โรคเสพติดเกม ปัญหาใหญ่ของเด็กทั่วโลก ที่แก้ได้
โรคเสพติดเกม รักษาได้ไหม? เนื่องจากการศึกษาวิจัยทางสมองโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยพบว่า การเล่นเกมมีผลต่อสมองในการทำให้เกิดการติดเกมลักษณะเดียวกันกับการติดยาเสพติดหรือติดพนัน
ในปัจจุบันมียาบางชนิดสามารถช่วยลดการเสพยาเสพติดและลดอาการอยากยาได้ จึงได้มีการศึกษาวิจัยโดยใช้ยากลุ่มนี้มารักษาอาการติดเกมบ้าง พบว่าสามารถลดเวลาในการเล่นเกมและอาการอยากเล่นเกมลงได้บ้าง
แต่ก็ยังไม่มียาชนิดใดที่ทำให้เลิกติดเกมได้เด็ดขาด แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการค้นพบยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาผู้ที่เป็นโรคเสพติดทางพฤติกรรมรวมทั้งโรคติดเกมก็เป็นได้
และมีการวิจัยที่พบว่า ถ้าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือ เป็นโรคซึมเศร้าแล้วไปเล่นเกมจนเป็นโรคติดเกม การรักษาด้วยยารักษาโรคสมาธิสั้น หรือยาที่รักษาโรคซึมเศร้าสามารถช่วยลดพฤติกรรมการติดเกมได้ดีพอสมควร คือใช้เวลาเล่นเกมลดลง และช่วยลดความอยากในการเล่นเกมลงได้
โรคเสพติดเกม แก้ไขได้
การรักษาเด็กที่เป็นโรคติดเกมในปัจจุบันจึงยังเป็นการใช้การรักษาทางจิตใจและการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก ประกอบด้วย
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก
โดยทั่วไปเวลาที่ลูกมีปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว พ่อแม่มักคอยบ่น ดุว่า ตำหนิ คอยจับผิด ทำให้ความ สัมพันธ์เป็นไปในทางลบเป็นส่วนใหญ่ และความสัมพันธ์ทางลบนั้นมักยิ่งทำให้ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการเล่นเกมรุนแรงขึ้น
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเริ่มต้นด้วยการสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน ด้วยการลดการคอยจับผิด การบ่นว่าพร่ำเพรื่อ หรือการตำหนิด้วยคำพูดรุนแรง และควรดึงลูกออกจากโลกของการเล่นเกมด้วยการชักชวนให้ทำกิจกรรมที่มีความสนใจและมีความสุขร่วมกัน พ่อแม่ต้องพูดชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความสามารถหรือความพยายามได้ดีหรือทำได้สำเร็จ
ความรักความเข้าใจ การช่วยเหลือลูกที่มีปัญหา
พฤติกรรมต้องอาศัยความรักความเมตตาของพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญ และต้องทำให้เด็กรับรู้ถึงด้วยความรัก ความ เมตตา จะทำให้พ่อแม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือลูก แม้มีความยากลำบาก พ่อแม่ควรทำให้บรรยากาศในบ้านมีความสงบสุข ลูกก็จะมีความสุขได้จากการอยู่กับพ่อแม่ เมื่อนั้นเขาก็จะขวนขวายหาความสุขจากการเล่นเกมลดลง
หากพ่อแม่เข้าใจว่าเด็กที่ติดเกมมีความสุขจากความรู้สึกประสบความสำเร็จในการเล่นเกม พ่อแม่ก็ต้องพยายามดึงลูกออกจากเกม ด้วยการซักชวนให้ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้ลูกรู้สึกสนุกหรือประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือแม้แต่ช่วยพ่อแม่ทำงาน เหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เป็นคนเก่ง สามารถทำอะไรสำเร็จได้ เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่และผู้คนรอบตัว เด็กก็จะขวนขวายหาความสุขจากความสำเร็จ ในการเล่นเกมลดลงได้ แน่นอนว่า การปรับความรู้สึกความคิดของเด็กนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความพยายามของพ่อแม่มาก พอสมควรทีเดียว
การสร้างข้อตกลงและเป้าหมายร่วมกันเกี่ยวกับการเล่นเกม
ทั้งช่วงเวลา – ระยะเวลาในการเล่นเกม และรู้จัก หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง เมื่อลูกสามารถทำตามข้อตกลงได้ พ่อแม่ควรให้รางวัลเพื่อเสริมพฤติกรรมที่ดีให้มากขึ้น และหากลูกทำผิดข้อตกลงก็ต้องลงโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง เช่น หักเงินค่าขนม
รศ. นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลแบงค็อก เมทัล เฮลท์ (BMGG) ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “พ่อแม่ต้องมีความรู้ว่า เกมทุกเกมได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คนเล่นแล้วติดได้ ดังนั้นอย่าให้ลูกเล่นเกมเพราะกลัวว่าลูกจะไม่ได้เล่นเกมเหมือนเด็กคนอื่น เดี๋ยวลูกไม่มีอะไรไปคุยกับเพื่อน ถ้าจะให้เล่นเกมก็ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนกับเด็ก เล่นได้วันละกี่ชั่วโมง และคอยติดตามดูเวลาที่ลูกเล่นเกมบ้าง
“พ่อแม่ยังต้องมีเวลาใกล้ชิดกับลูกให้มาก หากิจกรรม สนุกๆให้ลูกทำร่วมกับพ่อแม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกอยู่เฉยๆ หรือไปหาความสุขเอาเอง ที่สำคัญต้องสร้างบรรยากาศให้ เด็กรู้สึกว่าการอยู่กับพ่อแม่ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง และต้องพยายามมอบหมายให้ลูกทำหน้าที่ตามความสามารถ ตามวัย ถ้าลูกทำได้ดี พ่อแม่ก็ต้องให้กำลังใจ ชื่นชมลูก เพื่อทำให้เขามี Self-Esteem ที่ดี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ”
ถ้าทำได้แบบนี้ นอกจากความสัมพันธ์ในครอบครัวจะแนบแน่นขึ้นแล้ว ยังจะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงที่ เด็กจะไปหาความสุขจากการเล่นเกมลงได้ด้วย ซึ่งแน่นอน ว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขเมื่อเด็กติดเกมไปแล้ว
ชีวจิต Tips วัคซีนใจ
ความรักความผูกพันในครอบครัวสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด หากครอบครัวไหนทำบ้านให้เป็นโอเอซิสของความรัก ความอบอุ่นได้ ก็เท่ากับมีวัคซีนป้องกันเชื้อร้ายจากสังคมที่ป่วย การทำบ้านให้เป็นบ้านทำได้ไม่ยาก เพียงเราหันหน้าเข้าหากัน วันนี้ชีวจิต มีทำวัคซีนดี ๆ มาแนะนำค่ะ
การหันหน้าคุยกันอย่างสันติมีแนวทางและกติกา ดังนี้
- ตั้งสติก่อนการสตาร์ตคุยกัน สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ตั้งสติให้มาก และเตรียมใจดี ๆ เพราะการต้องฟังความเห็นอีกฝั่งที่เราไม่เห็นด้วยอย่างมากนั้น มีโอกาสที่จะหลุดโกรธหรือโมโหได้มาก จึงต้องตั้งสติให้มากและเตรียมใจดี ๆ ไว้ค่ะ
- ฟังอีกฝั่งให้จบ “ฟังจนเข้าใจ” ว่าสิ่งที่เขายึดถืออยู่มีคุณค่ากับชีวิตเขาอย่างไร ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนพังกันตั้งแต่ข้อนี้เลยค่ะ คือไม่ฟังอีกฝั่ง การฟังที่ควรจะเป็นคือ การฟังจนเข้าใจในสิ่งทีเขาให้คุณค่ามีที่มาอย่างไร มีคุณค่าหรือความหมายกับจิตใจและชีวิตเขาอย่างไร เขาจึงได้ยึดมั่นขนาดนี้ เปิดโอกาสให้เขาได้เล่าในสิ่งที่เขาอยากสื่อจริง ๆ ฝั่งที่ฟังจะได้ประสบการณ์ดี ๆ จากมุมมองอีกด้าน ช่วยเปิดมุมมองชีวิตให้กว้างขึ้น และทำให้เข้ามากขึ้น
- ไม่พูดแทรก เพราะการพูดแทรกคือการที่ไม่ได้ฟังคู่สนทนาแล้ว แต่กำลังคาดหวังให้คู่สนทนาฟังเรา ความยุ่งเหยิงของมนุษย์มักเกิดจากจุดนี้ คือไม่ชอบฟังคนอื่น โดยเฉพาะความเห็นที่เราไม่ชอบ แต่คาดหวังให้เขาฟังเรา การทะเลาะกันมักเกิดจากจุดนี้
- บอกความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นส่วนที่สำคัญของการสื่อสารที่ช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ รวมถึงเจ้าใจตัวเรา เพราะทำให้ได้กลับมาทบทวนความรู้สึกตนเองเหมือนกันว่า จริง ๆ เรื่องนี้เรารู้สึกอย่างไร
- ช่วยกันหาขุมทรัพย์ของแต่ละความเชื่อ (Collaboration) การฟังที่ดีจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันขุมทรัพย์กัน ทุกสิ่งล้วนมีข้อดีในแบบของมัน สำคัญคือต้องหาให้เจอว่าอีกฝ่ายมีขุมทรัพย์อะไร ทั้งคุณค่าในระดับจิตวิญญาณและคุณค่ากับการดำเนินชีวิต เราจึงจะสามารถช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีขึ้น
- ฝึกลดการตัดสิน เมื่อเกิดการตัดสินใจขึ้นในใจ ให้รู้เท่าทันกำลังตัดสิน การตัดสินผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไวมาก โดยธรรมชาติมนุษย์จะมีการตัดสินสิ่งต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ เช่น แบบนี้ชอบ – ไม่ชอบ ดี – ไม่ดี การตัดสินเกิดขึ้นบ่อยมากและมักไม่ค่อยรู้ตัว มนุษย์จึงมักตกเป็นทาสการตัดสิน การตัดสินเกิดขึ้นไวมากและมีพลังที่แรงมาก มนุษย์จึงมักถูกการตัดสินครอบงำและทำพฤติกรรมรุนแรงไปตามที่ถูกครอบงำ การรู้เท่าทันจะช่วยลดความแรงจากการตกเป็นทาสการตัดสินได้มากค่ะ
- ห้ามด่าทอ ห้ามใช้คำพูดเหยียดหยาม ดูถูก กระแนะกระแหน ส่อเสียดคู่สนทนาเด็ดขาด เพราะการพูดออกไปด้วยถ้อยคำรุนแรง ด่าทอและดูถูกอีกฝั่ง นอกจากประโยชน์ที่ได้จะไม่ชัดเจน กลับได้แรงต่อต้าน ใจที่ปิดรับและความเกลียดชังมาเต็ม ๆ ถ้าหากฟังคู่สนทนาแล้วเกิดโมโหของขึ้น อยากด่า รู้สึกอึดอัดให้รีบตั้งสติ
- บอกการร้องขอที่ชัดเจนจากหัวใจ บอกอีกฝั่งให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร อย่าให้อีกฝ่ายคิดไปเองหรือสำนึกเอง เพราะอาจจะสร้างปมให้ดราม่าโดยไม่จำเป็น เพราะเขาอาจตีความผิดตามความเข้าใจในมุมมองของเขาได้
- ตอนจบการเจรจา จบด้วยการ “ไม่คาดหวัง” ว่าเขาต้องเห็นด้วยกับเรา แม้เราอยากจะได้อย่างั้นมากก็ตาม เพราะเขามีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย เหมือนกับที่เราก็มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับเขา ความเท่าเทียมมีหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือตระหนักได้ว่าคนอื่นมีสิทธิ์จะคิดไม่เหมือนเรา สิ่งนี้จึงเรียกว่า “เห็นต่าง” แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
การเดินส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการ วิ่งจ๊อกกิ้ง
หมอเตือน คนกรุงเทพฯ เสี่ยงภาวะ สมองล้า
ติดตามชีวจิตได้ที่