ดับร้อนผ่อนตับ

ดับร้อนผ่อนตับ ตำรับบำรุงอวัยวะธาตุของผู้สูงอายุ – A Cuisine

ดับร้อนผ่อนตับ ตำรับบำรุงอวัยวะธาตุของผู้สูงอายุ ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงการดูแลระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ อย่าง “ตับ” ซึ่งสัมพันธ์กับโรคหลายโรคตลอดจนคุณภาพชีวิตของทุกท่าน กันค่ะ

ตับ  เป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่บริเวณชายโครงข้างขวา มีลักษณะเป็นก้อนสีชมพูเข้มเล็กน้อย ทำหน้าที่มากมาย เช่น  เปลี่ยนแปลงสารเคมีอาหารของร่างกาย สร้างน้ำดี ย่อยไขมันและเปลี่ยนแปลงสารอาหาร  ช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย  ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันให้อยู่ในภาวะปกติ  และเมื่อร่างกายขาดสารอาหารหรือพลังงานตับจะเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่สะสมไว้กลับมาให้เป็นพลังงานสำรอง  ซึ่งเมื่อไรที่ตับเกิดภาวะเสื่อมหรือเกิดโรค ก็จะสูญเสียหน้าที่และทำงานด้อยประสิทธิภาพลง  ทั้งนี้คนปกติทั่วไปจะไม่สามารถคลำพบก้อนเนื้อตับผ่านบริเวณชายโครงได้

ดับร้อนผ่อนตับ
เมนูดับร้อนผ่อนตับ

สิ่งที่ส่งผลให้ตับทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม

  • ความเสื่อมตามอายุและความเสื่อมของอวัยวะตามธรรมชาติ
  • เป็นโรคตับแข็งจากเชื้อไวรัส มะเร็งตับ  เนื้องอกที่ตับ
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาบางชนิด เช่น  ยากลุ่มสเตียรอยด์  ยาพาราเซตามอน ที่กินเกินขนาดและต่อเนื่องยาวนาน
  • ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ  การทำงานหนักเกินกำลัง (อ้างอิงตามปรัชญาการแพทย์ทางเลือก)

อาการแสดงออกเมื่อตับทำงานผิดปกติไป

  • อารมณ์หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หนักเนื้อหนักตัว  ตัวร้อนรุมๆแต่ไม่มีไข้  ตาแห้ง (เกิดเพราะตับร้อน)
  • ท้องอืดง่าย เบื่ออาหาร เวียนศีรษะหรือปวดหัว  นอนไม่หลับ  อ่อนเพลีย (ตับอ่อนแอและเสียสมดุล)
  • ตามัว คอแห้ง  ปากขม (ตับร้อน กระทบน้ำดี)
  • ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน ตามัว  บางรายมีตาแดง(มีความร้อนในตับมาก)  หรือมีตาเหลือง(เกิดจากการคั่งของน้ำดี)  ถ้าเป็นมากและปล่อยทิ้งไว้นานจะมีอาการเหลืองที่ผิวร่วมด้วย
  • บางรายตับโตคลำพบก้อนตับที่ชายโครงข้างขวา กดเจ็บชายโครงร่วมกับปวดหลังด้านขวา  ท้องอืด  อาหารไม่ย่อย  รับประทานอาหารที่มีไขมันก็ทำให้ท้องอืดแน่นท้องมากขึ้น (ภาวะตับเสื่อม เสียสมดุลในหน้าที่ของตับ หรือภาวะโรคของตับ)

อาการเหล่านี้คุณสามารถสังเกตได้เอง  และเมื่อพบว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่แน่ใจ  หรือเกิดอาการดังกล่าวขึ้นบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมมาปฏิบัติ

ในส่วนของอาหารที่จะช่วยลดความร้อนในตับ เพื่อทำให้สมดุลตับปกตินั้น ดิฉันแนะนำให้คุณเลือกวัตถุดิบอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น แตงกวา ฟักแฟง ดอกมะลิ เก๊กฮวย รากบัว หรือพืชที่มีรสจืดเย็นทั้งหมดมาปรุง ส่วนวัตถุดิบรสขมนั้น แม้จะสามารถช่วยลดความร้อนของตับได้ดีจริง แต่หากกินมากเกินไปจะทำให้ตับเสียสมดุลและทำงานผิดปกติ จึงควรเลือกใช้ในกรณีที่ตับร้อนสูงเท่านั้น และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดกินอาหารรสขมทันที ส่วนเรื่องวิธีการปรุงอาหารในกรณีที่ตับไม่ร้อนมากสามารถใช้วิธีผัดได้ แต่หากตับร้อนจัดควรเลือกวิธีต้มหรือตุ๋นแทน และอาจใช้เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ เช่น น้ำต้มไหมข้าวโพด น้ำเก๊กฮวย น้ำต้มรากหญ้าคา ฯลฯ  เพื่อช่วยขับปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยลดความร้อนของตับลงได้  ดิฉันจึงได้นำหลักการดังกล่าว มาคิดค้นปรุงเป็นอาหารสุขภาพมีชื่อว่า  “ดับร้อนผ่อนตับ” มาฝากกันค่ะ

โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ดับร้อนผ่อนตับ

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 15 นาที ปรุง 17 นาที

  • มะลิดอกตูมปลอดสารพิษล้างสะอาดพักสะเด็ดน้ำ 50 กรัม
  • แตงกวาอ่อนซอยเป็นเส้นแล้วแช่น้ำแข็งไว้ 50 กรัม
  • ไข่ไก่ 1 ฟอง
  • ขึ้นฉ่ายหั่นท่อน 1 ต้น
  • น้ำมันงา 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • กระเทียมสับ 1/2 ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
  • เกลือเและน้ำตาลทราย อย่างละเล็กน้อย

วิธีทำ 

ใส่น้ำมันงาลงในกระทะตั้งไฟให้ร้อน  ใส่กระเทียมลงผัดพอหอมแล้วตอกไข่ใส่ลงคนพอให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากัน จึงใส่แตงกวา  เกลือ ซีอิ๊วขาว ผัดให้เข้ากัน  ใส่ดอกมะลิ ขึ้นช่าย โรยน้ำตาลผัดคลุกเคล้าแล้วตักใส่จานเสิร์ฟ  รับประทานกับข้าวกล้องร้อนๆ

Tip : หากมีอาการร้อนในหรือรู้สึกหงุดหงิดมาก อาจรับประทานน้ำดอกเก๊กฮวยหรือชาเก็กฮวย น้ำรากบัว น้ำต้มว่านกาบหอย ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมเพื่อช่วยทุเลาอาการ  และควรงดอาหารทอด ปิ้ง ย่าง  รสเผ็ดร้อนจัด  หรือเปรี้ยวจัด  เป็นต้น

หมายเหตุ : เมนูนี้ประกอบด้วยอาหารที่มีรสหอมเย็น  ฤทธิ์เย็นหรือสุขุมเย็น  มีสรรพคุณช่วยลดความร้อนของตับ  แก้ร้อนใน  ขับปัสสาวะ  บำรุงหัวใจ  ทำให้ลมปราณปกติลดการคั่งของความร้อนที่ตับ

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 275.43 กิโลแคลอรี

โปรตีน 7.99 กรัม ไขมัน 23.44 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 8.85 กรัม  ไฟเบอร์2.68 กรัม

เรื่องและสูตร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก ผู้ช่วยช่างภาพ : ทิพย์พนิตา โสทิพย์ สไตล์ : จารุนันท์ ศรีทองนาก

สูตรอาหารแนะนำ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.