตลอดเวลา
หรือขณะกำลังเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยเช่น กำลังคู้แขน เหยียดแขน คู้แข้ง เหยียดแข้ง หันหน้า หันหลัง บิดตัว เอี้ยวคอกะพริบตา กำลังกิน กำลังเคี้ยว กำลังกลืนกำลังดื่ม กำลังเหลือบ กำลังแล กำลังจ้องกำลังมอง กำลังพิจารณา ทุกอิริยาบถย่อยของชีวิตที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เหล่านี้ หากเราเติมสติลงไปในลักษณะ “ทำอะไรอยู่ก็รู้”หรือ “ทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว” เต็มไปด้วยความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา การบ่มเพาะสติในทุกอิริยาบถอย่างนี้จะทำให้พลังแห่งสติเข้มแข็งและประจำการอยู่อย่างต่อเนื่อง เหมือนสายน้ำที่ไหลอย่างไม่ขาดสายก็จะกลายเป็นกระแสน้ำที่มีกำลังแรง เมื่อสติมีอยู่ ความโกรธก็ไม่มี
การเจริญสติจึงเป็นวิธีปิดประตูความโกรธอย่างถาวร
ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ SPIRITUAL JOURNEY ตอน “อย่ารดน้ำให้ความโกรธ” โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
ภาพ : https://pixabay.com
บทความน่าสนใจ
ธรรมเทพบุตร เทวดาผู้ยกย่องคุณแห่งความไม่โกรธ
เวเทหิ หญิงงามผู้เสียชื่อเพราะความโกรธ นิทานธรรมะจากพระโอษฐ์
ดับความโกรธ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า
เรื่องจริงของ การโกรธ เขา แล้วตัวเรามีแต่ความทุกข์
ยาระงับความโกรธ – นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล
Dhamma Daily: พ่อแม่มีนิสัยยึดมั่นถือมั่น และโกรธง่ายทำอย่างไรดี
ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็น คนโกรธง่าย เอาซะอย่างนั้น ?