เดิน ออกกำลังกาย ชีวจิต

5 วิธี เดินระเบิดไขมัน

วิธี เดินระเบิดไขมัน

เดินระเบิดไขมัน ที่ทำได้ทุกเพศทุกวัย หากวิ่งไม่ไหว ยกเวทไม่ได้ มือใหม่หัดออกกำลังกายบ่น เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอเวิร์คเอ้าท์แบบหนัก ๆ ใช่ไหมคะ มาค่ะ มาเดินกัน ลดน้ำหนักแบบง่ายๆ ที่เห็นผลจริง จะมีเทคนิคใดบ้าง ต้องตามมาดู

เท้า

ก่อนออกเดินให้มองหาพื้นๆ ดีเสียหน่อย เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก เทคนิคที่ดีเพื่อการเดินออกกำลังกาย คือ ส้นเท้าต้องสัมผัสกับพื้นเป็นสิ่งแรก จากนั้นจึงปล่อยให้ฝ่าเท้าตามแล้วจึงดีดปลายเท้าเป็นจังหวะสุดท้าย วิธีนี้จะทำให้เดินได้เร็วขึ้น

แขน

การแกว่งแขนที่ดีมีส่วนช่วยให้ลำตัวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่จังหวะการวางเท้าที่สมบูรณ์แบบ ข้อสำคัญในการแกว่งแขนขณะเดิน คือ อย่าแกว่งแขนสูงถึงหน้าอก ให้ปล่อยแขนสบายๆ กำมือหลวมๆ แต่ทุกครั้งที่แกว่งต้องรู้สึกที่หัวไหล่ ต้นคอ และกล้ามเนื้อหลัง ส่วนบนแขนควรแกว่งสูงจากจำตัวราว 40 องศา และให้คิดว่าแขนเป็นเหมือนลูกตุ้ม โดยเราต้องแขนแกว่งสลับกับเท้า

ไม้เท้า

เทคนิคนี้เป็นของชาวยุโรปเหนือค่ะ การใช้ไม้เท้าช่วยเดินจะทำให้เดินได้เร็วและไกลขึ้น โดยที่เราไม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป นอกจากนี้ การใช้ไม้เท้ายังช่วยให้เราได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนบนมากขึ้น ช่วยลดแรงกระแทกบริเวณหัวเข่าได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยเร่งการเผาผลาญได้มากกว่า 46 แคลอรี่

ไม้เท้า 1 คู่ สามารถใช้ได้ทั้งพื้นเรียบและขึ้นเขา ขนาดของไม้เท้าที่ดีควรสูง 2 ใน 3 ของความสูงคุณค่ะ

เพิ่มน้ำหนัก

วิธีง่ายๆ เพื่อเพิ่มการทำงานของหัวใจ คือการเพิ่มน้ำหนักให้ร่างกาย จะเลือกเป็นเป้น้ำเล็กๆ สายเพิ่มน้ำหนักบริเวณข้อเท้า หรือจะถือขวดน้ำข้างละ 1 ลิตรก็ได้

เสริมท่าลันจ์

เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขา ให้ลองทำท่าลันจ์ขณะก้าวเดินไปด้วย เพียงเอามือเท้าสะเอวแล้วก้าวขาย่อยืด เวลาที่ย่อตัวลงอย่าให้หัวเข่าเลยปลายเท้า จากนั้น เดินวนไปค่ะ ก้นสวย ขาแข็งแรงแน่นอน

ได้เทคนิดเดินเร่งเผาผลาญไปแล้ว อย่าลืมทำตามนะคะ จะเลือกใช้เพียงหนึ่งวิธีหรือจะใช้หลายๆ วิธีมารวมกันก็ได้ รับรองว่า การเดินออกกำลังกายครั้งนี้จะเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ

โปรแกรม เดินระเบิดไขมัน

การเดินด้วยวิธีดังต่อไปนี้ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญในร่างกายได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าการเดินก้าวเท้าในรูปแบบปกติ

How-to: ใช้เวลาทั้งหมด 10 นาที โดยทําตามขั้นตอน ดังนี้

  • วอร์มอัพร่างกายระดับง่ายๆ ถึงปานกลาง 3 นาที
  • เดินเร็ว 1 นาที
  • วิ่งเหยาะๆ 30 วินาที
  • เดินเร็ว 1 นาที
  • กระโดดตบ 30 วินาที
  • เดินเร็ว 1 นาที
  • กระโดดสลับขาไปด้านข้าง(Side Jumps) 30 วินาที
  • เดินเร็ว 1 นาที
  • วิ่งเหยาะๆ 30 วินาที
  • คูลดาวน์ 1 นาที

ชีวจิต Tips

เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ ได้เปิดเผยผลวิจัยด้านสุขภาพที่ยืนยันว่า การเดินออกกําลังกายทุกวัน วันละ 20 นาที จะช่วยเผาผลาญแคลอรี ซึ่งการเดิน การวิ่ง แม้ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัย แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้นะคะ ซึ่งมีการบาดเจ็บอะไรที่ต้องระวัง มาดูกันค่ะ

กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ

เป็นการบาดเจ็บรอบๆ ลูกสะเบ้าหัวเข่า มักจะเป็นมากในกรณีที่วิ่งขึ้นลง เช่น วิ่งขึ้น-ลงเข่า วิ่งขึ้นลงบันได บางครั้งอาจเกิดเสียงดังในข้อเข่า

เอ็นรองฝ่าเท้าอักเสบ

อาการคือเจ็บแปล๊บที่ส้นเท้า เป็นมากเวลาที่ตื่นนอน หรือนั่งนานๆ แต่หากเป็นรุนแรงขึ้นจะกลายเป็นการปวดตลอดเวลา

เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ

เส้นเอ็น IT Band เป็นเส้นที่อยู่ด้านข้างของกล้ามเนื้อต้นขา ในเวลาที่วิ่งกล้ามเนื้อจะมีการหด และยืดตัวตามจังหวะก้าว ทำให้เจ็บที่ด้านข้างของสะโพก ต้นขาด้านข้าง และเข่าด้านข้าง

กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ

ปวดที่หน้าแข้ง และเมื่อกดจะเจ็บ โดยเฉพาะหลังวิ่ง ซึ่งปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาเท้าแบน หรือวิ่งบนพื้นที่แข็งเกินไป หรือใช้รองเท้าที่พื้นสึกหรอ

เอ็นร้อยหวายอักเสบ

อาการคือเจ็บ บวมแดง บริเวณเอ็นร้อยหวาย และลามไปถึงบริเวณน่อง ซึ่งปัญหาเกิดจากการที่ไม่ยืดเหยียดร่างกายก่อนออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป


บทความอื่นที่น่าสนใจ

การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน

เปิดตำราหมอ ฮิปโปเครตีส ผู้บัญญัติศัพท์ “Cancer” หรือมะเร็ง คนแรกของโลก

5 วิธีลดความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเอง

แจ่วมะเขือเทศ อร่อย ทำง่าย กินต้านการเกิดมะเร็ง

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกล โรคหลอดเลือดสมอง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.