อนัตตา

“อนัตตา” สภาวธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เราทั้งหลายไม่ควรยึดติด

” อนัตตา ” สภาวธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เราทั้งหลายไม่ควรยึดติด

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าไม่มีสิ่งใดหนีพ้นไปจากไตรลักษณ์ได้ หมายความว่าทุกสิ่งล้วนตกอยู่ในสามัญลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ หลายท่านอาจสงสัยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์มิใช่หรือ โกณฑัญญะยังเกิดมีดวงตาเห็นธรรม และบวชเป็นพระภิกษุในที่สุดเลย ขอรับรองว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกจริง แต่ตั้งข้อสังเกตบ้างไหมว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตรกล่าวเพียงว่าโกณฑัญญะบรรลุธรรม แล้วปัญจวัคคีย์ที่เหลือจะบรรลุธรรมตอนไหน ซึ่งคำตอบมีอยู่ใน “อนัตตลักขณสูตร

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องขันธ์ 5 เป็นอนัตตา (ขันธ์ 5 อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) คำสอนนี้ทำให้ปัญวัคคีย์ที่เหลือบรรลุธรรม ทำไมพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) แสดงความหมายของอนัตตาไว้ว่า “ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน” หมายความว่า อนัตตา เป็นสิ่งตรงข้ามกับคำว่า “อัตตา” ซึ่งหมายถึง ตัวตน หรือที่ท่านพุทธทาสภิกขุมักเรียกว่า “ตัวกูของกู” อนัตตาจึงหมายถึง “ไม่ใช่สิ่งที่เป็นของเรา” 

สุนทร ณ รังษี ตีความอนัตตลักขณสูตรว่า เหตุผลสำคัญที่พระพุทธเจ้าถือว่าขันธ์ 5 เป็นอนัตตาเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) และเป็นทุกข์ (ทุกขัง) มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาของเรา ถ้ามันเป็นอัตตาของเรา เราต้องสามารถบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามความปรารถนาของเราได้

อุปาทานปริตัสสนาสูตร เป็นอีกพระสูตรที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องอนัตตาไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องโลก ย่อมเห็นว่าขันธ์ 5 นั้นเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา สำหรับพระอริยบุคคลในพระศาสนา ย่อมพิจารณาเห็นแล้วว่าขันธ์ 5 นั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เป็นตัวตนของเรา” 

 

อนัตตา

 

มีชาวพุทธสมัยพุทธกาลคนหนึ่งที่ปฏิบัติและเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีคือ นางมัลลิกา ชื่ออาจไปคล้ายกับพระมเหสี (พระนางมัลลิกาเทวี) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เป็นคนละคนกัน นางมัลลิกาผู้นี้เป็นภรรยาของพันธุละเสนาบดีในกรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเข้าพระทัยผิดคิดว่าพันธุละเสนาบดีกับลูกชายอีก 32 คนจะก่อกบฎจึงทรงให้ทหารไปจับมาประหาร แม้นางมัลลิกาจะทราบว่าสามีและลูกชายอันเป็นที่รักต้องจากนางไปในวันนี้ แต่นางก็ยังประคองจิตเพราะเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง แม้สามีและลูกชายของเธอต้องจากเธอไปในวันใดวันหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องไม่ให้ยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ เพราะเป็นทุกข์ไว้หลายพระสูตร ดังในวิสาขาสูตร นางวิสาขามหาอุบาสิการ่ำไห้เพราะสูญเสียหลานสาวอันเป็นที่รักไป พระพุทธองค์ตรัสเตือนสตินางว่า “หากคนที่เธอรักตายทุกวัน เธอต้องร้องไห้ด้วยความทุกข์แบบนี้ทุกวัน” นางจึงได้สติ และละวางจากความเศร้าโศกได้ แล้วมองเรื่องการพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดติด

คนที่ยึดติดจนกลายเป็นทุกข์ก็มีอยู่หลายคน เช่น หญิงวิปลาสที่ชื่อว่า “ปฏาจารา” กลายเป็นบ้าเพราะยึดติดว่า สามี ลูก และครอบครัวของนางตายจากนางไปหมด หรือ นางกิสาโคตมีที่พยายามตามหาผู้วิเศษชุบชีวิตลูกชายให้ฟื้น ทั้งที่จริงแล้วคนตายไม่สามารถฟื้นได้ การไม่คิดยึดติดในสรรพสิ่งทั้งที่เป็นตัวเองโดยสมมติสัจจะ และสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองโดยปรมัตถสัจจะย่อมทำให้เกิดสุข เพราะจิตจะไม่มัวหมอง การที่จิตมัวหมองนั้นจะเกิดความทุกข์ เช่น กลายเป็นคนวิปลาส หรือ ร่ำไห้ ตกอยู่ในบ่วงของปฏิจจสมุปบาท

การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้ยึดติด เพื่อให้เข้าใจความจริงที่ว่าทุกสิ่งตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น การเข้าใจในไตรลักษณ์เท่ากับว่าเป็นผู้มีปัญญา เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมสามารถบรรลุธรรมได้ และทำลายบ่วงโซ่ปฏิจจสมุปบาทได้อย่างง่ายดาย

 

ที่มา :

พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก โดย สุนทร ณ รังษี

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย แสง จันทร์งาม

พจนานุกรม ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ธรรมะเยียวยาใจเมื่อต้องพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก

ภาพ :

https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

นาง วิสาขา หญิงงามแห่งพุทธสมัย

นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ผู้ให้กำเนิดการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน

พุทธธรรม บรรเทาผู้ป่วย โรคซึมเศร้า

ธรรมโอสถ ช่วยคลาย ความผิดหวัง

รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่า อารมณ์บวก หรือ อารมณ์ลบ

ชมพู่ – ภัทราวรรณ พานิชชา กับการมองตาม ความเป็นจริง ด้วย ไตรลักษณ์

เห็น ไตรลักษณ์ = เห็นโทษ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล

ไตรลักษณ์ ประตูสู่ หนทางแห่ง ความหลุดพ้น

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.