แพ้เครื่องสำอาง อาการยอดฮิตของสาวๆ แต่เรามีวิธีแก้จ้า

แพ้เครื่องสำอาง เรื่องของระวังของสาวๆ สายบิวตี้

แพ้เครื่องสำอาง เป็นอีกหนึ่งอาการที่หลายคนประสบปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีลักษณะผิวบอบบางแพ้ง่าย จึงทำให้เกิดอาการแพ้ ถ้าไม่อยากหมดสวยเพราะของที่จะเพิ่มความสวยให้กับเรา ต้องอ่านเลย

รศ. พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร สาขาวิชาโรคผิวหนัง อธิบายว่า เราจำเป็นต้องรู้วิธีการสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้ เพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมหลังมีอาการ รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในอนาคตให้เหมาะสมกับสภาพผิว ทั้งนี้เมื่อเลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการแพ้ได้

อาการแพ้เครื่องสำอาง ได้แก่ ผื่นสัมผัส (Contact dermatitis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสกับเครื่องสำอาง จากส่วนประกอบจำพวกน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น และสารกันเสียกันบูด แพ้เครื่องสำอาง ที่พบบ่อยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การระคายเคือง และการแพ้

ผื่นระคาย เกิดจากการระคายเคือง อาจเกิดได้จากกรดผลไม้ (AHA) BHA ยารักษาสิว ผลิตภัณฑ์สครับหรือขัดหน้า ผลิตภัณฑ์กำจัดขน เป็นต้น รู้สึกแสบหรือมีอาการคัน  โดยมักจะเกิดขึ้นเร็วหรือทันทีที่ใช้

ผื่นแพ้สัมผัส ที่พบบ่อยมักเกิดจากส่วนประกอบจำพวกน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น และสารกันเสียกันบูด ยาย้อมผม เป็นต้น รู้สึกคัน มีผื่นแดง หลังใช้ไปสักระยะ ใช้เวลานานกว่าการระคายเคือง

บางครั้งเครื่องสำอาง อาจก่อให้เกิดเกิดสิวลุกลามหรือรอยดำคล้ำ รอยด่าง แต่พบไม่บ่อย

วิธีรักษาอาการแพ้

หากแพ้ไม่รุนแรง ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้ทันที เพราะสามารถหายได้เอง หรือถ้ามีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นควรรีบพบแพทย์

วิธีสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้

  1. สังเกตว่าอาการแพ้เกิดหลังจากเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
  2. หากอาการแพ้เกิดหลังจากเริ่มต้นใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด ให้หยุดใช้ทุกอย่างแล้วค่อย ๆ เริ่มใช้ทีละ 1 อย่าง จากนั้นรอดูอาการ 1-2 สัปดาห์หลังใช้ผลิตภัณฑ์นั้น หากไม่แพ้ให้ทดสอบผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป หรือหากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้แบบถาวร
  3. สามารถทำการทดสอบการแพ้ที่ท้องแขน  โดยทาผลิตภัณฑ์ที่สงสัย  ขนาดเท่าเหรียญสิบ  ทาเช้า-เย็น ที่ตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อสังเกตอาการ
  4. เมื่อมาพบแพทย์  แพทย์จะวินิจฉัยโดยการทดสอบทางผิวหนัง  เพื่อหาสารส่วนประกอบที่ผู้ใช้แพ้เพื่อการหลีกเลี่ยงที่ถูกต้อง

วิธีป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอาง

  1. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ สารที่ระคายเคืองต่อผิว น้ำหอม สารแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ
  2. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันบูดสารกันเสียที่แพ้

มาสคาร่า ใช้ใกล้ตา ต้องระวังแพ้

มาสคาร่า เป็นอีกหนึ่งเครื่องสำอางที่ใช้ใก้ล้ตา ดังนั้นแล้ว จึงควรต้องระวังการแพ้เป็นพิเศษ อีกทั้งเพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเห็นผลในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้มีการนำสารเคมีที่เป็นตัวยาในการรักษาโรคความดันตาสูงผิดปกติมาใส่ในมาสคาร่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดอยู่ในประเภท “ยา” ไม่ใช่เครื่องสำอาง

การนำมาใช้เป็นมาสคาร่าในคนที่ไม่เป็นโรค ก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อบุลูกตา สีม่านตาเปลี่ยน ตาบวมและอักเสบ และมีผลข้างเคียงต่อผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ตัวยาสำคัญชนิดนี้มีประสิทธิผลทำให้เส้นขนดกดำและหนาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นหากมีโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ขอให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงสินค้าดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศเตือนถึงข้อห้ามการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว และให้ผู้บริโภคระวังสินค้าประเภทนี้ โดยข้อควรระวังคือ

1. แปรงปัดขนตา ควรเปลี่ยนทิ้งหลังการใช้งานนาน 4-6 เดือน และหากพบกลิ่นเปลี่ยนแปลง ควรทิ้งทันทีผลิตภัณฑ์ที่เหลือทันที เพราะองค์ประกอบทางเคมีของมาสคาร่าจะขึ้นเชื้อจุลินทรีย์ได้ง่าย หากใช้ต่อจะทำให้ตาอักเสบ คันและบวมเพราะติดเชื้อได้

2. การต่อเส้นขนตา นอกจากมาสคาร่าแล้ว ยังมีการใช้ขนตาปลอมทำเป็นแผงโดยใช้เส้นใยไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์และใช้เทปกาวเพื่อแปะติดกับหนังตาบน อาการข้างเคียงที่พบทั่วไป ทำให้ขนตาธรรมชาติหลุดร่วงง่าย ในบางรายที่ใช้ขนตาปลอมติดเป็นประจำ ขนตาธรรมชาติหลุดร่วงไปหมดอย่างถาวรก็มี นอกจากนี้เทปกาวอาจทำให้หนังตาระคายเคืองและอักเสบได้หากใช้ไม่ถูกต้อง และบางรายอาจมีอาการระคายเคืองจากการแพ้เทปกาว

3. ความเสี่ยงที่สำคัญจากการใช้มาสคาร่าคือ การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เข้าตาระหว่างการใช้งาน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงควรระมัดระวังหัวข้อต่อไปนี้:

  • ห้ามใช้มาสคาร่าระหว่างการขับรถ หรือรถกำลังเคลื่อนที่
  • ห้ามเติมน้ำหรือน้ำลายลงในมาสคาร่าที่แห้งหรือเริ่มแห้ง เพราะเป็นการเติมเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนลงในมาสคาร่า
  • ห้ามใช้มาสคาร่าร่วมกับผู้อื่น

4. ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากบ่งบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ หรือ “organic” หรือ ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติ 100% “all natural” ไม่ได้แปลว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนังเมื่อใช้งาน หรือไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเป็น “hypoallergenic.”

5. มาสคาร่า ที่มีฉลากบ่งบอกคุณสมบัติ “Hypoallergenic” หมายความถึงว่า

  • โอกาสในเกิดอาการแพ้น้อย แต่ไม่ได้หมายถึงไม่เกิดอาการแพ้เลย
  • เป็นไปได้ที่จะเกิดการอาการแพ้ต่อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติรวมทั้งสารจากธรรมชาติ เช่น ลาโนลิน เป็นสารธรรมชาติสกัดจากขนแกะ และใช้กันมากในครีมบำรุงผิว แต่มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีอาการแพ้ทุกครั้งที่ใช้กับสารดังกล่าว ฯลฯ
  • ให้จำไว้ว่า คำว่า “hypoallergenic” บนฉลากเครื่องสำอาง ไม่ได้รับรองว่าจะไม่เกิดอาการแพ้

สังเกตเครื่องสำอางปลอม

ในยุคโลกออนไลน์เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของใครหลายคนไปแล้ว ที่สามารถซื้อของ จ่ายเงิน หรือการทำธุรกรรมบนโซเชี่ยลที่ถือเป็น ความสะดวกสบาย โดยเฉพาะสำหรับสาวๆ หลายคน การซื้อ เครื่องสำอาง ผ่านทางออนไลน์ถือเป็นเรื่องคุ้นเคยแต่ใครจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ความงามที่เห็นคำโฆษณาตามหน้าเว็บเพจต่างๆ อาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด

น.พ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พบการโฆษณาขายสินค้าเครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์อ้างสรรพคุณเกินจริงจำนวนมาก ทั้งทางเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และไลน์ โดยอ้างว่า การโฆษณาผ่านการรับรองจากอย. ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการโฆษณา เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา แต่เป็นเพียงผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางมายื่นคำขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอางเท่านั้น  เพราะเมื่อได้รับใบแจ้งแล้ว มีการแอบอ้างนำเลขที่ใบรับจดแจ้งไปโฆษณาขายสินค้าทางออนไลน์

ส่วนใหญ่สินค้าออนไลน์ที่พบเป็นการโฆษณาแสดงสรรพคุณเกินกว่าการเป็นเครื่องสำอาง เช่น แสดงสรรพคุณรักษาโรค อย่างอาการเคล็ดขัดยอก ช่วยขยายขนาดอวัยวะเพศชาย กระชับช่องคลอด มีสรรพคุณไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้กับทาง อย. เช่น จดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แต่โฆษณาว่าสามารถเพิ่มขนาดอวัยวะเพศได้ ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ เข้าใจผิด และอาจนำไปใช้และเกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ทาง อย. ได้เตือนผู้บริโภคอีกว่า ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางควรมีวิจารณญาณในการเลือกซื้อ อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง เพราะเครื่องสำอางไม่สามารถบำบัดรักษาโรคได้ โดยควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เพราะหากเกิดปัญหาก็สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ หรือเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทยชัดเจน อ่านง่าย และระบุข้อความสำคัญ เช่น เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า โดยต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่นๆ

เนื่องจากการโฆษณามีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สามารถเอื้อให้ต่อผู้ประกอบการบางรายเอาเปรียบผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้คือ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยค้นคว้าหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ต้องการผ่านแหล่งข้อมูล ที่เชื่อถือได้ รวมถึงไม่สนับสนุนทางอ้อม ด้วย การกดไลค์ กดแชร์ ข่าว และข้อมูลอันเป็นเท็จต่างๆ ที่สร้างผลประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย หากพบเจอข้อมูลที่เข้าข่ายต้องสงสัย สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน 1556 หรือผ่านทางอีเมล์ 1556@fda.moph.go.th

หากไม่อยากเสียใจทีหลัง แนะนำให้ซื้อที่มีคุณภาพ และศึกษาข้อมูลสินค้าให้ถี่ถ้วนเสียก่อน นะคะ เพียงเท่านี้ก็สามารถอวดผิวพรรณ ใบหน้า อันสดใสของตัวคุณเองได้แล้ว

ที่มา

  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • กรมอนามัย

บทความอื่นที่น่าสนใจ

อิ่มไม่พอ ประโยชน์ของข้าวกล้อง ยังช่วยให้ผิวใส

เรื่องต้องรู้ ก่อนตัดสินใจ ฉีดสลายไขมัน

อย. เตือน! ครีมออนไลน์ ราคาถูก ทำผิวพังได้ง่าย ๆ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.