IF

CHECK กันก่อน เพราะ IF อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน

CHECK กันก่อน เพราะ IF อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน ถึงแม้ว่า วิธีการกินแบบIF นั้นจะเป็นที่นิยมมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใคร ๆ ก็สามารถทำได้โดยปราศจากผลข้างเคียง

ทุกคนทราบกันดีว่า การกินแบบ Intermittent Fasting หรือ IF คือ การกินอาหารน้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น จะช่วยลดน้ำหนัก แต่เรามักนึกภาพกันไม่ออก ว่ากินน้อยลงคือแค่ไหน ? หลายคนอาจจะได้ยินว่า กินน้อยลง 500 แคลอรี ต่อวัน แล้ว 500 แคลอรี ต่อวันคืออะไร ? ไม่กินข้าว กินขนมแทน กินผลไม้แทนข้าว พอหรือไม่ ? รูปแบบการกินแบบกำหนดเวลา จึงดูเป็นวิธีการกินเพื่อลดน้ำหนักที่จะทำได้ง่ายขึ้นมาสักหน่อย เมื่อเทียบกับการต้องมานั่งนับแคลอรีในแต่ละมื้อ และนี่เป็นที่มา ที่ทำให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ต่างก็พูดถึงวิธีนี้กัน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะพูดถึงกันในวงกว้าง มีข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย และมากมายเต็มไปหมด แต่เราก็ยืนยันว่า ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยการปรับตารางชีวิต แบบกิน และอด หรือIF ที่ดูเหมือนจะง่าย และใคร ๆ ก็ทำได้ ควรศึกษาอย่างละเอียดก่อน ซึ่งเราได้รวบรวมองค์ความรู้ และคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นที่พูดถึงในระดับสากล ว่าด้วยเรื่องของ Intermittent Fasting หรือIF มาให้ทุกคนอ่านกัน แบบรู้ลึกรู้จริงกันค่ะ

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ได้กล่าวว่า วิธีIF นี้
อาจจะไม่เหมาะกับคนที่มีปัญหาพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ (Eating Disorder)

โดยเฉพาะ ในกลุ่มผู้มีอาการกินอาหารปริมาณมากเกินความต้องการ อย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ด้วยความรวดเร็ว คือ กินแม้จะไม่รู้สึกหิว (Binge Eating) ซึ่งกลุ่มนี้ จะมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ คือ จะกินอาหารคราวละมาก ๆ อย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ บางรายกินจนอาเจียนออกมาก็มี หรือจะเรียกว่า “ตบะแตก” ก็ได้ หลังกินแล้วจะรู้สึกผิดที่กินเข้าไป อยากจะลดน้ำหนัก พยายามควบคุมตัวเองไม่ให้กิน แต่ก็มีช่วงตบะแตก คนที่ปัญหากลุ่มนี้ หากเลือกใช้IF จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

ในช่วงอดอาหาร หลายคนมีโอกาส “ตบะแตก” ในช่วงที่สามารถกินอาหารได้ นอกจากนี้ในบางราย ที่เลือกอดอาหารเย็น อาจจะทำให้รู้สึกหิวในช่วงกลางคืน และนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ในบางรายอาจจะมีความเครียดมากขึ้น ในช่วงที่อดอาหาร และจะมีการชดเชยโดยการกินมากขึ้น ในช่วงเวลาที่สามารถกินอาหารได้

บางคนอาจจะพูดว่าทำไม ทำIF แล้วไม่เห็นจะผอมเลย หลุมพรางที่สำคัญของการทำIF คือ ยังต้องให้ความสำคัญกับแคลอรีของอาหาร จะเห็นว่า การกินอาหารในช่วงเวลาที่กำหนดนั้น เรายังสามารถกินอาหารได้เป็นปกติ แต่ไม่ได้อนุญาตให้กินอย่างมากมายมหาศาล หรือกินเผื่อมื้อหน้า เพราะถ้าทำเช่นนั้น น้ำหนักก็จะไม่ลดลง

โดยส่วนใหญ่IF ถ้าเลือกกินอาหารให้หลากหลาย มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของการขาดสารอาหาร แต่ก็อาจจะพบว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ถ้าเลือกทำIF อย่างไม่ถูกต้องได้เช่นกัน

การทำIF เป็นเพียงวิธีการในการกินอาหาร แต่ไม่ได้กำหนดว่า ในช่วงเวลาที่ให้กินอาหารนั้น ลักษณะอาหารที่กินจะมีรูปแบบอย่างไร ? หรือจำกัดอาหารประเภทไหน ดังนั้น จึงควรเลือกกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและแร่ธาตุครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องพึงระวัง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะต่าง ๆ ที่ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนเริ่มการกินแบบIF เพื่อสุขภาพของคุณเอง ได้แก่

  • ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีประวัติประจำเดือนขาด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ อยู่

เรื่อง กองบรรณาธิการ

ชีวจิต 533 – ฉบับพิเศษ 100 วิธี กิน อยู่ หยุดอ้วนถาวร

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 23 : 16 ธันวาคม 2563

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

VEGAN VS VEGETARIAN เคลียร์คัต “อาหารมังสวิรัติ” คืออะไร

วิธีการรักษาอาการ “อ้วนอักเสบ” สาเหตุฮอร์โมนขาดสมดุล

WEIGHT-LOSS STORY แพทย์แผนไทย ลดน้ำหนัก ได้อย่างไร?

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.