อาหารเสริม หากกินมาก ๆ จะตกค้างในร่างกาย จนก่อให้เกิดอันตรายจริงหรือไม่
เนื่องจากการบริโภคอาหารในปัจจุบันกับชีวิตที่รีบเร่ง บางครั้งก็ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบถ้วน การกิน อาหารเสริม จึงเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาเพื่อทดแทนสิ่งเหล่านี้ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า การกินอาหารเสริมมากไป จะส่งผลต่อร่างกายหรือไม่
วันนี้เรามีคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยอ้างอิงข้อมูลจากบทความสุขภาพ เว็บไซต์ RAMA CHANNEL โดย ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ว่าด้วยเรื่องของ อาหารเสริม
ปัจจุบันวิตามินและอาหารเสริม เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น สังเกตได้จากมีวิตามินเสริม อาหารเสริมออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด แล้วเราจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินอาหารเสริมเหล่านี้ หากกินไปเป็นระยะเวลานาน ๆ จะเกิดผลเสียหรือไม่ อย่างไร ทำไมผู้คนถึงหันมากินอาหารเสริมเป็นทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกัน
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
อาหารเสริมชื่อก็บ่งบอกตัวมันเองอยู่แล้วว่าเป็น การเสริม เพราะฉะนั้นเราจะใช้ในกรณีที่บางคนได้รับสารอาหารไม่พอเพียงหรือว่าขาดไป ในความเป็นจริงหากเราได้รับมาจากอาหารประจำวันอย่างเพียงพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเสริมอีก
การได้รับสารอาหารในร่างกาย
วิตามินและเกลือแร่ ส่วนใหญ่เราจะได้จากผักและผลไม้ ถ้าสมมุติวันหนึ่งเราได้รับผักหรือผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน 5 ส่วนในที่นี้คืออะไร ให้เรานึกถึงกำปั้นของเรา ผักและผลไม้รวมกัน 1 กำปั้น คือ 1 ส่วน ฉะนั้นหากวันหนึ่งเราได้รับผักและผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน แสดงว่าเราได้รับวิตามินและเกลือแร่ไม่เพียงพอ และเราก็ต้องมาดูต่อว่าคนคนนั้นมีโรคประจำตัวหรือไม่ ถ้าเกิดมีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้ดูดซึมบกพร่อง มีการผ่าตัดลำไส้ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ตามที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินหรือเกลือแร่ไม่เพียงพอ จึงจะควรจะทานอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไป
จะทราบได้อย่างไรว่า ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ
การตรวจหาวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายนั้น ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับวิตามินในร่างกาย หากเราไม่สามารถตรวจเลือดได้ และเราไม่แน่ใจ เราอยากจะซื้ออาหารเสริม วิตามินมากินเอง แพทย์แนะนำว่า
- การกินวิตามินหรืออาหารเสริมเยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย มีอันตรายกับร่างกายเหมือนกัน เพราะมันสามารถไปตกค้างสะสมในร่างกายได้
- หากเราต้องการจะกินวิตามิน แนะนำว่าให้ตรวจหาระดับวิตามินในร่างกายเสียก่อน
- เลือกวิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำจะปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า เพราะไม่มีการสะสมตกค้างในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี และวิตามินซี
- หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะวิตามินบางอย่างแพทย์ไม่แนะนำให้กิน เช่น คนไข้มีปัญหาโรคไต เราไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินเสริมที่เป็นวิตามินเอ เพราะจะทำให้เกิดภาวะวิตามินคั่งในตับและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
คำแนะนำ
เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่จำเป็นต้องการกินวิตามินเสริมในปริมาณที่สูง แต่เน้นรับประทานอาหารให้ครบชนิด ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ก่อนตัดสินใจบริโภคควรจะเลือกดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการรับรองเรียบร้อยแล้วหรือยัง และอย่าลืมรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดการสะสมในร่างกายด้วย
โรคต้องรู้ ก่อนกิน อาหารเสริม เพื่อความปลอดภัย
เราอยากจะบอกเล่าข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกินอาหารเสริม โดยเฉพาะผู้ป่วย ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เป็นข้อมูลจาก คอลัมน์รายงานพิเศษเรื่อง “โรคกำเริบ เพราะอาหารเสริม”
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องระวัง การกินน้ำมันปลา
- ผู้ป่วยโรคตับ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมประเภทไขมัน เช่น วิตามินอี อีฟนิ่งพริมโรส
- ผู้โรคความดันโลหิตสูง ต้องระวัง การกินอาหารเสิรมประเภทโสม
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมแบบชงละลายน้ำ และอาหารโซเดียมสูง
- ผู้ป่วยโรคไต ต้องระวัง การกินอาหารเสริมจำพวกโปรตีน
- ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมไอโอดีน
วิธีกิน อาหารเสริม ให้ปลอดภัย ทำได้โดย
- ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว
- ก่อนซื้ออาหารเสริม ต้องอ่านฉลากและดูส่วนประกอบ
- เลือกที่องค์การอาหารและยา หรือหน่วยงานระดับมาตรฐานสากลรับรอง
- ลองเริ่มกินด้วยปริมาณน้อยๆ ดูก่อน
- ตรวจเลือดและดูค่าการทำงานของตับไตทุกปี
กินอาหารเสริมแบบชีวจิต
ให้ย้อนกลับไปหาคำแนะนำของกูรูต้นตำรับชีวจิต อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เลยค่ะ คือ กินวิตามินและอาหารเสริมที่ร่างกายต้องการจริง ๆ โดยสังเกตจากอาการผิดปกติของตนเอง เช่น หากเลือดออกตามไรฟัน แปลว่าขาดวิตามินซี หากไม่ค่อยอยากอาหารกิน แปลว่าได้วิตามินและเกลือแร่ไม่พอ ซึ่งอาจต้องกินผักผลไม้ให้เยอะและหลากหลายขึ้น หากคิดคำพูดไม่ออก มักติดที่ปลายลิ้น แปลว่าขาดวิตามินบี 1, 2, 6 และ 12
จะหยุดเมื่อไร เมื่อเริ่มกินวิตามินและอาหารเสริม ก็ให้กินสัปดาห์ละ 5 วัน (วันไหนก็ได้) โดยหยุด 2 วัน (วันไหนก็ได้) และเมื่อกินติดต่อกันไปสัก 2 เดือน ก็ให้หยุด จนกว่ามีอาการอีกครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการได้รับวิตามิน เกลือแร่ และอาหารเสริมเกินความต้องการของร่างกาย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาหารที่ผู้สูงอายุควรกินเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมตามวัย
เจาะลึกการดูแลผิว บำรุงข้อ ด้วยการ ใช้คอลลาเจน
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน
ติดตามชีวจิตได้ที่