การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือ Aging Society เป็นประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางและถูกยกให้เป็นประเด็นที่ควรจับตาในหลายประเทศ เนื่องจากจำนวนสัดส่วนของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัจจัยทั้งด้านการผลิต จากการขาดแคลนแรงงาน และด้านการคลัง จากการที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ และการบริการทางสังคมแก่ผู้สูงวัยมากขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 9 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2573 โลกของเราจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งทวีปเอเชียจะเป็นทวีปที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดและเป็นประเทศแรก ๆ ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว (Super-aged Society)
ในขณะที่ประเทศไทย ก็กลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) เมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้หลายภาคส่วนหันมาร่วมมือกันผลักดันนโยบายเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี รองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะสังคมสูงวัยในประเทศไทย โดยมีโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่งก็คือ “โครงการเสริมสร้างระบบดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงวัยสุขภาพฟันดี 8020” หรือ “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” ซึ่งเห็นความสำคัญของสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เนื่องจากเรื่องสุขภาพช่องปาก เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา
ทพญ.วรางคนา เวชวิธี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ ฟันดี 8020 ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและที่มาของโครงการนี้ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปาก เป็นปัญหาหลักที่ผู้สูงวัยมักพบเจอรวมถึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น เมื่อผู้สูงอายุไม่มีฟันขบเคี้ยวอาหาร ทานอาหารไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ที่เพียงพอต่อร่างกาย ทำให้ขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาทางด้านสังคม ที่ผู้สูงวัยซึ่งสูญเสียฟันไม่กล้าออกไปพบเจอกับกลุ่มเพื่อน ไม่มีความมั่นใจในการออกงานสังคม ดังนั้นการส่งเสริมและส่งต่อความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการด้านทันตกรรมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผู้สูงวัยอายุ 80 ปี ควรเหลือฟันดีที่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้เฉลี่ย 20 ซี่ขึ้นไป จึงเป็นที่มาของโครงการ ฟันดี 8020
สำหรับในการดำเนินโครงการนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การลดการสูญเสียฟัน เพราะหากรอให้มีปัญหาแล้วไปรับบริการจะไม่ทันกาล การป้องกันจึงถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และได้มีการใช้พื้นที่นำร่อง 10 พื้นที่แล้ว คือ (ลำพูน, แพร่, สิงห์บุรี, นครปฐม, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี และ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 25 จุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่5 ห้วยขวาง กทม.) ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวม
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) กล่าวว่า สำหรับ สสส. ได้มีการเตรียมพร้อมในการผลักดันนโยบายเพื่อสร้างสุขภาวะให้แก่ประชากรกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อสร้างเสริมให้ประชากรกลุ่มนี้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ มีความสุขทั้งทางกายและใจ โดยมีข้อเสนอแนะและนโยบายที่จะขับเคลื่อนสังคมเพื่อการรองรับสังคมสูงวัยใน 4 ด้าน คือ สุขภาพ, สังคม, เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม โดยมีรายละเอียดคือ
สุขภาพ
– ให้ความสำคัญเรื่องภาวะสมองเสื่อม ซึ่งมีแนวโน้มที่ผู้วัยจะประสบกับปัญหานี้มากขึ้นในอนาคต โดยข้อมูลในปี 2565 พบว่ามี ผู้สูงวัยมีภาวะสมองเสื่อมมากถึง 7.7 แสนคน ส่วนในด้านของสุขภาพช่องปาก จากจำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ล้านคน พบว่ามีเพียง 609,355 คน หรือร้อยละ 5.78 ที่เข้าถึงการตรวจสุขภาพปากและฟัน
สังคม
– สนับสนุนชมรมผู้สูงวัย ส่งต่อหลักสูตรที่ผู้สูงวัยต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ เพื่อสร้างต้นแบบชมรมผู้สูงวัยที่ดีก่อนการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ บนพื้นฐานที่เชื่อว่าถ้าผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีเพื่อนวัยเดียวกัน ก็จะทำให้ผู้สังวัยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
เศรษฐกิจ
– เนื่องจากผู้สูงวัยมีสัดส่วนความยากจนในหลายมิติมากกว่าวัยอื่น ๆ เพราะขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมถึงเบี้ยยังชีพคนชราที่อยู่ในระดับ 600-1,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงมีความเปราะบางและขาดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สสส. จึงเข้าไปส่งเสริมทางเลือกทางด้านอาชีพให้กับผู้สูงวัยที่มีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพ
สภาพแวดล้อม
– การปรับที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงวัย มีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ แต่งบเหล่านี้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้ามระหว่างกองทุนต่าง ๆ ได้ และมีผู้สูงวัยอีกมากที่ยังมีความจำเป็นในการปรับปรุงและต่อเติมบ้านให้เหมาะสม สสส. จึงทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะปรับเงินสนับสนุนจากหลายหน่วยงานให้สามารถบูรณาการและทำงานร่วมกันได้ พร้อมกับการเสนอเพิ่มเพดานงบประมาณในการปรับปรุงบ้านให้กับผู้สูงวัย
สำหรับโครงการ “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบด้านสุขภาพที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัย และอาจนำไปสู่ปัญหาที่เชื่อมโยงกันอีกหลายด้าน เพราะฟันไม่ได้มีความหมายแค่การเคี้ยวหรือบดอาหารเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในด้านชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ซึ่ง สสส. เห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยผลักดันในเรื่องนี้เช่นกัน