ฮีทสโตรก โรคลมร้อน

โรคลมร้อน ทำคนไทยเสียชีวิตแล้ว 30 ราย ภายใน 2 เดือน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผย โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก คร่าชีวิตคนไทยแล้ว 30 ราย ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งนับว่าสูงเป็น 2 เท่า จากปีก่อน ๆ

สำหรับผู้เสี่ยง โรคลมร้อน คือเด็กเล็กวัยทารกจนถึงอนุบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ฯลฯ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มอาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง คือกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้

สัญญาณเตือน โรคลมร้อน

  • รู้สึกไม่สบาย แม้ดื่มน้ำและพักผ่อนในที่มีอากาศเย็นนานกว่า 30 นาที
  • ไม่มีเหงื่อออก แต่รู้สึกร้อนมาก
  • มีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • หายใจเร็ว หรือหายใจถี่
  • สับสน มึนงง
  • ชัก
  • ไม่ตอบสนอง
  • หมดสติ

การปฐมพยาบาล เมื่อมีอาการ โรคลมร้อน

  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
  • ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออกไป
  • ทำให้ผิวเย็นลง ใช้ผ้าเย็น หรือเปียก หรือฉีดสเปรย์น้ำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ประคบเย็นบริเวณคอ รักแร้
  • พัดผิวขณะเปียกชื้น
  • ดื่มน้ำ หรือน้ำเกลือแร่
  • อาการควรดีขึ้นและอุณหภูมิควรเย็นลงภายใน 30 นาที
  • ห้ามเทน้ำเย็นราดบนตัวผู้ป่วย เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อสั่นเทา ส่งผลให้ความร้อนในร่างกายไม่ลดลง

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานกลางแดด แต่ในช่วงฤดูร้อนก็ต้องระวังกับโรคลมร้อนไว้ให้ดี เพราะการอยู่ในออฟฟิศแอร์เย็นฉ่ำ ก็มีสิทธิ์ป่วยด้วยโรคนี้ได้

ทำงานออฟฟิศก็เสี่ยงฮีทสโตรกได้

เมื่อสาเหตุของโรค ฮีทสโตรก คือความร้อนและแสงแดด คนจึงมักคิดกันว่า ผู้ที่มีอาชีพอยู่ในภาคแรงงานหรือทำงานภายนอก ท่ามกลางไอแดดระอุเท่านั้นที่เสี่ยงต่อโรคนี้ แท้จริงแล้วคนทำงานในออฟฟิศตลอดวันก็เสี่ยงเป็นโรคนี้เช่นกัน
นายแพทย์ศักดา อาจองค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

“โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) นี้ คนไทยรู้จักกันในชื่อ โรคลมแดด หรือโรคลมเหตุร้อน เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกิน 41 องศาเซลเซียส จนไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้

“โดยปกติกลไกของร่างกายเมื่อได้รับความร้อน จะระบายความร้อนออกหลายทาง เช่น ทางลมหายใจและทางเหงื่อ เมื่อสูญเสียน้ำ สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะสั่งการให้เกิดความรู้สึกหิวน้ำ ซึ่งเป็นกลไกปรับตัวสู้กับความร้อนของร่างกายที่สูงขึ้น

“แต่ผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก ขณะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมา สมองจะไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายขาดน้ำ เพราะความเข้มข้นของเลือดจะไม่เปลี่ยนแปลง

“เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ต่อมเหงื่อจะหยุดทำงานทันที ทำให้ความร้อนในร่างกายไม่ได้ระบายออก อุณหภูมิในร่างกายจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เบาๆ แล้วหาย เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลียเบื่ออาหาร ไปจนอาการรุนแรง เป็นสาเหตุให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ตับ ล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้”

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรกมีหลายกลุ่ม

  • กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่ระบบระบายความร้อนในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ดีนัก
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลต่อการขับโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติกับระดับเกลือแร่ได้ง่าย
  • กลุ่มนักกีฬาที่ออกกำลังกายหักโหม และทหารเกณฑ์ฝึกใหม่ที่ต้องฝึกกลางแดด
  • กลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่นั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน แล้วต้องออกมาปะทะอากาศร้อนกะทันหันทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันแต่อย่างไรก็ตาม

โรคฮีทสโตรก สามารถป้องกันได้ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือในที่ที่อากาศถ่ายเทเป็นประจำ
  • ดื่มน้ำมากๆ ไม่น้อยกว่า 6 – 8 แก้วในแต่ละวัน
  • สวมใส่เสื้อสีอ่อน ไม่หนา เนื้อผ้าบางเบา ระบายความร้อนได้ดี
  • ควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ โดยจัดให้อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและไม่ปล่อยให้อยู่ในรถที่ปิดตามลำพัง

ข้อมูลจาก จาก คอลัมน์เก็บข่าวมาเล่า นิตยสารชีวจิต ฉบับ 277 / BBC NEWS

ชีวจิตTIPS วิธีคลายร้อน ตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่น

กินผักผลไม้ประจำฤดูร้อน

ผลไม้ และ ผักประจำฤดูกาลเองก็เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ซึ่งที่นิยมเป็นอย่างยิ่งก็คือ แตงโมแช่เย็น และ แตงกวาแช่เย็นกินสดๆ ก็หวานอร่อย เย็นเจี๊ยบถึงใจ ซึ่งหากเป็นบางพื้นที่เชิงเขาหรืออยู่ในชนบทที่มีลำธารไหลตามเชิงเขา และ ตามแม่น้ำ คนญี่ปุ่นเองก็นิยมนำผักผลไม้มาแช่น้ำเป็นตู้เย็นธรรมชาติ ซึ่งทำให้แตงกวาหรือแตงโมเองมีรสชาติดีด้วย

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.