ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน

ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน แข็งแรงทั้งภายในและภายนอก

ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน ป้องกันฮีทสโตรกไม่รู้ตัว

ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน หลายๆ คนอาจนึกถึงการจิบน้ำเย็นๆ กินน้ำแข็ง ดื่มน้ำอัดลม เปิดพัดลม เปิดแอร์จ่อตัวทั้งวันทั้งคืน แต่มันใช่วิธีการดูแลตัวเองช่วงหน้าร้อนจริงๆ หรือว่าเป็นพฤติกรรมก่อโรค และอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกันแน่นะ

วันนี้แอดมีคำแนะนำในการ ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาฝากกัน

โรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดอากาศเปลี่ยนแปลง หรือช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล มีด้วยกัน 6 ปัจจัยหลัก ซึ่งหากร่างกายไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จะทำให้เกิดโรค โดย 6 ปัจจัยที่ว่า คือ

  1. ลม
  2. แดด
  3. ความชื้น
  4. ความเย็น
  5. ความแห้ง
  6. ความร้อนในร่างกาย

สำหรับการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อน ที่หลายคนกำลังทำเช่น ดื่มน้ำหวาน ดื่มน้ำอัดลม จิบน้ำเย็นตลอดเวลา เอาตัวจ่อแอร์ จ่อพัดลม อาจต้องเลิก เพราะแทนที่จะช่วยคลายร้อน อาจเป็นการเร่งให้ป่วยหนัก หรือร้ายแรงถึงขั้นฮีทสโตรก

1. ไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด

เป็นการหักธงที่หลายคนตั้งไว้เลยทีเดียวว่า อากาศร้อนๆ แบบนี้ต้องน้ำเย็นเท่านั้น จริงอยู่ว่าหากอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน หรือกลางแจ้ง หากไม่อยากเป็นฮีทสโตรก ต้องช่วยร่างกายระบายความร้อนให้ได้มากที่สุด แต่การใช้น้ำเย็นระบายความร้อนนั้นเป็นเรื่องที่ผิด

การดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็ง น้ำปั่น น้ำอัดลมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเข้าไปเจือจางน้ำย่อย รวมถึงยังมีผลให้เลือดที่มาเลี้ยงระบบย่อยอาหารน้อยลง จึงส่งผลให้ย่อยอาหารแย่ลง ก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ได้ง่าย คนที่เป็นโรคกระเพาะและเป็นแผลอักเสบจึงควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็น ส่วนคนที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหลอดลมอักเสบหากดื่มน้ำเย็น ก็จะยิ่งทำให้ไอ และหอบมากยิ่งขึ้น

2. ดื่มเครื่องดื่มที่เหมาะสมในหน้าร้อน

ในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ การเลือกเครื่องดื่มก็มีความสำคัญเช่นกัน จะมาดื่มชาไทยหวานเจี๊ยบ ก็จะเพิ่มความหนืดให้เลือด แต่ควรเลือกดื่มน้ำที่จะช่วยชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปทางเหงื่อ นอกจากการดื่มน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องแล้ว ก็มีน้ำให้เลือกดื่มได้ตามความชอบ คือ

ชาสมุนไพร ในกลุ่ม น้ำเก๊กฮวย น้ำใบไผ่ น้ำบ๊วย น้ำถั่ว จะช่วยลดความร้อนของหัวใจ ทำให้การไหลเวียนเลือดเป็นปกติ รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำในร่างกาย บำรุงตับ ไต ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ขับปัสสาวะ นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยแก้อาหารในร้อนอย่างอาการเบื่ออาหาร โดยเครื่องดื่มเหล่านี้จะช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น รวมถึงช่วยให้ตาสว่างได้อีกด้วย

เติมเกลือ และน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะ ลงในน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง เป็นการเสริม และป้องกันการสูญเสียเกลือ และแร่ธาตุของร่างกายได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นอย่างมาก

กินสมุนไพรฤทธิ์ร้อน นอกจากกินสมุนไพรฤทธิ์เย็นเพื่อให้ร่างกายคลายความร้อน การกินสมุนไพรฤทธิ์ร้อนก็มีความจำเป็น เพื่อช่วยขับเหงื่อ เป็นการระบายความร้อนในร่างกาย จะสังเกตได้ว่าเมื่อกินอาหารรสเผ็ดร้อน จนเหงื่อไหลออกมาแล้ว จะรู้สึกสบายตัว เนื่องจากสมุนไพรเหล่านี้ทำให้อุณหภูมิในร่างกายไม่ร้อนจนเกินไป

ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน

3. ไม่ควรนอนให้ลมหรือ  ความเย็นโกรก

ความร้อนจากลมแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับ ตากลมในขณะเหงื่อออก  จะทำให้อุณหภูมิผิวของร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สด ชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้ 

การใช้พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศจึงไม่ควรให้มีลมมากระทบโดยตรงกับร่างกายเป็นเวลาๆ โดยเฉพาะที่บริเวณท้อง ที่หากโดนลมอาจจะทำให้ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสียได้ หรือคนที่พลังพร่อง เมื่อโดนลมนานๆ จะทำให้เกิดความเย็น โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า ทำให้การไหลเวียนเลือดน้อยลง เป็นต้นเหตุให้เกิดอาหารปวดหัว

ส่วนคนที่อยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาออกจากห้องต้องระวังการปรับตัวกับอากาศที่ร้อนภายนอก โดยเฉพาะเด็กที่ไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าต้องระวัง เวลาที่เข้าออกจากพื้นที่ที่มีการปรับอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รวดเร็วจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย

4. การพักผ่อนให้เพียงพอ

โดยธรรมชาติของฤดูร้อน กลางวันจะยาว กลางคืนจะสั้น กว่าอากาศจะเย็นสบายให้นอนหลับได้ก็มักจะดึก แล้วตอนเช้าตรู่ท้องฟ้าก็สว่างเร็ว ทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าที่เคยเป็น จึงอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอได้ เป็นเหตุให้หน้าร้อนเราจะนอนได้น้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันอุณหภูมิในตอนกลางวันจะทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เหนื่อยง่าย เพราะมีเลือดไหลเวียนมาที่ผิวกายมากกว่าปกติ แต่ไปเลี้ยงสมองหรือไป ที่ระบบการย่อยอาหารน้อยกว่าปกติ จึงทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกง่วงตลอด

ในภาวะเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในห้องปรับอากาศ การได้พักผ่อนนอนหลับในช่วงกลางวันบ้าง จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่น้อยเลย แต่ในวัยทำงานที่คงจะนอนหลับกลางวันไม่สะดวก อาจใช้วิธีนั่งพิงพนักตัวตรง หลับตา สงบนิ่งๆ ในช่วงกลางวัน ก็เป็นการพักผ่อนที่ดี โดยห้ามนอนฟุบบนโต๊ะทำงาน แต่สำหรับผู้ที่สถานที่อำนวยที่จะนอนหลับช่วงกลางวันนั้น ท่านอนควรเป็นท่านอนราบหรือนอนตะแคง ห้ามนอนคว่ำ การนอนคว่ำ และการนอนฟุบกับโต๊ะจะกดท้อง กดทรวงอก กระทบการหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวจึงผ่อนคลายไม่เต็มที่

5. อาหาร

ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกหิว การปฏิบัติตัวสำหรับการกินอาหารที่เหมาะสมในหน้าร้อนนั้น พอสรุปได้ ดังนี้

  • มื้อเช้า อาหารเบาๆ  ในช่วงเช้าที่ท้องว่างเนื่องจากกระเพาะอาหารพร่อง ควรเริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อนๆ เพราะในหน้าร้อน ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากความร้อนทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำให้สูญเสียน้ำ การทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหารลดลง จึงยิ่งต้องถนอมการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่จะย่อยสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกาย ข้าวต้มอาจผสมถั่วเขียว, เมล็ดบัว หรือรากบัว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยขับความร้อน เสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม
  • ควรกินผลไม้ที่แพทย์แผนจีนถือว่ามีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน เพิ่มน้ำในร่างกาย ผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงกวา, แตงโม, แตงไทย, มังคุด, สับปะรด, สาลี่ เป็นต้น เหมาะสำหรับ กินแก้กระหายและขับร้อนในร่างกาย แต่ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน หรือขณะที่ท้องว่างหรือเวลาหิวจัด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทฤษฎีแพทย์จีนถือว่ามีคุณสมบัติร้อน อาหารทอดๆ มัน ๆ แห้ง ๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกทอดๆ มันๆ เช่น ถั่วทอด,  กล้วยแขก, ปาท่องโก๋, ไก่ทอด ฯลฯ หรืออาหารที่มีคุณสมบัติร้อน เช่น น้อยหน่า, ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย, ขนุน เป็นต้น โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการคอแห้ง, คันคอ, เจ็บคอ หรือเป็นไข้ตัวร้อน
    ถ้าจะกินก็ควรกินแต่น้อย แล้วดื่มน้ำเกลือ (น้ำเปล่าผสมเกลือป่น) เพื่อดับความร้อน หรือกินอาหารที่มีคุณสมบัติเย็น ช่วยปรับสมดุล สิ่งที่ควรระวังอีกอย่าง คือ หน้าร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ดังนั้นจึงควรจะระมัดระวังเรื่องการกิน ควรกินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ จะปลอดภัยกว่า

6. การดูแลสุขภาพเด็กเล็ก

ในเด็ก การปรับตัวของร่างกายจะยังไม่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ เด็กๆ จึงเจ็บป่วยได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลลูกในเรื่องสำคัญๆ ๔ เรื่องด้วยกัน คือ

  • เสื้อผ้า ควรเป็นประเภทผ้าฝ้ายที่ดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี เสื้อผ้าของเด็กต้องหลวม ไม่คับ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และควรระวังเรื่องการอับชื้นจากปัสสาวะ เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดผดผื่นคันได้
  • อาหาร ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง ร่างกายของเด็กยังอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย เพราะฉะนั้น อาหารจึงต้องสุกและสะอาดเสมอ น้ำแข็ง น้ำอัดลม ไอศกรีม ที่เป็นของโปรดของเด็กๆ ทุกคน ขณะเดียวกันความเย็นก็จะทำให้ระบบการย่อย การดูดซึมอาหารผิดปกติ จึงไม่ควรให้เด็กๆ กินบ่อย
  • ที่อยู่อาศัย การระบายความร้อนในห้องนอนมีความสำคัญต่อเด็กมาก ถ้าหากไม่มีเครื่องปรับอากาศ การใช้พัดลมต้องระมัด ระวังไม่ให้พัดลมถูกตัวเด็กโดยตรงไม่ควรให้เด็กนอนในที่เปียกชื้น บนพื้นปูน หรือพื้นที่เย็น ในกรณีที่เด็กมีเหงื่อออกมาก ต้องพลิกตัวเด็กบ่อยๆ เพื่อระบายความร้อนและใช้ผ้าผืนบางๆ เล็กๆ ปิดบริเวณหน้าอกและบริเวณท้อง เพื่อป้อง กันการกระทบความเย็น
  • การเดินทาง ในแสงแดดมีรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น  เมื่อต้องเดินทางไปไหน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อช่วยป้องกันแสงแดด

7. หญิงตั้งครรภ์กับการปฏิบัติตัวในหน้าร้อน

ขณะตั้งครรภ์ การเผาผลาญพลังงานในร่างกายของผู้หญิงจะสูงกว่าภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด จึงทำให้มีอาการหงุดหงิด มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย และเกิดภาวะลมแดดง่ายกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงตั้งครรภ์ การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องมิดชิด เพื่อป้องกันการกระทบความเย็น จึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมกระทบโดยตรง

ขณะเดียวกันต้องป้องกันความร้อนอบอ้าวด้วย การระบายอากาศในห้องจึงต้องดี ไม่ควรนอนบนเสื่อที่เย็น และ ควรมีผ้าห่มคลุมกายเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ระวังอย่าให้เป็นหวัด ห้ามอาบน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป เสื้อผ้าต้องหลวม ระบายอากาศดี ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ฯลฯ และผิวกายต้องสะอาดสะอ้าน อาหารที่กินต้องสดสะอาด และมีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา นม ถั่ว ฯลฯ ผลไม้พวกแตง (แตงโม แตงกวา) รวมทั้งมะเขือเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ขับร้อน หยุดกระหาย ก็มีความเหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทอุ่นร้อน อาหารและเครื่องดื่มที่ลดร้อนควรเป็นพวกถั่วเขียวต้ม ชาดอกเก๊กฮวย น้ำดื่มที่มีน้ำหวานและเกลือ (เกลือแร่) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือ กาเฟอีน เพราะสามารถผ่านเข้าไปในรกได้ง่าย และยังผ่านไปยังเต้านมไปถึงทารกได้ด้วย

8. บุคคลที่ควรดูเป็นพิเศษ

  1. ผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ มักมีระบบย่อยไม่ดีและความร้อนในร่างกายจะถดถอย เนื่องจากไตเสื่อมตามสภาพ
  2. ผู้ที่มีสภาพของม้ามพร่อง มีอาการการย่อยอาหารและการดูดซึมไม่ดี ท้องอืดง่าย
  3. ผู้ที่มีสภาพของไตหยางพร่อง มีอาการขี้หนาว แขนขาเย็น ลิ้นบวม และสีซีดขาว

คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ เมื่อได้รับความร้อนจากแดดร้อน และมาดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารที่มีความเย็นมากเกินไป จะทำให้ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ผิดปกติได้ เกิดความชื้นสะสมในร่างกาย อาการที่แสดงออก คือ ท้องเสีย ติดเชื้อง่าย ขี้หนาว ปวดหัว ตัวร้อนแต่ไม่สามารถขับเหงื่อได้ ปวดข้อและปวดตามกล้ามเนื้อ มักตรวจ พบว่า มีฝ้าสีขาวบนลิ้น

บทความอื่นที่น่าสนใจ

นักวิชาการชวนกิน ผักฤทธิ์เย็น เพื่อคลายร้อน

ประโยชน์ของพริก เป็นยาอายุวัฒนะ ยืดอายุ ลดความเสี่ยงหัวใจ และโรคมะเร็ง 

สมุนไพรดูแลผิวหน้าร้อน ร้อนนี้ผิวไม่ไหม้ ไม่แสบ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.