ผู้ป่วย G6PD หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมียาบางตัวที่ไม่สามารถใช้รักษาได้!!
รู้หรือไม่? ไม่ใช่ทุกคนที่ติดโควิด19 แล้วจะเสียชีวิต เพราะมีข้อมูลทางการแพทย์ระบุออกมาแล้วว่าโรคนี้เป็นแล้วรักษาหาย แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากติดเชื้อแล้วมักจะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตได้ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย
แต่ก็ยังมิวายที่เจ้าไวรัสร้ายตัวนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวกันไม่หาย นั่นก็เพราะมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าเมื่อตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นแล้วจะมีความเสี่ยงมากแค่ไหน
เพจดังออกมาเตือน ผู้ป่วย G6PD ระวังติดเชื้อไวรัสโควิด
ยิ่งล่าสุดมีเพจดังได้แชร์เรื่องของผู้ป่วยด้วย โรค G6PD ที่ออกมาบอกว่าลูกๆ หรือคนในบ้านของเขาเป็นโรคนี้ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์ภาพบ้านที่ติดป้ายขอความร่วมมือเพราะลูกชายเป็น G6PD ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมียาบางตัวที่ไม่สามารถใช้ได้
เราเลยอยากหยิบยกเอาเรื่องนี้มาพูดกัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค G6PD หรือหลายๆ คนเรียกว่า “โรคแพ้ถั่วปากอ้า” อันเกิดจากภาวะบกพร่องของเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในขบวนการสร้างพลังงานของน้ำตาลกลูโคส ดังนั้นเอนไซม์ G6PD จึงเป็นเอนไซม์ที่ช่วยป้องกัน เม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ แล้วโรคนี้เกิดจากอะไร ทำไมเด็กถึงเป็นกันมาก แล้วทำไมผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องป้องกันตัวเองจากโควิด-19 มากเป็นพิเศษ วันนี้เราได้มีคำตอบมาฝากค่ะ
ทำความรู้จัก โรค G6PD
โรคนี้เกิดจากภาวะที่พร่องเอนไซม์ G6PD (glucose-6-phosphate dehydrogenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในขบวนการสร้างพลังงานของน้ำตาลกลูโคส ซึ่งภาวะพร่องเอนก็คือการมีระดับของเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าคนปกติ เอนไซม์ ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย โดยปกติเม็ดเลือดแดงของคนเราจะมีอายุ 120 วัน แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ชนิดนี้ หากได้รับยาหรืออาหารที่ห้ามรับประทาน เช่น ถั่วปากอ้า จะเป็นตัวกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตก และทำให้เกิดภาวะซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย ตัวเหลืองได้
สาเหตุของการบกพร่องทางเอนไซม์ G6PD เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมของโครโมโซมเพศชนิดโครโมโซมเอ็กซ์ มีการถ่ายทอดยีน G6PD เป็นแบบ X-linked recessive จากมารดาโดยมีโอกาสที่ลูกชายจะเป็นโรคร้อยละ 50 ลูกสาวจะเป็นพาหะร้อยละ 50 ดังนั้นโรคนี้จึงพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการ แต่จะมีอาการซีดเมื่อมีเหตุปัจจัยภายนอกที่เป็นสิ่งกระตุ้น ได้แก่ การติดเชื้อต่างๆ เช่น ไข้หวัด ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ไข้เลือดออก มาลาเรีย เป็นต้น การได้รับยาปฏิชีวนะในกลุ่มซัลฟา แอสไพริน ยารักษามาลาเรีย primaquine หรือได้สัมผัสสารเคมี เช่น ลูกเหม็น, การรับประทานถั่วปากอ้าที่จะเป็นตัวชักนำให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง
เมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบก็จะมีอาการซีด เหลืองหรือดีซ่าน และปัสสาวะสีโคคาโคลา ถ่ายปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้การควบคุมสมดุลของสารเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกายเสียไปด้วย โดยเฉพาะการเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งมีความรุนแรงมากและมีอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรค G6PD ควรดูแลสุขภาพเหมือนคนปกติทั่วไปแต่เมื่อมีไข้หรือการติดเชื้อให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาสาเหตุของไข้ เมื่อได้รับการวินิจฉัยควรมีบัตรประจำตัวว่าเป็นโรคพร่อง G6PD และหลีกเลี่ยงยาหรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก
ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ควรตระหนักและเห็นความสำคัญในการหลีกเลี่ยงอาหารและยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลันได้ เช่น กลุ่มยารักษาโรคมาลาเรีย Chloroquine, Pamaquine, Chloroquine, Mepacrine, กลุ่มยาปฏิชีวนะ: Chloramphenicol, Co-trimoxazole, Furazolidone, Furmethonol, Nalidixic acid, Neoarsphenamine, Nitrofurantoin, Nitrofurazone, Para-amino salicylic acid (PAS), กลุ่มยาซัลฟา:Co-trimoxazole, Sulfacetamide, Sulfamethoxypyrimidine, Dapsone และสารเคมีหรือกลุ่มยาอื่นๆเช่น ลูกเหม็น (Naphthalene), Alpha-methyldopa, Methylene blue, Pyridium เป็นต้น
เช็กอาการข้างเคียงการใช้ยาต้านไวรัสโคโรน่า 2019
หากต้องเข้ารับการรักษาหรือต้องได้รับยาจะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลให้ทราบทุกครั้ง ว่าตนเองเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ในหลายสถานพยาบาลมักให้บัตรประจำตัวแก่ผู้ที่เป็นโรคพร่องไซม์ G6PD เพื่อหลีกเลี่ยงยาที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาค่ะ
ยกตัวอย่างการรักษาและการใช้ยาต้านไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ในผู้ป่วยเด็กแพทย์จะแนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการรวมถึงพิจารณาให้ยา 2 ชนิด รวมกัน คือ Hydroxychloroquine หรือ Chloroquine ร่วมกับ Darunavir+ritonavir หรือ Lopinavir/ritonavir ซึ่งข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาต้านไวรัสโควิด-19 เหล่านี้คือ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจัวหวะ คลื่นไส้ อาเจียร และก่อนการรับยาควรตรวจภาวะ G6PD ก่อนด้วย
ดังนั้นเกี่ยวกับข้อสงสัยที่ว่าทำไมผู้ปกครองที่มีลูกหลานป่วยด้วยโรคนี้ถึงต้องระมัดระวังการติดเชื้อของลูกหลานจากเจ้าโควิด-19 มากเป็นพิเศษ นั่นก็เพราะผู้ป่วยมีความเสี่ยงกว่าคนปกตินั่นเอง และยาบางชนิดที่ใช้รักษาโควิด-19 ก็มีอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วยโรคนี้อีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อผู้ป่วย G6PD ติดโควิด-19 แล้ว จะไม่มียาที่มาใช้รักษาได้ เพราะยาชนิดที่ใช้ส่งผลร้ายกับร่างกายผู้ป่วยนั่นเอง
รวมถึงอย่างที่บอกไปว่าหากเจอบางภาวะหรือยาบางชนิด แล้วยาบางตัวที่ใช้รักษา covid-19 จะไม่สามารถใช้ได้กับคนที่เป็น G6PD ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ กรุณาทำตามที่พ่อแม่เตือนอย่างเคร่งครัด
ขอบคุณข้อมูลจาก: หน่วยโลหิตวิทยา กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ