อันตรายจากการนอนไม่หลับ พร้อมเทคนิคหลับสบาย

อันตรายจากการนอนไม่หลับ พร้อมเทคนิคหลับสบาย

หลายคนน่าจะเคยมีอาการนอนไม่หลับกันมาบ้าง ซึ่งรู้มั้ยว่า อันตรายจากการนอนไม่หลับ น่ากลัวจริงๆ เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ หากมีอาการนี้บ่อยๆ ทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายหลายอย่างตามมา

นอนไม่หลับส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วการนอนที่ดีควรใช้เวลา 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าหากมีอาการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอจะส่งผลเสียมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

1. ง่วงนอนระหว่างวัน ร่างกายไม่สดชื่นแจ่มใส สมองทำงานช้าลง ง่วงซึมในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ

2. มีปัญหาเรื่องความจำ เพราะสมองไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพด้านการคิด การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิลดลง และส่งผลต่อความจำ ทำให้มีอาการขี้หลงขี้ลืมได้บ่อยๆ จนอาจเกิดภาวะสมองล้าได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ในอนาคต

3. อารมณ์แปรปรวน เมื่อนอนไม่พอสะสมหลายๆ วันจะทำให้ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลงและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไบโพลาร์อีกด้วย

4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด คนที่นอนไม่พอมักจะมีความดันเลือดสูงผิดปกติ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง

สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร

การนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน

-ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจมีความผิดปกติระหว่างการนอน เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาจากอาการอื่น เช่น อาการเจ็บป่วย มีไข้ โรคกรดไหลย้อน บางคนอาจมีระบบประสาทที่ตื่นตัวมากกว่าปกติจึงทำให้หลับยาก

-ปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

-ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการมีเสียงรบกวน หรือมีแสงไฟรบกวน

-อุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ เช่น การเล่นเกม การเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นกาเฟอีน เป็นต้น

วิธีแก้อาการนอนไม่หลับเบื้องต้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลว่าหากมีอาการนอนไม่หลับ สามารถนำวิธีเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น

1. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน

2. ไม่งีบหลับตอนกลางวัน หรือตอนเย็น เพราะจะทำให้นอนหลับยากตอนกลางคืน แต่ถ้าอยากงีบหลับควรอยู่ในท่านั่ง และไม่เกิน 30 นาที

3. งดเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน รวมถึงแอลกอฮอล์ และบุหรี่

4. เข้านอนให้เป็นเวลา

5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำให้หลับยาก เช่น ลดละเลิก การเล่นโทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์บนเตียงนอน การทำงานในห้องนอน การอ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้รู้สึกตื่นเต้น หวาดกลัว

6. นวดกดจุดบริเวณใบหน้าก่อนนอน ด้วยการใช้ปลายนิ้วนวด วนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ตามหัวคิ้ว ขมับ ร่องจมูก คางและมุมปาก

7. สร้างบรรยากาศห้องนอนให้ผ่อนคลายด้วยกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์

8. ปรึกษาแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น เพื่อใช้ยาร่วมในการรักษา

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ออนไลน์

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ชวนดูแล ป้องกัน รักษา โรคลำไส้แปรปรวนฉบับแพทย์แผนไทย

4 สายพันธุ์กัญชาไทย มีอะไรน่าสนใจ เป็นประโยชน์บ้าง

ทำอย่างไรดี เมื่อคนใกล้ชิด เป็นโรคซึมเศร้า

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.