โรคแพนิก

แพนิก ภาวะตื่นตระหนกที่ต้องรักษา คุณเป็นอยู่หรือเปล่า?

แพนิก ภาวะตื่นตระหนกที่ต้องรักษา คุณเป็นอยู่หรือเปล่า?

แพนิก หนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้ ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่ทุกคนต้องเผชิญชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ส่งผลต่อความวิตกกังวลมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน แต่ถ้ามีความกังวลที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิด “อาการแพนิก” ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตได้

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกตื่นตระหนกและรู้สึกกังวล เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด แต่ในบางรายความวิตกที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคแพนิกได้เช่นกัน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำความเข้าใจถึงสาเหตุและอาการของโรคจะช่วยให้สามารถหาแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธีมากยิ่งขึ้น

รู้จัก “โรคแพนิก” คืออะไร?

โรคแพนิก คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยที่ผู้ป่วยเองก็ไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งโรคนี้ถูกเรียกว่า “โรคตื่นตระหนก” มีความเชื่อมโยงกับโรคทางจิตเวช ผู้ที่มีโรคแพนิกจะมีความวิตกกังวลจนอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ไม่กล้าทำกิจกรรม หรือเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว ในบางรายอาจพบภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

สาเหตุของโรค แพนิก มีอะไรบ้าง?

สาเหตุของโรคแพนิกเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ทำให้สารเคมีต่างๆ ในสมองเสียสมดุล จึงส่งผลให้พฤติกรรมและความคิดเปลี่ยนไปด้วย แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าว เช่น กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนที่ผิดปกติ ใช้สารเสพติด ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ถูกข่มขืน และโรคซึมเศร้า เป็นต้น

อาการของโรค แพนิก เป็นอย่างไร?

เมื่ออาการแพนิกกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกหัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อออก ท้องไส้ปั่นป่วน หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก วิงเวียน มือเท้าเย็น จนรู้สึกเหมือนควบคุมตนเองไม่ได้ ในรายที่เป็นหนักๆ จะวิตกกังวลกลัวคนมาทำร้าย ไม่กล้าอยู่คนเดียว หรือคิดไปเองว่าตนกำลังจะเสียชีวิต ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

สำหรับวิธีการรับมือกับอาการดังกล่าวเบื้องต้น แนะนำให้พยายามหายใจเข้า-ออกช้าๆ อย่าพยายามทำให้ตนเองตกอยู่ในบรรยากาศตึงเครียด ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ส่วนผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยแพนิก สิ่งสำคัญคือต้องพยายามทำความเข้าใจ อย่ามองว่าผู้ป่วยกำลังเสแสร้งแกล้งทำ ไม่เช่นนั้นอาการก็จะยิ่งแย่ลงได้

สำรวจตนเองด้วยแบบทดสอบโรคแพนิก

หากกำลังสงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคแพนิก เนื่องจากมักเกิดอาการตื่นตระหนก วิตกกังวลอย่างฉับพลันอยู่บ่อยครั้ง สามารถประเมินด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยแบบทดสอบโรคแพนิก ว่าในทุกๆ ครั้งที่รู้สึกตื่นตระหนก มีอาการเหล่านี้รวมด้วยอย่างน้อย 4 ข้อหรือไม่?

  • ใจเต้นเร็วและรัว
  • เหงื่อแตก
  • ตัวสั่น
  • อึดอัดหายใจไม่ออก หายใจได้แบบสั้นๆ
  • หายใจติดขัดไม่สะดวก
  • คลื่นไส้ หรือปั่นป่วนในท้อง
  • รู้สึกมึนงง โคลงเคลง วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
  • รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ
  • ตัวชา หรือเป็นเหน็บ
  • รู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน เหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง
  • กลัวที่จะเสียการควบคุม หรือเสียสติ
  • กลัวว่าอาจตายได้

วิธีการป้องกันและรักษา หากมีอาการแพนิก

สำหรับการรักษาอาการแพนิกนั้น สามารถรักษาได้ทั้งการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ, การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือ ทำการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด ซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้

แต่ทางผู้ป่วยของโรคนี้ ก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลมซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ควรให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม หากอยากรักษาแบบเบื้องต้นนั้น ก็ควรเริ่มต้นดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ ด้วยการมีพฤติกรรมเหล่านี้

  • ลดการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
  • กินนอนให้เพียงพอและเป็นเวลา
  • งดการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

ขอบคุณข้อมูลประกอบบทความจาก : โรงพยาบาลเปาโล

ชีวจิต TIPS เมื่อตกใจจนเกิดเป็น “โรคแพนิก” ควรรับมือกับมันยังไง ?

โรคแพนิก อาการตกใจหรือตื่นตระหนก วิตกกังวลอย่างกะทันหัน และมีอาการรุนแรงมากกว่าทั่วไป ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้มีเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้ แต่เรารู้สึกกังวลและเครียดขึ้นมาก่อน สำหรับในไทยสามารถพบคนที่เกิดอาการนี้ได้ถึงร้อยละ 3 – 5 และส่วนใหญ่มักเคยเกิดอาการแบบนี้ อย่างน้อยหนึ่งถึงสองครั้งในชีวิตได้

เมื่อมีอาการแพนิกเกิดขึ้น สมองที่เป็นส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ “อะมิกดาลา” (Amygdala) จะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาท ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ใจเต้นรั่ว รู้สึกปั่นป่วนไปทั่วท้อง ตัวเริ่มเกร็ง ชา เหงื่อแตก ทำอะไรไม่ถูก รู้สึกไม่เป็นตัวเอง 

สำหรับวิธีการรับมือเบื้องต้นทำได้ง่ายๆ โดย

  • พยายามหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ เมื่อเริ่มรู้สึกหายใจติดขัด ให้เริ่มหายใจทางปาก และตั้งสติให้ได้มากที่สุด
  • หลับตาลงช้า ๆ และค่อย ๆ คุยกับตัวเองดึงสติกลับมา การหลับตาจะช่วยให้จิตใจเราสงบมากขึ้น
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เริ่มจากคลายมือที่เกร็ง ค่อย ๆ ขยับไปมาอย่างช้า ๆ และทำร่างกายให้สบาย ๆ 

เมื่อเกิดอาการแพนิก ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถหายได้เอง โดยใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีตัวช่วยและวิธีการรับมือที่ดีเช่นกัน หากรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป 

บทความอื่นที่น่าสนใจ 

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

займ на карту маэстро мгновенно круглосуточно без отказа

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.