ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ

ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ เป็นธรรมเทศนาที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แสดงไว้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2523 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้ท่านจะแสดงไว้นานแล้ว แต่ธรรมเทศนานี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง

 

ธรรมะเป็นเครื่องวัด

ยิ่งกว่านั้นวัฒนธรรมและอารยธรรมที่บรรพบุรุษมนุษยชาติได้สั่งสมสืบทอดมาก็จะบังเกิดผลงอกเงย ไม่ว่างเปล่าเป็นหมันเสีย อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า ธรรมะซึ่งหมายถึงการนำมนุษย์เข้าถึงความจริง และการยังความดีงามให้เป็นไปในสังคมนี้ เป็นเครื่องวัดหรือเป็นตัวกำหนดความสำเร็จผลที่แท้จริงแห่งวัตถุประสงค์ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และการมีมหาวิทยาลัย

เท่าที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมะมีคุณค่าต่อชาวมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในทางปฏิบัติคุณค่าของธรรมย่อมขึ้นกับความต้องการ กล่าวคือ ความต้องการธรรมเป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่าของธรรม แต่บางคราวความต้องการอาจมีอยู่โดยที่ผู้มีความต้องการไม่รู้ตัวว่าตนมีความต้องการก็ได้ เหมือนอย่างคนจำนวนมากไม่รู้ตระหนักถึงคุณค่าของอากาศที่ตนหายใจหล่อเลี้ยงชีวิต

 

ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ

0

สังคมต้องการธรรม

ความต้องการนั้นมักแสดงออกมาให้เห็นในบางโอกาสและบางส่วนบางแง่ที่ขาดแคลน เช่น บางคราวมีคนร่ำร้องหาความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความยุติธรรม บางแห่งเราเห็นคนต้องการเมตตาธรรม ไมตรีธรรม มนุษยธรรม บางทีเรารู้สึกกันว่าสังคมต้องการศีลธรรม สุจริตธรรม สันติธรรม บางคนว่าเขาต้องการขันติธรรมและคารวธรรม รวมทั้งธรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่าธรรม เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเผื่อแผ่ แบ่งปัน สติสัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา ตลอดจนต้องการสัจธรรม

เมื่อใดคนตระหนักว่าตนต้องการธรรม เมื่อนั้นก็ย่อมมองเห็นคุณค่าของธรรม อย่างไรก็ตาม บางทีคนรู้ตัวแล้วว่าตนต้องการธรรม แต่ไม่ว่าธรรมนั้น ๆ คืออะไร และไม่รู้ว่าจะทำให้ธรรมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น รู้ว่าตนต้องการความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ สันติภาพ และสัจธรรม รู้ว่าตนต้องการความเพียร ศรัทธา สมาธิ แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ความมุ่งหมายและวิธีปฏิบัติที่จะให้ธรรมเหล่านั้นเกิดมีขึ้น

ดังนั้น การปลุกเตือนให้สำนึกถึงความต้องการธรรมก็ดี การช่วยแนะนำให้รู้จักความหมาย ความมุ่งหมาย และวิธีที่จะทำให้ธรรมทั้งหลายเกิดมีขึ้นก็ได้ จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลและสถาบันทั้งปวงที่รับผิดชอบในการที่จะยังธรรมให้เป็นไปในสังคม

 

ธรรมะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ

0

ธรรมะกับมหาวิทยาลัย

สำหรับชาวมหาวิทยาลัยนั้น ในเมื่อธรรมะมีคุณค่าดังได้กล่าวแล้ว คือช่วยให้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละบุคคลมีจิตใจผ่องใส สงบสุข แก้ปัญหาภายในของตนได้ ช่วยให้ชีวิตที่สัมพันธ์กันของส่วนรวมมีบรรยากาศอันเกื้อกูลแก่การเล่าเรียนศึกษา แสดงวิชาการ และการปฏิบัติหน้าที่การงานทั่วไป ช่วยให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วนำศิลปวิทยาและความจัดเจนไปใช้โดยสุจริต บังเกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง และที่สำคัญยิ่งคือช่วยให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันซึ่งทำหน้าที่รับใช้ธรรม ช่วยยังธรรมให้เป็นไปในสังคม สมตามความรับผิดชอบของตนต่อสังคมและต่อมนุษยชาติ

น่าจะย้ำไว้ด้วยว่า การรับใช้ธรรมนี้แหละคือหน้าที่โดยชอบธรรมของมหาวิทยาลัยและของชาวมหาวิทยาลัยทุกคน เพราะเมื่อรับใช้ธรรมก็จะได้รับใช้สังคมด้วย และการรับใช้สังคมนั้นก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดด้วย

 

ที่มา ศึกษา ฝึกฝน พัฒนาตนให้สูงสุด โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ภาพ https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ 

อยู่ด้วยการ รู้เท่าทัน ว่า เป็นธรรมดาของชีวิต โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ทุกข์มีคุณได้ ใช้เป็นก็ได้ประโยชน์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งความสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

การให้ทานที่ได้ผลสมบูรณ์ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ฉันทะในการทำงาน โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ความสำเร็จของนักธุรกิจ คืออะไร ในทรรศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

อานิสงส์ของการบวช – สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ธรรมนูญชีวิตของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.