ขี้เหล็ก นอนไม่หลับ

ข้อควรระวัง ในการใช้ ขี้เหล็ก แทนยานอนหลับ

ถ้าจะใช้ ขี้เหล็ก แทนยานอนหลับ ต้องทำอย่างไร

การใช้ ขี้เหล็ก แทนยานอนหลับ จะดีหรือไม่ แพทย์หญิงดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ แพทย์แผนปัจจุบันผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรไทยไม่แพ้หมอสมุนไพร จะมาไขปัญหาเกี่ยวกับการนอนด้วย ” ข้อควรระวัง ในการใช้ขี้เหล็กแทนยานอนหลับ ” ค่ะ

ในฤดูหนาวมีดอกไม้ออกดอกหลายชนิด  สีสันหลากหลายทำให้ฤดูหนาวเป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยวได้สัมผัสอากาศเย็นสบายได้ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม  ทำให้มีการกระจายรายได้สู่สถานที่ที่นักท่องเที่ยวอยากไปสัมผัส

ดอกไม้ที่ออกดอกในฤดูหนาวและสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรได้คือดอกขี้เหล็กค่ะ

ดอกขี้เหล็กนั้นมีสีเหลืองแต่ที่น่าประหลาดใจคือถ้าออกดอกในพื้นที่ที่อากาศไม่เย็นเท่าไรเช่นจังหวัดที่ผู้เขียนอยู่นั้นดอกจะไม่ใหญ่มาก แต่ถ้าไปขึ้นตามยอดดอยในภาคเหนือ  นั้นโอ้โห ทำไมมันใหญ่และดูสวยงามมาก ยิ่งถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนหรือขึ้นติด ๆ กันและมีหลายระดับจะทำให้ได้ทัศนียภาพที่สวยงามไม่แพ้ดอกซากุระเลยละค่ะ

ขี้เหล็กนั้นสามารถใช้ทั้งดอกอ่อนหรือใบอ่อนนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้โรคนอนไม่หลับ นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้อยากอาหารด้วยค่ะ  สำหรับโรงพยาบาลบางกระทุ่มนั่นใช้ดอกตูมๆ มาผลิตเป็นยาสมุนไพรในรูปแบบแคปซูลและจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหารหรือนอนไม่หลับ  กินยาแค่ชนิดเดียวแต่ให้ผลการรักษาครอบคลุมอาการได้ทั้ง 2 อย่าง

แม้เคยมีรายงานว่ามีคนไข้กินยาสมุนไพรขี้เหล็กแล้วมีอาการตับอักเสบ  แต่ในส่วนของโรงพยาบาลบางกระทุ่มนั้นได้ทำศึกษาวิจัยในคนไข้ที่กินยาขี้เหล็กแคปซูลมายาวนานโดยเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับพบว่าปกติ  นอกจากนั้นยังได้ศึกษาวิจัยในคนไข้กินยาขี้เหล็กโดยได้เจาะเลือดดูการทำงานของตับทั้งก่อนและหลังกินยาขี้เหล็กก็พบว่าปกติค่ะ

ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความมั่นใจที่จะใช้ยาสมุนไพรขี้เหล็กเพื่อช่วยรักษาคนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับและกินอาหารไม่ได้ซึ่งบางครั้งแค่นอนไม่หลับหรือกินอาหารไม่ได้มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็จ่ายยาขี้เหล็กแล้วค่ะ

ถามว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ได้ผลในระดับหนึ่งค่ะเพราะในความเป็นจริงแล้วอาการนอนไม่หลับหรือกินอาหารไม่ได้นั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ  สำหรับ อาการนอนไม่หลับนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด ดังนั้น หากไม่แก้ที่สาเหตุถึงจะได้ยาดีอย่างไรก็ไม่ช่วยค่ะ แม้จะทำให้หลับได้แต่เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะไม่สดชื่น ตามภาษาชาวบ้านคือนอนไม่อิ่ม

ผู้เขียนเคยสัมผัสกับอาการนอนไม่หลับตอนเป็นกรดไหลย้อน พบว่าทรมานมาก ใช้วิธีช่วยนอนหลังต่างๆ แต่กว่าจะสัมฤทธิ์ผลต้องใช้เวลาและกำลังใจที่เข้มแข็งมาก

ท่านผู้อ่านคงเข้าใจได้ว่ายานอนหลับกับหมอนั้นสามารถหยิบมากินได้ง่ายแต่ผู้เขียนเลือกที่จะไม่กินเพราะกลัวผลข้างเคียงซึ่งมีมากมายค่ะ หลักๆที่จำได้คือสามารถทำลายสมองได้เมื่อกินติดต่อเป็นระยะเวลานาน หรืออาจทำให้อาการกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้นเพราะยิ่งไปทำให้หูรูดที่ปิดระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารปิดไม่สนิทมากขึ้น  กรดจึงไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารมากขึ้น  ทำให้อาการกำเริบ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  แต่ถ้าท่านผู้อ่านจำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยให้หลับก็ใช้ได้ค่ะ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ

ผู้เขียนเข้าใจในความรู้สึกของคนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับเพราะตัวเองเคยประสบมาแล้วในช่วงที่นอนไม่หลับนั้นพยายามอ่านหนังสือเพื่อหาวิธีที่จะช่วยให้นอนหลับ  ไม่ว่าหนังสือจะแนะนำอย่างไรก็นำมาลองใช้กับตัวเองดูเพราะเวลาในการทดลองยาวนานค่ะ(ทั้งคืนไงคะ555)

ขี้เหล็ก นอนไม่หลับ

จำได้ว่ากว่าจะผ่านไปแต่ละคืนนั้นยาวนานมาก เฮ้อเจ้าประคุณเอ้ย  ทรมานมาก  เนื่องจากนอนไม่ค่อยหลับและช่วงกลางวันต้องไปทำงาน มีอาการแบบนี้อยู่เป็นเดือนค่ะ ช่วงนั้นคำว่าฟ้าเหลืองเป็นอย่างไรผู้เขียนบรรยายได้ค่ะเพราะมองไปทางไหนก็เหลืองหมดเลย (เศร้ามากค่ะ) กลางคืนกลายเป็นช่วงที่ไม่อยากให้ถึงเลยค่ะ เมื่อถึงกลางคืนก็อยากให้เช้าไวๆๆเคยคิดจะไปหยิบยานอนหลับมากินแต่ก็หักห้ามไว้สุดท้ายไม่มียาอยู่ในบ้านเลยค่ะ ทำใจว่าไม่หลับคือไม่หลับ คิดในแง่บวกคือมีเวลาทำงานมากกว่าคนอื่น(ไม่นอนไงค่ะ)

แม้ผู้เขียนจะลองใช้วิธีการหลากหลายเรื่องนับแกะนั้นเด็กๆค่ะ ไม่ได้ผล  ลองสวดมนต์ก่อนนอนก็ไม่ได้ผล สุดท้ายใช้หลายๆอย่างร่วมกันคือสร้างบรรยากาศในห้องนอน เข้านอนเป็นเวลา ก่อนนอนไม่ทำอะไรให้สมองวุ่นวายค่ะ

สุดท้ายสิ่งที่ได้ผลดีที่สุดคือการฝึกลมหายใจค่ะ โดยกำหนดลมหายใจเข้าและออกยาวๆ ทำจิตให้นิ่งและอยู่ที่ลมหายใจค่ะ

ตอนฝึกทำใหม่ ๆ ยังไม่ได้ผลต้องใช้เวลาประกอบกับจิตที่นิ่งและแน่วแน่ เมื่อทำไปนานๆ ก็สามารถหลับได้ที่สำคัญเป็นการหลับแบบมีคุณภาพคือหลับลึกไม่ฝัน  และหลับยาว 5-7 ชั่วโมงเลยค่ะ เมื่อตื่นขึ้นมาก็รู้สึกสดชื่นมากค่ะ ความรู้สึกตอนที่ทำได้คือ รอดตายแล้วและค้นพบทางใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น  นอกจากหลับได้ดีแล้วการฝึกลมหายใจยังช่วยทำให้มีสมาธิดีขึ้น  ความจำดีขึ้น  ทำอะไรโดยใช้สติกำกับตลอด ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยทำให้ตัวผู้เขียนค้นพบหนทางนี้ได้เพราะเป็นยาวิเศษที่สามารถช่วยรักษาที่ต้นเหตุและช่วยรักษาในทุกโรคได้เลยค่ะ

หลังจากที่พบว่าการฝึกลมหายใจช่วยให้นอนหลับได้ดีจึงได้พยายามนำไปใช้กับคนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับ  พบว่าส่วนใหญ่จะล้มเหลวเพราะคนไข้ใจไม่แข็งพอ  กลับมาบอกว่าไม่ไหวแล้ว และขอใช้ยานอนหลับซึ่งผู้เขียนต้องพยายามบอกว่าให้ไปไม่มากนะคะ โดยพยายามกระตุ้นให้คนไข้ฝึกจิตด้วยการกำหนดลมหายใจ ซึ่งเมื่อใช้เวลาและให้กำลังใจพบว่าบางท่านก็ทำได้ค่ะเมื่อคนไข้สามารถหยุดยานอนหลับได้ผู้เขียนสามารถสัมผัสได้ว่าเขามีความสุขมาก

ดังนั้นท่านผู้อ่านที่มีอาการนอนไม่หลับลองฝึกลมหายใจดูนะค่ะ ในช่วงที่กำลังฝึกถ้าไม่ไหวจริงๆก็ใช้ยาขี้เหล็กช่วยได้ค่ะ จากนั้นค่อยๆหยุดขี้เหล็กจนสามารถหลับได้ด้วยจิตทีนิ่ง ที่สำคัญ ควรใช้การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย เพื่อความแข็งแรงของร่างกายเป็นตัวช่วยด้วยนะคะ

ขอให้ท่านผู้อ่านที่กำลังมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับมีกำลังใจที่จะต่อสู้ทำให้หลับได้โดยไม่ใช้ยาค่ะ  ผู้เขียนขอเชียร์  เชียร์และก็เชียร์

สู้ต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ

ข้อมูลเรื่อง “ข้อควรระวัง ใช้ขี้เหล็กแทนยานอนหลับ” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 418

ชีวจิต Tips กำจัดปัญหา นอนไม่หลับ

อาจารย์สาทิสแนะนำวิธีคลายเครียดคลายเกร็ง (Relaxation) ซึ่งจะช่วยคนที่ นอนไม่หลับ ให้หลับได้ง่ายขึ้น

โดยเริ่มต้นด้วยการคลายเกร็งส่วนต่างๆ ของร่างกายก่อน แล้วจึงแก้เครียดด้วยการทำสมาธิ

ขั้นที่ 1 คลายเกร็งทั่วร่าง

นอนหงายบนพื้นราบ กาง แขนขา ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนพื้น ทำจิตใจให้ว่าง ไม่คิดอะไร กำมือซ้ายให้แน่นจนมือสั่น นับ 1-10 แล้วคลาย แล้วเปลี่ยน เป็นข้างขวา จากนั้นคลายเกร็งที่ขา โดยเหยียดปลายเท้าซ้าย เกร็งขา ซ้ายจนสั่น นับ 1-10 แล้วคลาย นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 3 ครั้ง แล้ว เปลี่ยนเป็นข้างขวา จากนั้นผงกศีรษะให้คางจรดอก (เกร็งเฉพาะส่วนคอ) หมุนคอจาก ซ้ายไปขวาและหมุนกลับจากขวาไป ซ้าย นับเป็น 1 ครั้ง ทำซ้ำ 3 ครั้ง แล้วคลายเกร็งที่ท้อง โดย หายใจยาวถึงสะดือ กลั้นหายใจและแขม่วท้อง นับ 1-5 ผ่อน ลมหายใจออกยาวๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 3 ครั้ง จากนั้นหายใจ ปกติ ถ้ารู้สึกร่างกายยังผ่อนคลาย ไม่หมด ให้ทำซ้ำอีกครั้งหรือสองครั้ง

ขั้นที่ 2 คลายจิตด้วยสมาธิ

ต่อจากนั้นให้นอนหลับตาทำสมาธิ เอาใจเพ่งที่จุดรวมระหว่างหัวตา นั่นคือจุดตาที่สาม

หายใจให้สบายได้จังหวะพอดีๆ ตลอดร่างกาย ผ่อนคลายสบายๆ แล้วภาวนาพุทโธ โดยเอาใจไว้ที่จุดระหว่างคิ้ว (ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธ อาจภาวนาถึงศาสดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ) ทำใจให้ว่าง ไม่คิดถึงสิ่งใดทั้งสิ้น เมื่อใจนิ่งแล้ว บางคนอาจเห็นแสงสว่าง หรือสีต่างๆ ที่จุดระหว่างคิ้ว ประคองใจไว้ให้นิ่ง อย่าว่อกแว่ก มีสติ แล้วเพ่งที่แสงหรือสีนั้นตามสบาย อย่าเครียดอละอย่าตื่นเต้น

เมื่อรู้สึกสบายจะรู้สึกว่าบังคับแสงหรือสีนั้นได้ ให้ลองสร้างเป็นจุดหรือวงกลม แล้วลองเคลื่อนจุดขึ้นไปตามที่ต่างๆ ในร่างกาย เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยภายในร่างกายของเรา

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีนับลมหายใจ คือนอนแผ่ กางแขนกางขาตามสบาย หายใจยาวตามปกติ หลับตาลง นับเดินหน้าถอยหลัง 1, 1-2, 1-2-3, 1-2-3-4, 1-2-3 -4-5 คือนับตั้งต้นที่ 1 ทุกครั้ง แล้วนับเพิ่มขึ้นทีละหนึ่ง นับแล้วทำสมาธิด้วย จนหลับไป

อาจารย์สาทิสยังย้ำอีกว่า ทั้งหมดนี้ต้องใจเย็นๆ แรกๆ อาจยังทำไม่ได้ตามขั้นตอนทุกอย่างก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือต้องใจเย็นๆ อย่ารีบร้อน และต้องผ่อนคลายตลอดเวลา การทำสมาธิสม่ำเสมอจะช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย เมื่อเผชิญความเครียด หรือปัญหาจะมีสติและสงบได้เร็ว

สมาธิช่วยปรับสมดุลร่างกาย อารมณ์ และจิตใจให้สมดุลอยู่เสมอ ดึงให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่คิดฟุ้งถึงอดีต หรืออนาคตมากจนเกินไป การทำสมาธิก่อนนอนเป็นประจำทุกคืนจึงช่วยให้นอนหลับสนิท ตื่นขึ้นมามีกำลัง สดชื่น สมองแจ่มใส แม้นอน เพียง 5-6 ชั่วโมงก็ยังรู้สึกสดใส

ข้อมูลจาก หนังสือ กูแน่ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

3 Step จัดการ ไขมันสูง ให้อยู่หมัด ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

ออกกำลังกายแก้ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยรำกระบอง ท่าแหงนดูดาว

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.