แพ้เหงื่อ ผื่นคัน อาการที่คนขี้ร้อนต้องระวัง

แพ้เหงื่อ คนขี้ร้อน ขี้แพ้ ก็จะคันหน่อยๆ

อากาศร้อนแบบนี้ใครที่เหงื่อออกง่าย แล้วยังมีโรคภูมิแพ้อยู่กับตัว ไม่แคล้วมีอาการขึ้นผื่นคัน ปื้นแดงๆ แสบๆ แน่นอน อาการแบบนี้ เรียกว่า แพ้เหงื่อ และไม่ใช่เหงื่อของใคร หรือที่หลายคนเรียกว่า โรคแพ้เหงื่อตัวเอง อาการนี้จะเป็นอย่างไร ป้องกันได้ไหม เราไปดูกันดีกว่าค่ะ

แพ้เหงื่อ คืออะไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ผู้ที่เป็นโรคแพ้เหงื่อนั้น เมื่อสัมผัสกับเหงื่อ หรือมีเหงื่อไหลออกมาบนผิวหนัง จะทำให้เกิดจุดนูนแดง และขยายออกเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นปื้นแดงนูนคัน

อาการแพ้เหงื่อ ส่วนมากจะเกิดจากที่ผิวหนังของเราทำปฎิกิริยากับเหงื่อ จนเกิดเป็นผื่นคันขึ้น ลักษณะผื่นจะคล้ายกับลมพิษ เนื่องจากในเหงื่อของเรานั้นประกอบไปด้วย น้ำ เกลือแร่ และสารบางชนิด หรือตัวยาบางประเภทที่ถูกขับออกผ่านเหงื่อ และเรามีอาการแพ้ หรือระคายเคืองต่อสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการทำให้เกิดอาการแพ้ และคัน นั่นเอง

นอกจากนั้นแล้วความร้อน อากาศที่อบอ้าว ทำให้เกิดความอับชื้นในบริเวณ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่เกิดการเสียดสีระหว่างผิว ยิ่งเป็นการเพิ่มเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย หากทั้งหมดนี้มารวมกันจะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีทำให้เราเกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น

อาการแพ้เหงื่อ

อาการแพ้เหงื่อ เกิดขึ้นได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ แบบผื่นลมพิษ และแบบผดผื่น

– ผื่นลมพิษ : เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของเหงื่อ ส่วนมากมักจะเกิดหลังจากเราทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมาก ๆ เช่น การออกกำลังกาย อยู่ในสถานที่ร้อนอากาศไม่ถ่ายเท โดยจะเริ่มเป็นจุดนูนแดง และขยายเป็นปื้นนูนคัน มีลักษณะคล้ายลมพิษ แต่สามารถหายได้เอง ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่จะมีบางคนที่ใช้ระยะเวลานานกว่านั้น แต่อย่างไรก็ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

แพ้เหงื่อ

ซึ่งบางคนถ้ามีอาการอย่างอื่นด้วย เช่น ปากบวม ตาบวม หายใจลำบาก ปวดท้อง อาการไม่ค่อยดี ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะมันอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

– ผดผื่น: จะเกิดซ้ำในที่เดิม เมื่อเหงื่อออกจะเป็นแบบนี้ปกติ ผื่นจะขึ้นบริเวณข้อพับ หรือซอกคอ ในลักษณะผดผื่นใช้เวลาไม่นานแล้วผื่นจะยุบหายไป เมื่อเหงื่อออกอีกครั้ง จะเกิดอาการเดิมวนซ้ำเช่นเดิม โดยจะเกิดในผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการแพ้เหงื่อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คนที่เคยมีประวัติภูมิแพ้ผิวหนัง คงต้องระวังในส่วนนี้ให้มากกว่าคนอื่น และพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อน ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี และเมื่อรู้สึกเริ่มมีอาการคัน หรือรู้สึกว่าเหงื่อเริ่มออกมากขึ้นผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อกินยาและทายา ลดอาการผื่นและอาการคัน

ป้องกันการแพ้เหงื่อ

แม้ทุกคนจะต้องมีเหงื่อออก โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ภายใต้อุณหภูมิ 40 + การหนีจากเหงื่อออกเป็นเรื่องยากมากก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็เราสามารถป้องกันการแพ้เหงื่อได้อยู่นะคะ คนที่แพ้เหงื่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง โดยการป้องกันก็ไม่ยาก เน้น อากาศถ่ายเท โดยวิธีป้องกัน และลดอาการแพ้เหงื่อคือ

  • งดเดินทางไปในสถานที่ที่มีอากาศร้อน
  • หากต้องการออกกำลังกาย ให้เลือกสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อความเครียด
  • งดกินอาหารร้อน อาหารเผ็ด ชา กาแฟ และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่เร่งให้หงื่อออกเยอะมากขึ้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา ไม่รัดแน่น ระบายความร้อนได้ดี และแห้งไว

ดื่มน้ำอาร์ซี ช่วยลดอาการแพ้เหงื่อได้นะ

น้ำอาร์ชี หรือชาธัญพืช 9 ชนิด ของชีวจิต คิดค้นโดยอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต โดยท่านได้อธิบายไว้ว่า “อาร์ซี” (R.C.) ย่อมาจาก Rejuvenating Concoction โดย Rejuvenating แปลว่า กระปรี้กระเปร่า ส่วน Concoction แปลว่า เครื่องดื่มที่ปรุงขึ้น 

น้ำอาร์ซีจึงเป็นเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยน้ำอาร์ซี มีส่วนประกอบของกลูโคส (น้ำตาล) ดีเอ็นเอ (DNA) และ อาร์เอ็นเอ (RNA) จากธรรมชาติ และน้ำอาร์ซีสามารถเยียวยาโรคภูมิแพ้ได้

แพ้เหงื่อ  ดื่มน้ำอาร์ซี

โดยน้ำอาร์ซี ช่วยเยียวยาโรคภูมิแพ้ได้ก็เพราะว่า ภูมิแพ้นั้นเกิดจากสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคทำงานผิดปกติ อันเนื่องจากมาจากระบบอิมมูนซิสเต็ม (Immune System) หรือภูมิชีวิต การแก้ไขคือ เน้นไปที่การเพิ่มอิมมูนซิสเต็มในร่างกายให้สูงขึ้น ด้วยการไม่เพิ่มท็อกซินให้แก่ร่างกาย คือ ไม่กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม เนื้อสัตว์ใหญ่ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ

สูตรน้ำอาร์ซี

วัตถุดิบ

  1. ลูกเดือย 1 ช้อนโต๊ะ
  2. ข้าวสาลี 1 ช้อนโต๊ะ
  3. ข้าวบาร์เลย์ 1 ช้อนโต๊ะ
  4. ข้าวฟ่าง 1 ช้อนโต๊ะ
  5. ลูกบัว 10 เม็ด
  6. ข้าวซ้อมมือ 2 ช้อนโต๊ะ
  7. ข้าวเหนียวซ้อมมือ 2 ช้อนโต๊ะ
  8. ข้าวแดง (ข้าวมันปู) 2 ช้อนโต๊ะ
  9. ข้าวโอ๊ต 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีต้มน้ำอาร์ซี

  1. ใช้ข้าวเปลือกแข็ง ประกอบด้วย ลูกเดือย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง และลูกบัว ล้างให้สะอาดโดยให้ซาวครั้งเดียว ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนน้ำเดือด
  2. นำข้าวแข็งปานกลาง ประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือ ข้าวเหนียวซ้อมมือ ข้าวแดง (ข้าวมันปู) ที่ล้างให้สะอาดแล้ว โดยให้ซาวครั้งเดียว ต้มให้น้ำเดือดเป็นครั้งที่สองใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที
  3. ใส่ข้าวโอ๊ต ปิดไฟ ปล่อยให้ข้าวนอนก้น รินน้ำใสสีน้ำตาลแดงใส่กระติกน้ำร้อน สามารถดื่มได้ทั้งวัน ครั้งละหนึ่งถ้วยกาแฟหรือค่อนแก้ว

คำแนะนำที่ลืมไม่ได้คือ ให้ต้มดื่มวันต่อวันไม่ควรเก็บไว้ข้ามคืน และไม่แนะนำให้แช่ตู้เย็น กากข้าวที่เหลืออย่าทิ้งนะค่ะ นำมาหุงต่อเป็นข้าวสวย หรือจะทำเป็นข้าวต้ม โจ๊ก โดยใส่เผือก มัน ฟักทองลงไปเพิ่มความอร่อยได้ น้ำอาร์ซีแบบชีวจิตไม่แบบผงสำเร็จ ต้องต้มดื่มเองเท่านั้น

ที่มา

  • นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 543.
  • Si.mahidol.ac.th

เนื้อหาเพิ่มเติมอื่นๆ ที่น่าสนใจ

4 โรคเสี่ยง ที่มากับอากาศร้อนชื้น

อาหารลดความดัน ต้องกิน ช่วงร้อนตับแตก

30 ปัญหาสุขภาพ คนวัยทำงาน มีอะไรน่าห่วงบ้าง เราขอแชร์

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.