อาหารสมอง จากธรรมชาติ ลดเสี่ยงโรคสมอง
อาหารสมอง หรืออาหารที่ช่วยเพิ่มพลังให้กับสมอง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค รวมถึงลดความล้าในวันที่ต้องคิดอะไรมากมายมีอยู่ในธรรมชาติ โดยในวันนี้แอดมีตัวหลัก ๆ ที่แนะนำโดย อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักโภชนาการชื่อดัง มาบอกเล่าค่ะ
ขมิ้น
อาหารสมอง ตัวแรก เป็นเครื่องเทศของอินเดียที่พบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น ผงกะหรี่ ในขมิ้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่าสารเคอร์คูมิน (Curcumin) มีผลในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ชาวอินเดียรับประทานสารนี้ในอาหารสม่ำเสมอ และนักวิจัยได้ค้นพบว่า อัตราการเกิดโรคอัลไซมอร์ในคนอินเดียต่ำที่สุดในโลก
สารเคอร์คูมินช่วยชะลอการสะสม หรือขจัดคราบพลัคในสมองที่ทำให้เกิดโรคอัลไซมอร์ โดยการลดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระจากโปรตีนอินเตอร์ลูคิน -1 เบต้า และไซโตไคน์ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย
เมล็ดทานตะวัน
เมล็ดทานตะวัน อุดมไปด้วยวิตามินอีซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระที่จะทำลายโครงสร้างสมอง เพียงกินเมล็ดทานตะวัน 1/4 ถ้วยต่อวัน ก็จะให้วิตามินอีสูงถึง 90.5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการวิตามินอึในแต่ละวัน
เมล็ดดอกทานตะวันยังเป็นแหล่งของแมกนีเซียมที่ดี มีสารอาหารที่ช่วยป้องกันไมเกรน มีหลักฐานการวิจัยพบว่า ระดับแมกนีเซียมมีผลต่อตัวรับ และสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับไมเกรน แมกนีเซียมจะทำงานตรงกันข้ามกับแคลเซียม เวลาที่ระดับแมกนีเซียมต่ำ แคลเซียมจะวิ่งไปที่เซลล์ประสาทและกระตุ้นการทำงนของซลล์ประสาทมากเกินไป ทำให้เซลล์ประสาทเกิดการหดตัวมากกว่าปกติ แต่ถ้ามีระดับเมกนีเซียมเพียงพอ จะช่วยให้เซลล์ประสาทคลายตัวผ่อนคลาย เมล็ดทานตะวัน 1/4 ถ้วย ให้แมกนีเซียมประมาณ 1/3 ของความต้องการประจำวัน
สำหรับการทานเมล็ดทานตะวัน ทานได้หลายรูปแบบ เช่นในรูปแบบอาหารว่าง หรือผสมใส่สลัด โยเกิร์ต โรยไข่ตุ๋น พาสต้า อาจจะใส่ในน้ำจิ้มบางชนิด นำไปทำเป็นครีมเป็นเนยเมล็ดทานตะวันซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล แต่ได้ไขมันดีและมีวิตามินอีสูง
องุ่น
มีสารพฤกษเคมีสำคัญหลายชนิด เช่น เรสเวอราทรอล (Resveratrol) เควอร์ซิติน (Quercetin) คาเทชิน และมีสารพฤกษเคมีอื่น ๆ ซึ่งให้ผลในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แนนซี เบอร์แมน แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแคนซัส ได้เปรียบเทียบหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีองุ่นและไม่มีองุ่น พบว่าอาหารที่มีองุ่นช่วยการทำงานของยีนที่ยับยั้งการเกิด
โรคอัลไซเมอร์ ลดการอักเสบและความเครียดจากอนุมูลอิสระในสมองได้ การอักเสบนี้เองที่ทำให้นักวิจัยเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคที่ทำให้สมองเสื่อม
ผลการวิจัยของเบอร์แมนยังแสดงให้เห็นว่า อาหารที่เสริมองุ่นจะเพิ่มการทำงานของทรานส์ไทเรติน (Transthyretin) ถึง 246 เท่า ทรานส์ไทเรตินคือตัวที่ต่อต้านแอมีลอยด์ – เบต้าพลัค ช่วยลดการเกิดพลัคอันเป็นสาเหตุหนึ่งของอัลไซเมอร์
นักวิจัยยังพบว่า สารพฤกษเคมีในองุ่นช่วยยับยั้งการทำงานของยีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบที่ส่งผลให้แก่ก่อนวัยและเร่งการเกิดสมองเสื่อม เช่นโรคอัลไซเมอร์
บลูเบอร์รี่
บลูเบอร์รี่มีสารกลุ่มฟลาโวนอล (Flavonal) ชนิดแอนโทไซยานินและฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดการอักเสบ สามารถช่วยเพิ่มความจำในผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่กลไกการทำงานของฟลาโวนอยด์ต่อสมองยังไม่ชัดเจน
การวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า สารดังกล่าวสามารถผ่านเขตแดนเลือดและสมองได้หลังจากที่บริโภคเข้าไปและจากการให้ดื่มน้ำบลูเบอร์รี่ทุกวัน วันละ 500 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสารฟลาโวนอยด์จะส่งเสริมการทำงาน
ของเชลล์ประสาทที่เชื่อมโยงกันให้สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นการสร้างเชลล์ประสาท ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และจดจำดีขึ้น ทั้งยังลดอาการซึมเศร้า รวมถึงซะลอความเสื่อมของสมองได้อีกด้วย
ชาเขียว
ชาที่เราดื่มกัน ไม่ว่าจะเป็นชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง หรือชาดำ ต่างก็มาจากต้นชาชนิดเดียวกัน มีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคือสารพอลิฟินอล (Polyphenol) เช่นเดียวกัน เพียงแต่สารนี้จะมีปริมาณแตกต่างกันตามกรรมวิธีการผลิตชาชนิดต่างๆ
สารพอลิฟินอลชนิดที่สำคัญคือกลุ่มสารคาเทชิน (Catechin) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง สารในกลุ่มนี้มี 4 ชนิด แต่สารคาเทชินที่มีฤทธิ์มากที่สุดและปริมาณมากที่สุดในชาเขียวคือสารอีจีซีจึ (Epigallocatechin-3-gallatae : EGCG) ซึ่งจัดว่าเป็นสารพอลิฟีนอลที่ได้รับการศึกษามากที่สุด
ในบรรดาชา 4 ชนิด ชาขาวเป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตน้อยที่สุด รองลงมาคือชาเขียว โดยชาขาวจะผลิตจากส่วนของหน่ออ่อนที่เริ่มแทงยอดออกมาหรือใบชาใบแรกที่เริ่มผลิออก หลังจากเก็บจะต้องนำไปนึ่งทันที เพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในชา แล้วจึงนำไปทำให้แห้ง ชาขาวจึงมีสารคาเทชินสูงกว่าชาอื่น
ส่วนชาเขียวจะเก็บเมื่ออายุมากกว่าชาขาว หลังจากเก็บจะนำไปทำให้เหี่ยวโดยการผ่านลม แล้วจึงผ่านความร้อนอีกครั้งเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในชา ชาเขียวจึงมีสารคาเทชินน้อยกว่าชาขาวเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ชาเขียว 1 ถ้วยมีสารพอลิฟีนอลสูงถึง 50 – 150 มิลลิกรัม
มีข้อมูลการวิจัยว่า การดื่มชาเขียวสม่ำเสมอให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล ป้องกันโรคตับ เพิ่มภูมิต้านทาน และยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูกและฟัน รวมถึงการทำงานของสมอง
ปัจจุบันมีการวิจัยชาเขียวมากขึ้น โดยเฉพาะชาเขียวสกัด พบว่ามีผลด้านการป้องกันความจำเสื่อมเช่น อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน แต่กลไกการทำงานยังไม่สามารถอธิบายได้
ที่มา นิตยสารชีวจิต
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมที่พบมากขึ้นในสังคม
- เทคนิคการดูแลสมอง เพื่อยืดอายุการใช้งาน
- รู้หรือไม่? แอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมองและสายตา
ติดตามชีวจิตได้ที่