สุขกับสิ่งใด ก็ทุกข์กับสิ่งนั้น บทความดีๆ จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
ชีวิตของปุถุชนย่อมแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อยังชีพ เมื่อได้ มี เป็น ในสิ่งที่ชอบก็หลงยินดีพอใจ มีความสุขกับสิ่งนั้น โดยมิได้ตระหนักว่าความสุขในสิ่งที่ได้นั้นจะนำความทุกข์มาให้ภายหลัง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้เพราะสิ่งต่าง ๆ ย่อมแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยและเดินทางไปสู่ความเก่า (แก่) ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมสลาย (ตาย) และพลัดพรากจากไปในที่สุดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นบุคคลหรือวัตถุสิ่งของซึ่งตนได้มีเป็นล้วนตกอยู่ในกฎธรรมชาตินี้ทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้หากเรายังยึดมั่นพันผูกกับสิ่งที่ยินดีพอใจหรือมีความสุขในสิ่งนั้นมากเท่าใด เมื่อถึงคราววิบัติหรือพลัดพรากจากไปก็จะทุกข์กับสิ่งนั้น ยิ่งรักมากก็ยิ่งทุกข์มาก
ในชีวิตประจำวันเราต่างได้ - เสียกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามามากมาย หากสิ่งนั้นเป็นที่ถูกใจมากก็รู้สึกตื่นเต้นยินดีมีความสุขกับการได้มา ครั้นใช้ไปหรือเสพไปนานวันก็เกิดความจำเจเคยชินจนรู้สึกเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หากมีใครมาขอก็ยกให้เขาไปหรือเอาไปบริจาคเป็นการกุศล เพื่อจะมีข้ออ้างในการซื้อของใหม่มาแทนที่
แต่ถ้าสิ่งนั้นยังรักและหวงแหนอยู่ก็จะไม่ยอมให้ใคร หากเสียก็หาทางซ่อมแซมแก้ไขครั้นต้องวิบัติพลัดพรากจากไปก็เสียดายถวิลหาด้วยความอาลัย อยากให้กลับคืนมาเหมือนเดิมเพราะยังยึดมั่นพันผูกในสิ่งนั้นอยู่
วิสัยของปุถุชนนั้น เมื่อรักใคร่พอใจในสิ่งใดก็อยากให้สิ่งนั้นคงสภาพหรือมีสถานะเช่นนั้นตลอดไป ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมหรือวิบัติพลัดพรากจากไป แต่ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกฎอนิจจัง ไม่อาจคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้
ผู้ที่ไม่อยากให้สิ่งที่ตนรักเปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นผู้ที่ถือเอาความต้องการของตนอยู่เหนือกฎธรรมชาติ ความต้องการเช่นนี้จะต้องผิดหวังอย่างแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงนั้นหากเป็นไปในทางที่ตนพึงพอใจก็ถือว่าเป็นความสุข หากเป็นไปในทางที่ตนไม่พึงพอใจก็ถือว่าเป็นความทุกข์แม้การเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้ตนเป็นสุข สิ่งนั้นก็จะเปลี่ยนต่อไปอีกไม่หยุดนิ่ง และในที่สุดแห่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ตนสัมพันธ์ด้วย จุดจบก็คือความตายส่วนสมบัติวัตถุเครื่องใช้ไม้สอยทั้งหลายที่ตนครอบครองอยู่ ที่สุดก็จะเปลี่ยนไปสู่ความชำรุดทรุดโทรมและกลายเป็นปรักหักพังไปในที่สุด
บางคนมีความสุขอยู่กับการมีครอบครัวที่อบอุ่น เช่น มีลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ที่ตนรักกับคนที่ตนรัก ย่อมหวงห่วงใยเป็นธรรมดา หลายคนห่วงอนาคตของลูก ห่วงความปลอดภัยของลูก ห่วงความประพฤติของลูก ยิ่งรักมากก็ยิ่งห่วงมาก ความห่วงใยล้วนนำความทุกข์มาให้ จึงเห็นได้ชัดว่าความสุขที่มีต่อลูกนั้น อีกด้านหนึ่งก็เป็นความทุกข์นั่นเอง
คนส่วนใหญ่มักมองสิ่งต่าง ๆ ไม่รอบด้าน เช่น รักชอบสิ่งไหนก็ว่าสิ่งนั้นดี ชิงชังสิ่งไหนก็ว่าสิ่งนั้นไม่ดี จึงไม่เห็นความเป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ ได้ครบถ้วน เพราะในดีก็มีเสียในเสียก็มีดี หรือไม่มีทั้งดีและเสีย ทำให้วางใจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่มีอยู่ปุถุชนจึงมากด้วยอคติ
ในทำนองเดียวกัน คนโดยทั่วไปเห็นว่าเหรียญมีเพียงสองด้าน คือด้านหัวกับด้านก้อย หากวางเหรียญไว้บนพื้นก็จะเห็นเพียงด้านเดียว ครั้นหงายกลับข้างก็เห็นอีกด้านเพียงด้านเดียวเช่นกัน เราชอบด้านไหนก็มักมองด้านนั้น
ความจริงแล้ว เหรียญมีสามด้านนอกจาก ด้านหัวด้านก้อย แล้ว ยังมี ด้านสันอยู่ตรงกลางเชื่อมโยงเหรียญทั้งสองด้านไว้ถ้าเราเอาด้านสันของเหรียญตั้งไว้ เราก็จะมองเห็นเหรียญทั้งสามด้านได้โดยที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งไปบังอีกด้านไว้
การเห็นและเข้าใจว่าเหรียญมีสามด้านสอนใจเราได้อย่างไร ในอดีตเราต่างปรารถนาความสุขและพยายามดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อแสวงหาความสุข นั่นเท่ากับว่าเรากำลังไขว่คว้าหาความทุกข์ด้วย เพราะสุขกับทุกข์อยู่ร่วมกันเหมือนหัวและก้อยอยู่ในเหรียญเดียวกัน
ถ้าเราวางใจอยู่กับด้านสันของเหรียญด้านที่เป็นกลางด้วย ใจที่เป็นกลาง สุขก็ไม่ต้องแสวงหา ทุกข์ก็ไม่ต้องแสวงหา มีชีวิตอยู่เพื่อทำหน้าที่ตามบทบาทที่ตนสัมพันธ์อยู่ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แม้สิ่งที่ได้มีเป็นจะสุขหรือทุกข์ จะได้หรือเสีย ก็ให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนและสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสัมพันธ์ด้วยผลออกมาเช่นใดก็วางใจเป็นกลาง หรือเป็นอุเบกขายอมรับได้
ยอมรับในผลที่เกิดขึ้น แต่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรคของชีวิต ถ้าผลออกมาไม่ดีก็เอาใหม่ ถ้ายังไม่สำเร็จก็ทำใหม่ ทำหน้าที่โดยไม่ท้อ พร้อมกับทำใจไม่ต้องทุกข์
สุขหรือความสำเร็จหากได้ มี เป็น ก็ไม่ยึดติดในทางลุ่มหลงมัวเมา เสียไปก็ไม่ยึดติดให้ต้องถวิลหาอาลัย ทุกข์ก็ไม่ยึดติดให้ต้องขุ่นข้องหมองใจ คับแค้นใจ แม้ทุกข์ผ่านไปก็ไม่ต้องลิงโลดใจ อยู่กับด้านสันของเหรียญโดยวางใจให้เป็นกลาง คือใจที่เป็นอุเบกขานั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขหรือทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจึงไม่อาจทำร้ายจิตใจเราได้
มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
หน้าที่สำคัญยิ่งคือการพัฒนาตนให้สูงขึ้น โดยใช้หลักธรรมพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นถูก
เมื่อจิตมีความเห็นถูก จะทำการสิ่งใดก็ถูกตามไปด้วย
เหมือนหัวกระบวนแห่งมรรควิ่งสู่ทางตรงแล้ว ก็จะนำพามรรคองค์อื่น ๆ ไปในเส้นทางตรงนั่นเอง
ที่สุดบนเส้นทางแห่งอริยมรรค ก็จะบรรลุถึงจุดหมายแห่งอริยผลโดยไม่ต้องสงสัยเลย
ที่มา นิตยสาร Secret