4 อาการเสี่ยง ที่มากับอากาศ ร้อนชื้น

อากาศ ร้อนชื้น พาเสี่ยงอาการไม่ปกติ

เดือนนี้เริ่มมีฝนโปรยปรายลงมาแล้ว แต่อากาศก็ยังคง ร้อนชื้น อบอ้าวอยู่ สภาวะอากาศเช่นนี้อาจทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี และก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา รวมถึงทำให้เกิดอาการเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งจะมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลโรคและอาการผิดปกติจากสภาพอากาศร้อนและมีความชื้นไว้ดังนี้

4 อาการเสี่ยง อากาศ ร้อนชื้น

กลิ่นตัว 

หากเราเคยเดินตามคนที่มีเหงื่อออกมากๆ คงไม่ต้องบรรยายว่ากลิ่นเหงื่อมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร ความจริงเหงื่อที่ออกใหม่ๆ นั้นไม่มีกลิ่น สังเกตจากเวลาอาบน้ำใหม่ๆ แล้วมีเหงื่อออก ตัวเราจะไม่เหม็น หรือเวลาวิ่งรอบสวนลุมพินีสัก 2-3 รอบจนเหงื่อท่วมตัว ตัวเราก็ไม่เหม็นเช่นกัน

แต่พอนั่งไปสักพักใหญ่ๆ จะสังเกตว่าตัวเราเริ่มมีกลิ่นไม่ค่อยดี นั่นเป็นเพราะแบคทีเรียซึ่งอยู่บนผิวหนังไปทำปฏิกิริยากับสารบางชนิดในเหงื่อของเราจึงทำให้เกิดกลิ่น โดยเฉพาะรักแร้และในร่มผ้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อชนิดพิเศษ

นอกจากนี้ การอยู่ในสภาพอากาศร้อนและอับชื้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าทำให้ฝ่าเท้ามีรูพรุนเล็กๆ (Pitted Keratolysis) ซึ่งจะทำให้เท้ามีกลิ่นรุนแรง

กลาก

เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อที่ชอบความอับชื้น อวัยวะส่วนใดก็ตามที่มีความอับชื้นพอเหมาะ เชื้อราโรคกลากจะเจริญเติบโตทันที เพราะฉะนั้นจึงพบเชื้อราโรคกลากบ่อย ๆ บริเวณขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้ว

อีกหนึ่งความน่ากลัวของโรคกลาก ตือ เป็นเชื้อราที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย หากไปสัมผัสกับคนที่มีโรค หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยก็อาจทำให้ติดต่อกันได้ อีกหนึ่งสถานที่ที่มักทำให้เกิดการติดเชื้อ คือ ร้านตัดผม ที่เต็มไปด้วยความอับชื้น จึงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงยังเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อีกด้วย หากไปสัมผัส หรือคลุกคลีกับน้องหมา น้องแมวที่มีโรคดังกล่าว ก็อาจทำให้ติดได้ง่ายเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้กลาก เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งร่างกาย โดยหากเกิดขึ้นที่หนังศีรษะ จะเรียก ชันนะตุ มีลักษณะ เป็นตุ่มหนอง หนังศีรษะลอกออกเป็นขุย หรือมีตุ่มหนอง และน้ำเหลืองจับเป็นแผ่นที่หนังศีรษะ เส้นผมในบริเวณนั้นจะหลุดร่วงออกเป็นหย่อมๆ ในบริเวณที่เกิดโรค รวมถึงทำให้เส้นผมเปราะบาง ขาด หลุด ร่วงได้ง่าย

  • โรคกลากที่ผิวหนัง พบได้ในหลายบริเวณ ตั้งแต่บริเวณที่เป็นซอก เช่นหลังหู ซอกนิ้วเท้า ข้อพับต่างๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ รวมถึงในบริเวณที่เปิดโล่ง อย่างใบหน้า ทำให้เกิดชื่อเรียกเกิดขึ้นตามบริเวณที่เกิดโรค คือ
  • สังคัง สำหรับโรคกลากที่เกิดบริเวณขาหนีบ
  • ฮ่องกงฟุต น้ำกัดเท้า สำหรับโรคกลากบริเวณเท้า

นอกจากขึ้นที่ผิวหนังแล้ว เรายังพบกลากขึ้นที่เล็บได้อีกด้วย โดยเราจะคุ้นเคยในชื่อ เชื้อราที่เล็บ พบได้ทั้งที่เล็บมือ และเล็บเท้า มีลักษณะคือ เล็บเป็นสีขาวขึ่นปนเหลือง จับตัวหนาขึ้น ผิวขรุขระไม่เรียบ แต่จะเปราะ และหักง่าย

ร้อนชื้น

สำหรับการป้องกันโรคกลาก นั่นทำได้ง่ายมาก คือ อย่าปล่อยให้ร่างกายอับชื้น หากเปียกให้รีบเช็ดให้แห้ง ร่วมถึงไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดโรคนั่นเอง และไม่สวนใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งการที่รัดเกินไป ไม่ว่าจะเป็นชุดชั้นใน เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งถุงเท้า

เกลื้อน

เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur)  ซึ่งเป็นเชื้อราเจ้าถิ่นที่อยู่บนผิวหนังของเรา เชื้อราโรคเกลื้อนชอบความมัน และอากาศร้อน ดังนั้นเมื่อเหงื่อออก และผิวมีความมันมากขึ้น เชื้อราประเภทนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นเกลื้อน ก็ยังมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โลหิตจาง หรือการได้รับยาสเตียรอยด์ เป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้เกิดได้เช่นเดียวกัน

ร้อนชื้น

อาการของโรคเกลื้อนคือ จะทำให้ผิวเป็นผื่นลักษณะวงกลม มีหลายสี เช่น สีขาว ชมพู น้ำตาล ม่วง เทา แต่ไม่มีอาการแสบ และคัน ยกเว้นเมื่อแผลถูกเหงื่อ จึงจำทำให้เกิดอาการขึ้นมา โดยเกลื้อนเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดความอับชื้น เช่นข้อพับ ขาหนีบ เช่นเดียวกับโรคกลาก

ผิวหนังอักเสบ

พบมากในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ โดยจะมีผื่นขึ้นบริเวณข้อพับศอก ข้อพับเข่า เกิดจากมีเหงื่อออกมาก ถูกแสงแดดจัด หรืออยู่ในสภาวะอับชื้น ซึ่งจะทำให้มีอาการคันยุบยิบ หลายคนอาจเรียกว่าอาการ “แพ้เหงื่อ”

นอกจากนี้ยังพบผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการถูกแสงแดดจัด ๆ ที่เรียกว่า “Seborrheic Dermatitis” ซึ่งในปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่า “Sebderm” ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูกหว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู และบางคนเกิดร่วมกับรังแค

ผื่นชนิดนี้อาจมีอาการเห่อมากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัดทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลูปัส หรือ “โรคพุ่มพวง” ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับแสงแดดโรคหนึ่ง

หากหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยป้องกันโรคผิวหนังได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 377 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.