ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

สมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณยังจำครูสอนภาษาไทยคนนี้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สอนหนังสือเหมือนพูดทอล์กโชว์ได้ไหมชีวิตช่วงนั้นของ ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ แจ้งเกิดเต็มตัวจากการไปออกรายการ ตีสิบ เพราะมีจุดเด่นคือเป็นครูเพศที่สามที่ “จัดเต็ม” เป็นตัวของตัวเองด้วยการแต่งหญิงเต็มที่ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม แล้วสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งแถวสยามสแควร์ ด้วยลีลาการสอนที่ไม่เหมือนใคร เพราะทุกครั้งที่สอน ครูลิลลี่จะเหมือน “องค์ลง” คือเด็กต้องได้ทั้งสาระความรู้และความสนุกสนาน

ไม่ว่าจะเป็นอักษรกลาง สูง ต่ำ คำเป็น คำตาย ครูลิลลี่จะสามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่ไม่มีในตำราเรียนเพื่อให้เด็กๆ จดจำได้ เช่น อักษร ง-น-ม-ย-ว เป็นอักษรคำเป็น ดังนั้นวิธีการจำง่ายๆ คือจำว่า “มะนงยาเว่อะ เป็นคนเป็นๆ เป็นสาวพม่า” ส่วนอักษร ก-บ-ด เป็นคำตาย “เพราะเป็น กบฏจะต้องตาย” อย่างนี้เป็นต้น

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

ชีวิตคนดัง มีทั้งคนรักคนชัง

ตอนนั้นมีแต่คนจำครูลิลลี่ได้ เราก็ต้องยิ้มตลอดเหมือนนางงาม ความเป็นส่วนตัวไม่มีเลย กลายเป็นคนสาธารณะ แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีแต่คนรักไปเสียทั้งหมด คนชัง คนหมั่นไส้เราก็มี เช่น ครูตามโรงเรียนต่างๆ ที่ค่อข้างอนุรักษนิยม หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่พูดกับคนอื่นแล้วมาถึงหูครูลิลลี่ว่า “เขาเป็นครูกะเทย จะสอนได้หรือ …คงเอาแต่สนุกสนาน มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ” หรือไม่ก็ “ไม่ได้จบครูมาโดยตรงจะสอนได้หรือ”

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่ครูลิลลี่ได้พานพบ แต่ก็ไม่ได้นำมาใส่ใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเราสอนลูกศิษย์ด้วยหัวใจ อยากให้เขาสอบได้คะแนนดีๆ หรือสอบติดมหาวิทยาลัยตามที่เขาใฝ่ฝัน ที่สำคัญครูลิลลี่มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ไปสอนในโรงเรียนไกลกังวล ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียง ตอนนั้

นทราบว่าที่นี่ต้องการครูที่สอนสนุก เนื้อหาแน่น สิ่งนี้จึงเหมือนเป็นพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมที่ทำให้เราไม่ท้อถอยกับคำครหาใดๆ

ทุกวันนี้ครูลิลลี่สำนึกเสมอว่า ที่ได้ดิบได้ดีก็เพราะวิชาภาษาไทย หลายคนอาจคิดว่าเราร่ำรวยมาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา เป็นแค่ลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น เมื่อก่อนเงินที่หามาได้เราก็ใช้ไปกับการหาความสุขใส่ตัว ซื้อข้าวของเครื่องใช้แบรนด์เนม ไปเที่ยวต่างประเทศ เลี้ยงดูพ่อแม่ เที่ยวเฮฮากับเพื่อนเท่านั้น

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

ความสุขที่แท้ของครูลิลลี่

แต่เชื่อไหม ความสุขที่ได้มามันแป๊บเดียวเอง อย่างไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ โอ๊ย…สวย อากาศก็ดี อาหารก็อร่อย ทุกอย่างเพอร์เฟ็คท์ แต่สุขอยู่ได้ไม่กี่นาทีก็หมดแล้ว ไม่รู้หายไปไหน จนกระทั่งมาได้ปฏิบัติธรรมจึงได้รู้ว่าสุขยิ่งกว่า และสุขที่แท้เป็นอย่างไร เป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องเดินทางไปที่ไหน ไม่ต้องใช้กระเป๋าใบละหลายหมื่น แต่อยู่กับตัวเอง อยู่กับการศึกษาจิตของเรา มันกลับสุขอย่างบอกไม่ถูก

แล้ววันหนึ่งเมื่อจังหวะเวลาเหมาะสม ครูลิลลี่ก็บอกกับตัวเองว่า “ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตนี้ 40 กว่าปี ทำเพื่อส่วนตัวมามากแล้ว ขอทำ ‘บ้านพุฒมณฑา’ นี้เพื่อส่วนรวมบ้าง”

ครูลิลลี่รวบรวมเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองและกู้ยืมธนาคารมาบางส่วนเพื่อมาสร้าง “บ้านพุฒมณฑา” ที่ว่านี้ เป็นสถานปฏิบัติธรรมและเพิ่งเปิดให้บริการในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ มีสวนปลูกพรรณไม้ในวรรณคดีไทยและมีศาลาสำหรับปฏิบัติธรรม

ความจริงแล้ว ใครจะมาใช้สถานที่นี้เพื่อประโยชน์ทางธรรมก็ได้ เราไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนใครอยากจะช่วยทำบุญเพื่อเป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เราก็ยินดี ที่ผ่านมาครูลิลลี่จัดคอร์สปฏิบัติธรรมทุกเดือน โดยจะเชิญพระอาจารย์ที่สอนทางด้านวิปัสสนามาให้ความรู้ คนที่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ช่วงแรกๆ เป็นลูกศิษย์ที่มาเรียนภาษาไทยหรือพ่อแม่ ญาติของลูกศิษย์ องค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตนี้ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะได้ทำสิ่งดีๆ ขนาดนี้ ตอนเด็กๆ เคยแต่ได้ยินว่า เกิดเป็นกะเทยเสียชาติเกิด ไม่ได้บวชให้พ่อให้แม่ ไม่ได้ศึกษาธรรม แต่วันนี้รู้แล้วว่า ชีวิตนี้ของตัวเองไม่เสียชาติเกิดอย่างที่ใครเขาว่า เพราะคิดว่าได้ทำสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก การเปิดสถานปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะต้องทุ่มเทเวลา แรงกายแรงใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเห็นผลดีที่คนอื่นได้รับ ครูลิลลี่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคุ้มค่ามาก

เส้นทางของชีวิตที่เบนมาในทางนี้ ครูลิลลี่คิดว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แต่คิดว่าชีวิตในวัยเด็กน่าจะมีส่วนเป็นอย่างมากที่พลิกชีวิตคนที่อยู่กับเรื่องโลกๆ มาสนใจเรื่องทางธรรมอย่างทุกวันนี้

 

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

เรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปลี่ยนชีวิต

ครูลิลลี่เป็นคนกรุงเทพฯที่ไปใช้ชีวิตที่จังหวัดระยองตั้งแต่วัยเด็ก เพราะ คุณพ่อพุฒ คุณแม่มณฑา อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ จึงให้ไปอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง ตั้งแต่ ป. 3 – ม. 3 โดยมีคุณแม่ตามไปดูแล ส่วนคุณพ่อเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องย้ายไปอยู่ที่นั่นที่นี่ ไม่ได้อยู่กับครอบครัวมากนัก

ตอนเด็กๆ ครูลิลลี่เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูด จำได้ว่าตอนอยู่ม. 2 เคยออกไปโต้วาทีหน้าชั้น แต่กลับกลายเป็นร้องไห้แทน เพราะลืมข้อความที่ท่องจำมา หรืออย่างตอนเข้าค่ายลูกเสือ วันสุดท้ายก็จะมีการแสดงรอบกองไฟ แต่ครูลิลลี่กลับหนีไปแอบในห้องน้ำเพราะกลัวจะโดนจับไปแสดงกลางสนาม

หลังจากนั้นครูลิลลี่ก็ได้เข้ามาเรียน ม. 4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท สายศิลป์ฝรั่งเศส และเลือกเข้าชมรมวาทศิลป์ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ วัดอนงคารามวรวิหาร ช่วงที่อยู่จังหวัดระยองเรียนในโรงเรียนคริสต์ เราก็ไม่เคยได้ศึกษาพระพุทธศาสนา แต่เมื่อมาเรียนที่นี่ มีพระอาจารย์มาสอนภาคเช้าเรียนพุทธประวัติและสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ส่วนช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมตามถนัด ใครใคร่รำก็เข้าชมรมนาฏศิลป์ ใครชอบพูดก็เข้าชมรมวาทศิลป์และโต้วาที พระอาจารย์ก็จะฝึกให้เราพูดหน้าห้อง

ตอนนั้นได้กินข้าวก้นบาตรที่วัด ได้อิ่มท้อง แถมยังได้ความรู้ความสนุกสนาน รู้สึกว่าพระใจดี เราสามารถคุยด้วยได้อย่างไม่เคอะเขิน สิ่งเหล่านี้ช่วยจูงใจให้อยากเข้าใกล้พระพุทธศาสนามากขึ้น ยิ่งเมื่อได้เข้าประกวดในกิจกรรมต่างๆ ทั้งสุนทรพจน์ โต้วาที มารยาทไทย สวดทำนองสรภัญญะ แล้วได้รับรางวัลกลับมา ก็ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้ครูลิลลี่รักการพูดมากยิ่งขึ้น

แต่ชีวิตครูลิลลี่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะมาเป็นครูสอนภาษาไทยที่มีคนรู้จักอย่างทุกวันนี้ได้ ครั้งหนึ่งก็เคยทำงานเป็นพนักงานสัมพันธ์ที่โรงงานทำเม็ดพลาสติกมาแล้ว แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องโดนบีบออก เพราะเก๊กแมนอยู่ได้ไม่นาน เขาก็จับได้

ชีวิตหลังจากนั้นเหมือนชะตาฟ้าลิขิต เพราะได้เจอกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตครูลิลลี่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง…

 

ความสุขโลกีย์มี ได้ชั่วคราว

ความสุขยืนยาว ต้องเข้าหาธรรม

คติธรรม

 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ แทนที่ครูลิลลี่จะได้เป็นครูสอนภาษาไทยอย่างที่ใจรัก ชีวิตกลับรันทดเล็กน้อย เพราะต้องไปเก๊กแมนเป็นพนักงานสัมพันธ์ที่โรงงานทำเม็ดพลาสติกแห่งหนึ่ง ต้องใส่ชุดของช่างที่ครูลิลลี่เรียกว่า “ชุดหมี” เพราะเสื้อกับกางเกงเย็บติดกันเป็นชุดทำงาน คิดดูแล้วกันว่าจะเท่แค่ไหน

แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือโรงงานแห่งนี้ไม่ต้อนรับกะเทย ท้ายที่สุดเขาก็พยายามบีบครูลิลลี่ออกด้วยการไม่สั่งงาน เมื่ออึดอัดทนไม่ไหวก็ต้องลาออกในที่สุด

หลังจากนั้นชีวิตครูลิลลี่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการทำงาน ตอนแรกยังไม่ทราบว่าจะทำอาชีพอะไร จนวันหนึ่งรุ่นพี่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มาขอให้ไปช่วยสอนนักเรียนพาณิชย์ภาคค่ำแทน เพราะเขาติดธุระสำคัญ ในการสอนวันนั้น ครูลิลลี่รู้สึกเหมือนมีแสงสปอตไลต์ส่องมาที่ตัวเราเต็มๆ เหมือนจะบอกว่า “นี่แหละตัวเธอ” เพราะจำได้ว่า วันนั้นสอนเรื่องการพูดและการสื่อสารได้อย่างลื่นไหล รู้เลยว่ามีความสุขและเป็นตัวของตัวเองมาก ที่สำคัญ เกิดความภาคภูมิใจว่า เราก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เมื่อมั่นใจในเส้นทางนี้ ชีวิตครูลิลลี่จึงมีคำว่า “ครู” นำหน้านับแต่นั้นมา

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

ฝึกปรือวิทยายุทธ์

ความเก่งกาจสามารถในภาษาไทยของครูลิลลี่ ถ้าถามว่าได้มาจากไหน ขอตอบว่ามาจากการสะสมความรู้ทั้งในวัยเด็กและวัยเรียน ด้วยความที่เป็นคนช่างจดจำ ช่างสังเกต ก็เลยได้เรียนรู้ศัพท์ต่างๆ มากมาย?ซึ่งช่วยทั้งในด้านการพูดและการเขียน

ด้วยความที่ใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดระยอง ครูลิลลี่จึงเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นชนบท เพื่อนๆ ก็เป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนา ได้เห็นเขาดำนา ไถนา รวมทั้งได้เห็นประเพณีไทยสมัยก่อน เช่น บวชนาค เวียนเทียน ลอยกระทง สิ่งเหล่านี้ซึมซับเข้าไปในตัวเรา ที่สำคัญ ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อนก็ช่างเจรจา เจ้าสำบัดสำนวน มักพูดคุยหยอกล้อกันด้วยภาษาที่สนุกสนาน ครูลิลลี่ก็ได้รับรู้รับฟังไปด้วย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ศัพท์แปลกๆ ที่เด็กสมัยนี้อาจไม่รู้จักแล้ว อย่างคำว่า “พะอง” ซึ่งเป็นคำที่คนทางเพชรบุรีใช้ หมายถึง ไม้ไผ่ 1 ลำที่ใช้ทำเป็นบันได ใช้เท้าเหยียบปีนขึ้นต้นตาลหรือต้นมะพร้าว

เรียกได้ว่าชีวิตวัยเด็กได้สะสมคำศัพท์ในคลังสมองมากมาย จนกระทั่งเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ที่นี่มีคุณครูภาษาไทยระดับเซียนๆ ทั้งนั้น ยิ่งมาเรียนต่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกวาทวิทยา โทประชาสัมพันธ์ ด้วยแล้ว ชีวิตช่วงนั้นถือได้ว่า “มัน” มาก ทำกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพูดก็ว่าได้ และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย

รางวัลหนึ่งที่ครูลิลลี่ภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้คือ รางวัลที่หนึ่งในการบรรยายธรรมะระดับประเทศ ในงานวันวิสาขบูชา เมื่อปี พ.ศ.2528 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 วิธีการแข่งขันก็ทดสอบไหวพริบสติปัญญาสุดฤทธิ์ ด้วยการให้จับฉลากทั้งหมด 20 หัวข้อ เช่น อิทธิบาท 4 ไตรสิกขา แล้วให้เราพูดสดๆ คิดสดๆ ตรงนั้น ตอนนั้นครูลิลลี่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี มีพระอาจารย์ที่สอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ช่วยติว เลยได้ที่หนึ่งสมความตั้งใจ

จนกระทั่งมาเรียนมหาวิทยาลัย ครูลิลลี่ก็ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากการโต้วาทีน้องใหม่ โดยมี คุณไก่-สมพล ปิยะพงศ์สิริ เป็นเพื่อนร่วมทีม และได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดโต้คารม รุ่นอุดมศึกษาของประเทศ และช่วงนี้เองที่ครูลิลลี่ได้มีโอกาสไปทำงานกับ พี่แอ้-กรรณิกา ธรรมเกษร ซึ่งตอนนั้นทำรายการ “ทีวี-วาที 9 ใหม่” ได้เป็นทีมงานช่วยเสิร์ฟน้ำ เตรียมงาน ได้เห็นนักพูดเก่งๆ ในยุคนั้น เช่น อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา อาจารย์จตุพล ชมภูนิช อาจารย์อภิชาติ ดำดี ฯลฯ เห็นแล้วก็อยากเป็นนักพูดแบบเขา แต่รู้ตัวดีว่าไม่เก่งเท่า จึงเบนความใฝ่ฝันมาที่อาชีพนักข่าว เพราะเรียนมาทางด้านนิเทศศาสตร์ และมีไอดอลเป็นคุณสุริยนต์ จองลีพันธ์ นักข่าวชื่อดังยุคนั้นที่รายงานข่าวนอกสถานที่ได้อย่างน่าสนใจ

แต่เชื่อไหมว่า คนเราถ้าเกิดมาเพื่อเป็นอะไรแล้ว จะอย่างไรก็หนีไม่พ้น สุดท้ายชีวิตก็ต้องวนเวียนอยู่ในอาชีพครู

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

ชีวิตที่มีคำนำหน้าว่า “ครู”

ความจริงแล้ววิญญาณความเป็นครูของครูลิลลี่มีมาตั้งแต่เด็กแล้ว เริ่มจากตอนเรียนมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท มีโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยให้คนที่ถนัดในแต่ละสาขาวิชาช่วยติวให้เพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง ครูลิลลี่ก็รับหน้าที่นี้มาตลอด จนกระทั่งมาสอนนักเรียนพาณิชย์ จึงทำให้รู้ว่าเรามีพรสวรรค์ด้านนี้ หลังจากนั้นจึงสมัครเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ชีวิตการเป็นครูเริ่มต้นที่นี่และเริ่มตอกย้ำว่าการเป็นครูคือตัวเรา หลังจากนั้นครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ก็มาชวนให้ไปสอนพิเศษร่วมกันที่สยาม ทุกวันนี้ครูลิลลี่ก็ยังสอนอยู่ที่นี่

ทุกครั้งที่สอนครูลิลลี่จะมีหลักอยู่ในใจว่า การสอนของเราต้องทำให้เด็กๆ มีความสุขเหมือนกำลังชมทอล์คโชว์วิชาการ คือได้ทั้งสาระและความบันเทิง เวลาสอนก็คิดถึงอกเขาอกเรา เด็กก็คือเด็ก เข้าใจในความเป็นเขา ไม่คาดหวังอะไรมาก ให้ความเป็นพี่เป็นน้องพูดคุยกับเขาได้

แต่เหนืออื่นใด ทุกครั้งที่สอนครูลิลลี่จะมีความคิดที่เป็นกุศลว่า อยากให้เด็กที่สอนทุกคนสอบได้คะแนนดี สอบติดในคณะที่ตัวเองปรารถนา ทุกวันนี้ประทับใจในตัวลูกศิษย์ตรงที่เขาไม่ลืมเรา เขาไม่เห็นเราเป็นครูห้องแถว แต่เขาให้ความสำคัญเหมือนครูในโรงเรียนคนหนึ่ง ประโยคหนึ่งที่หล่อเลี้ยงและชโลมใจครูลิลลี่มาจนถึงทุกวันนี้คือ “ถ้าหนูไม่ได้ครู หนูคงไม่เก่งภาษาไทย” พ่อแม่ของเด็กหลายคนมาขอบคุณที่ทำให้ลูกของพวกเขาสมความปรารถนาด้วยเหตุนี้ บางครั้งราคาของของขวัญที่ได้รับจากผู้ปกครองจึงมากกว่าค่าเรียนเสียด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามครูลิลลี่ไม่ได้นับความสำเร็จจากตรงนี้ แต่นับจากรอยยิ้มและความสุขของเด็กๆ มากกว่า

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

สร้างสถานปฏิบัติธรรมนำ “ปัญญา” สู่สังคม

ชีวิตของครูลิลลี่ก่อนหน้านี้ติดหรู ติดเพื่อน ติดเที่ยวต่างประเทศ ชอบใช้ของแบรนด์เนม กินข้าวราดแกงไม่เป็น ไปไหนต้องมีเพื่อน มีบริวารติดสอยห้อยตาม จนกระทั่งมาศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ชีวิตเปลี่ยนไปหมดเลย ไม่ติดอะไรอีกแล้ว แต่ความรัก โลภ โกรธ หลง ก็ไม่ได้หมดไป เพียงแต่ลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครูลิลลี่เข้าสู่ทางธรรมเพราะ หนึ่ง รู้สึกว่าชีวิตที่มีเงินทองของตัวเองไม่มีความสุข สอง ได้ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงได้พบคำตอบ สาม ได้มีโอกาสไปกราบสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย จึงอยากจะปฏิบัติตัวเป็นพุทธบริษัทที่ดี สี่ เพราะเสียคุณแม่ไปด้วยโรคมะเร็ง จึงเป็นตัวผลักดันให้ครูลิลลี่อยากทำสิ่งดีๆคืนสู่สังคม

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ครูลิลลี่สร้าง บ้านพุฒมณฑา ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เพราะคิดว่าเราสร้างคนให้เกิดปัญญาทางโลก ให้เขาเรียนเก่ง สอบติดมามากแล้ว ทำไมเราไม่สร้างคนให้เกิดปัญญาทางธรรมบ้าง ที่สำคัญ ปัญญาทางธรรมนี่แหละที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในการดำเนินชีวิตได้

 

ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

 

บ้านแห่งนี้ครูลิลลี่ใช้แนวคิดว่า “บ้านแห่งการเรียนรู้” ที่มีความสัปปายะ มีทั้งเตียงนอน สนามหญ้าสำหรับกางเต็นท์ ศาลาปฏิบัติธรรม สวนที่ร่มรื่น และสระน้ำ โชคดีที่ครูลิลลี่ได้ทั้งน้องสาวและน้องชายมาช่วยงาน โดยเฉพาะน้องสาวลาออกจากงานโรงแรมมาช่วยจัดการทุกอย่าง ส่วนน้องชายก็ช่วยดูแลคุณพ่อซึ่งอยู่ในวัย 80 ปี

ครูลิลลี่เชื่อว่า สิ่งที่ตัวเองทำนี้ใช้เงินสร้างอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจอย่างยิ่งยวด เพราะต้องเตรียมสถานที่ อาหารการกิน เพื่อดูแลผู้ปฏิบัติธรรม เป็นวิทยากร ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี ฯลฯ นอกจากนั้นจากเมื่อก่อน ปิดเทอมมักไปเที่ยวต่างประเทศใช้เงินสองสามแสนบาท แต่เดี๋ยวนี้ครูลิลลี่กลับคิดว่า สามารถนำเงินส่วนนั้นมาซื้อข้าวซื้อน้ำให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ตั้งหลายคอร์ส เมื่อคิดอย่างนี้ ครูลิลลี่ก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ

ทุกวันนี้สิ่งที่ครูลิลลี่ทำเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีพลัง มีไฟในการทำงาน ทำสิ่งที่ตัวเองรักและสามารถตอบตัวเองแบบชัดๆ ดังๆ ว่า “ชาตินี้เกิดเป็นครูลิลลี่ ไม่เสียชาติเกิดเลยสักนิด”

เพราะแม้จะไม่ได้บวชให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลือง แต่ชีวิตนี้ได้ทำบุญ ทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาและให้เพื่อนมนุษย์จนสุดกำลังความสามารถแล้วนั่นเอง


บทความน่าสนใจ

เป็น ผู้สูงอายุ อย่างมีความสุข สุขภาพใจแข็งแรง

วิธี ให้อภัยตัวเอง และ รักตัวเอง เมื่อทำผิดพลาดไป

ทำอย่างไรเมื่อ ความรัก พาเรามาผิดทาง อุทาหรณ์จากสตรีสมัยพุทธกาล

“รักษากาย วาจา ใจ” เคล็ดลับการใช้ชีวิตของ หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.