กินน้ำตาล อย่างไร ให้ไกลห่างเบาหวาน

กินน้ำตาล ให้ปลอดภัย ทำได้มีอยู่จริง

น้ำตาลไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป แต่จะ กินน้ำตาล อย่างไรให้เราห่างไกลจากเบาหวาน ถ้ากินให้เป็น รู้จักกินให้พอดี สิ่งนี้จะไม่กลับมาทำร้ายเรา ครั้งนี้ชีวติตได้คำแนะนำจากคุณหมอมาแนะนำวิธีกินน้ำตาลให้ปลอดภัย และเกิดประโยชน์ มาฝากกันค่ะ

ประโยชน์ของน้ำตาล

น้ำตาล เป็นสารอาหารที่หลายคนมองว่าเป็นตัวร้ายก่อโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ อย่างโรค เบาหวาน ซึ่งความน่ากลัวคือ โรคนี้มักไม่มาเพียงลำพัง แต่จะพาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ มาด้วยอีกเป็นพรวน แล้วตกลงว่ามีประโยชน์จริงไหมนะ

  • น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ความหวานของน้ำตาลจะกลายเป็นพลังงานให้เรามีแรงในการใช้ชีวิต โดย น้ำตาล 1 ช้อนชา จะเป็นพลังงาน 16 กิโลแคลอรี
  • น้ำตาลควบคุมกล้ามเนื้อ ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อในร่างกายที่จะคอยยืด และหดตัว แต่ยังควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจ ให้เต้นเป็นปกติ
  • ช่วยการทำงานของร่างกาย น้ำตาลจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือด ระบบประสาท และระบบเนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานได้เป็นปกติ
  • ช่วยสื่อประสาท น้ำตาลจะช่วยส่งระบข้อมูลของระบบประสาท ไปยังสมองได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
  • ช่วยกระตุ้นการหลั่งเซโรโทอิน ที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ การนอนหลับ และลดความวิตกกังวล ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย โดยจะเกิดจากการที่ ตับอ่อนได้รับน้ำตาล แล้วปล่อยอินซูลินออกมาในเลือด ซึ่งจะทำให้สมองหลั่งเซโรโทอินออกมานั่นเอง

จะเห็นได้ว่า น้ำตาลมีประโยชน์มากมายเลยค่ะ แต่ประโยชน์เหล่านี้จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนก่อโรคได้นั้นเอง แล้วจะดูแลน้ำตาลอย่างไร เพื่อให้ได้รับประโยชน์ ก็ทำได้ตามนี้เลยค่ะ รับรองว่าไม่ยาก ทำตามได้ทุกคน

กินน้ำตาล ให้ห่างไกลเบาหวาน

การกินน้ำตาลได้ประโยชน์ ห่างไกลจากเบาหวานนี้ แนะนำโดย พญ. สาริษฐา สมทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัยทำงาน และแพทย์เฉพาะทางด้าน Neuro Dermatology Anti-aging

ควรกินอาหารอย่างสมดุล

กินอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ คือกินเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น  อย่ากินมากกว่าใช้ หรือกินน้อยกว่าใช้มากเกินไป  โดยต้องประเมินว่าอายุเท่าใด กิจกรรมที่ทำต้องใช้แรงมากน้อยแค่ไหน  และควรกินอาหารกี่มื้อ จึงจะไม่อ้วน และแอดขอแนะนำว่าควรเน้นอาหารประเภทผัก และโปรตีนจากพืช จะช่วยให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น

ธงโภชนาการเมื่อก่อนให้กินคาร์โบไฮเดรตปริมาณ ½ จาน  แต่ถ้าคุณทำงานในออฟฟิศ ไม่ค่อยขยับตัว ก็ควรกินข้าว แป้ง น้ำตาล น้อยกว่า ¼ ของจาน  ถ้าวันไหนกินเยอะ อีกวันควรต้องลดลงน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์  หรือเสริมวิตามินบางประเภทที่ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต เช่น วิตามินบี 1 บี 6 บี 12  หรืออาจต้องไปหาคุณหมอ เพื่อให้จ่ายวิตามินที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients)  ซึ่งช่วยในการเผาผลาญไกลเคชั่น  (Glycation)” 

หรืออาจจะใช้ สูตรการทานอาหารแบบชีวจิต เป็นสูตรที่ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง และเน้นไปที่ผัก และโปรตีนให้มากขึ้น โดยมีสัดส่วน

  •  คาร์โบไฮเดรต ไม่ขัดสี 30%
  • ผัก 35% 
  • โปรตีนจากถั่ว และอาหารทะเล 25%   
  • ผลไม้และอื่นๆ 10% 

ออกไปตากแดดบ้าง

เพราะถ้าร่างกายขาดวิตามินดี การเผาผลาญกูลโคสก็จะไม่ดีด้วยเช่นกัน และต้องเป็นการตากแดดในเวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้า ก่อน 8 โมง และตอนเย็นช่วง 5 – 6 โมงเย็น วันละประมาณ 15 นาทีด้วย

ออกกำลังกาย

ออกกำลังกาย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ถ้าเป็นไปได้ ควรออกกำลังกายกลางแจ้งจะได้แสงแดดไปด้วยเลย

ดื่มน้ำ

ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ½ ลิตร จะช่วยให้ความเข้มของน้ำตาลในเลือดไม่มากไม่น้อยเกินไป นอกจากนั้นน้ำ ยังไปขับของเสียทุกอย่างออกจากร่างกายอีกด้วย

ลดความเครียด

เพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลทำงานหนัก  ซึ่งจะมีผลต่อมหมวกไต เกี่ยวพันไปถึงการเพิ่มและลดน้ำตาลในเลือด ฮอร์โมนกลูคากอน และอินซูลิน ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำตาลในเลือดเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ

เวลาที่คนเราโกรธหรือโมโห ร่างกายต้องการน้ำตาลมาก พอได้กินอาหารก็จะอารมณ์ดีขึ้น จึงไม่ควรเครียด หรือโกรธ เพื่อไม่ให้คอร์ติซอลไปรบกวนการทำงานของอินซูลินกับกลูคากอน ซึ่งจะทำให้ insulin receptor  เสีย ระบบน้ำตาลในร่างกายก็จะไม่รวน

บางคนถามว่าทำว่าทำอย่างไรจะไม่ให้โกรธ  ไม่อารมณ์เสีย ไม่เครียด ในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วทำได้ ถ้าเราปล่อยวาง อย่าไปอยากได้อยากดีมากเกินไป ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ อย่าอิจฉาคนอื่น พื้นฐานความเครียดมันมาจากตรงนี้

ตรวจสุขภาพประจำปี

เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงต่ำอย่างไร นอกจากนั้นยังต้องตรวจ ระดับน้ำตาลสะสม  (  HbA1c- Hemoglobin A1C) ซึ่งจะเป็นการดูค่าน้ำตาลในเลือดที่ย้อนหลังไปได้ประมาณ 2-3 เดือน แตกต่างจากระดับน้ำตาลในเลือดทั่วไป ที่ดูค่าน้ำตาลในแต่ละวัน

กินน้ำตาล

ภาวะน้ำตาลต่ำ

ก็ต้องพกลูกอม ช็อคโกแลตบาร์ ซีเรียลบาร์ เพื่อใช้ในกรณีมีอาการน้ำตาลต่ำ ในกรณีที่ใช้ยาต่าง ๆ ที่มีผลทำให้น้ำตาลต่ำ ก็ควรหมั่นไปหาหมอเพื่อตรวจเช็ค

ส่วนผู้มีระดับน้ำตาลต่ำจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ใช้ยาลดน้ำหนัก ไม่ควรใช้ยาเองโดยพลการ ไม่ปรับโดสยาเอง ไม่ใจร้อนเกิน  ผู้ที่ทำ IF  ก็ไม่ควรอดอาหารนานเกินไป  ผู้ที่กินคีโตน ก็ไม่ควรกินมากเกินไป

ส่วนผู้มีระดับน้ำตาลต่ำจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ใช้ยาลดน้ำหนัก ไม่ควรใช้ยาเองโดยพลการ ไม่ปรับโดสยาเอง ไม่ใจร้อนเกิน  ผู้ที่ทำ IF  ก็ไม่ควรอดอาหารนานเกินไป  ผู้ที่กินคีโตน ก็ไม่ควรกินมากเกินไป 

การทำ IF ควรทำอย่างระมัดระวัง  ถ้าจะทำแบบโหด ๆ  ควรต้องไปพบแพทย์ทุกเดือน รวมถึงผู้ที่ใช้ยาฉีดพุง เพราะมันผิดธรรมชาติหน่อย ๆ

พญ. สาริษฐา สมทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัยทำงาน และแพทย์เฉพาะทางด้าน Neuro Dermatology Anti-aging

ส่องอาการ ติดหวาน

อย่างที่รู้กันว่า น้ำตาล เป็นหนึ่งในตัวร้ายทำลายร่างกายหากได้รับมากเกินไป วันนี้เราจะมาชวนเช็กว่าตัวเองเข้าข่าย เสพติดของหวาน รึยัง และจะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ

อารมณ์แปรปรวน ไม่เป็นตัวเอง

สัญญาณแรกที่เราพบเมื่อระบบร่างกายรวนก็คือ อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจะหลั่งออกมา เพราะได้รับผลกระทบจากการเสพติดน้ำตาลไปแล้วนั่นเอง

ถ้ามองเป็นภาพกว้างๆ คือเมื่อเรากินของหวานเข้าไป น้ำตาลในเลือดจะพุ่งขึ้น และยังข้ามตัวกรองกั้นระหว่างเลือด ไปที่สมองได้ ส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “Sugar High” คือจะมีอาการตื่นตัว แต่เมื่อระดับน้ำตาลตก สมองก็จะดิ้นรนเพราะต้องการน้ำตาล ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางอารมณ์อยู่แล้ว เพราะจะทำให้อาการแย่ลง ผลของการกินน้ำตาลที่มีต่อสารสื่อประสาทในสมองยังสังเกตได้ในเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น เมื่อได้กินของหวานเด็กกลุ่มนี้จะไม่อยู่นิ่ง ควบคุมสมาธิไม่ได้

 ลืมหมดทุกอย่าง

โดยธรรมชาติแล้วสมองของเราสามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาได้เอง แต่ในกระบวนการนี้สมองต้องการสารอาหารจากเลือดผ่านทางเส้นเลือด ดังนั้นถ้าเรามีภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นเวลานานๆ เลือดก็จะข้นขึ้น ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด เลือดจะไหลเวียนได้ยากขึ้น หลอดเลือดก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้มีอาการเส้นเลือดตีบ สมองก็จะสร้างเซลล์ใหม่ไม่ได้ ความจำแย่ลง ลืมแล้วลืมเลย 

ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือผู้ที่มีความบกพร่องในส่วนอื่น ๆ ของสมองถึงไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ สำหรับคนทั่วไปในระยะการทำงานของสมองจะเสื่อมสมรรถภาพ ไม่สามารถสร้างเชลล์ใหม่ได้ ทำให้เราคิดอะไรไม่ค่อยออก รู้สึกว่าสมองไม่ปลอดโปร่ง

ภาวะที่แย่ที่สุดคือ ถ้าหลอดเลือดในสมองจุดไหนมีไขมันอุดตันมากจนเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปได้ สมองส่วนนั้นก็จะตาย ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ก็จะตามมา

ที่มา นิตยสารชีวจิต

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แจกตาราง 14 วัน รีเซ็ตสุขภาพ สไตล์ชีวจิต

รวม ของว่าง ช่วยต้านโรคมะเร็ง

ทำ IF ให้ถูกวิธี ลดหุ่นได้ ลดโรคด้วย คุ้มต่อสุขภาพ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.