บันได 3 ขั้นสู่การ บรรลุนิพพาน ด้วยตัวเอง
นิพพานคือประโยชร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา หลายคนก็เกิดแรงบันดาลใจขวนขวายปฏิบัติธรรมหวังจะ บรรลุนิพพาน ด้วยตัวเอง โดยคิดว่าไม่อยากรอชาติหน้าแล้ว อยากได้ประโยชน์จากนิพพานตอนนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่นิพพานโดยแท้จริงอย่างถูกวิธี ลองมาดูกันว่าหนทางบรรลุนิพพานด้วยตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง
ศีล ทำใจให้สะอาด
เรารักษาศีลเพื่อลดความเห็นแก่ตัว และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น สำหรับฆราวาสอาจเริ่มตัวด้วยศีล 5 หรือศีล 8 เป็นเครื่องมือทำให้ชีวิตสงบเย็นและเรียบง่าย
แต่ถึงแม้ศีลจะไม่สมบูรณ์ เราก็ไม่ควรเป็นทุกข์กับมัน สมมติเราบังเอิญทำมดตายตัวหนึ่งก็อย่ามัวเสียอกเสียใจจนไม่เป็นอันทำอะไร ให้วางความเสียใจลงแล้วตั้งใจว่าจะระวังให้มากขึ้น เราอาจเคยโกหกด้วยความเผลอ ก็ไม่ควรตำหนิตัวเองซำแล้วซ้ำเล่าแต่ควรตั้งสติให้ดีทุกครั้งที่พูด
คนที่รักษาศีลไม่เป็นมี 2 ลักษณะ คือ พวกหนึ่งถ้าศีลพร่องจะรู้สึกผิดตลอดเวลา อีกพวกหนึ่งถ้าศีลครบก็เกิดความหลงตน ซึ่งไม่ดีทั้งสองอย่าง การรักษาศีลที่ถูกต้องย่อมประกอบไปด้วยปัญญา คือเข้าใจจุดมุ่งหมายของศีล ถ้าเรารักษาศีลได้ถูกต้องก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม
การถือศีลแล้วยกตนข่มผู้อื่นเป็นสิ่งที่ควรละ คือคิดว่าถ้าถือศีลได้เป๊ะๆ แล้วจะทำให้ตนบริสุทธิ์หรือวิเศษ สวดมนต์ต้องไม่พลาดแม้แต่คำเดียวเพราะจะทำให้ขาดความศักดิ์สิทธิ์ เช่นนี้เรียกว่าเข้าไม่ถึงแก่นของศีล แทนที่จะปฏิบัติเพื่อขัดเกลา กลับไปยึดติดลูบคลำอยู่แต่เปลือกภายนอกเท่านั้น โดยแก่นแท้แล้ว ศีลเป็นแบบฝึกหัดเพื่อขัดเกลาตัวเองให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง
สมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
คนเรามักไปจมอยู่กับความคิดในอดีตหรือไม่ก็กังวลกับอนาคต น้อยครั้งที่เราจะอยู่กับปัจจุบันหรือลมหายใจเข้า-ออก รับรู้ถึงกายที่กำลังเคลื่อนไหวหรือใจที่กำลังนึกคิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้จิตใจสงบอย่างแท้จริง
สมาธิสำหรับคนทั่วไปอาจเริ่มต้นด้วยการใช้ชีวิตเรียบง่าย บางทีก็ใช้คำว่าสันโดษ เมื่อมีชีวิตเรียบง่าย จิตใจก็สงบเงียบ หากจิตใจไม่ร่ำร้องเรียกหาอยากได้โน่นอยากได้นี่ จิตก็จะสงบ เมื่อสงบแล้ว โอกาสที่จะมีสมาธิและปัญญาก็จะตามมา
ปัญญา ทำให้ใจสว่าง
ปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญมากการบรรลุนิพพาน เพราะปัญญาทำให้เห็นความจริง เห็นสัจธรรมว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญารู้แจ้งในพระไตรลักษณ์สำคัญมากและมีอยู่ 3 ลักษณะคือ
1.ปัญญาเกิดจากการฟัง
2.ปัญญาเกิดจากการคิดไตร่ตรอง
3.ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ
เช่น เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเศษแก้วมันคม เราก็กำเอาไว้เพราะคิดว่าเป็นเพชรเป็นพลอย แต่เมื่อเห็นความจริงว่าเป็นเพียงเศษแก้วไร้ค่า แถมยังทำให้เราเจ็บปวดเพราะบาดมือ เราก็ปล่อยทันที ปล่อยเพราะเราเห็นแต่โทษ เห็นว่ามันทำให้เจ็บปวด เรียกว่าเกิดปัญญาเห็นความจริง
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้
บทความน่าสนใจ
เราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง ไปสู่พระนิพพาน
อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส วันนี้ฉันคือ ผู้ปรารถนานิพพาน
Dhamma Daily : การต้องคอย ปรนนิบัติ คนในบ้านจะฉุดไม่ให้เข้านิพพานจริงหรือ