ออกกำลังกาย รูมาตอยด์

เทคนิคขยับกาย คลาย ปวดข้อรูมาตอยด์

ปวดข้อรูมาตอยด์ แก้ไขได้ด้วยการบริหารกาย

ปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่รุนแรงและอาจทำให้พิการได้ โรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า และส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุ 20-50 ปี

สาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อมกัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืด เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปรกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจว่าเนื้อเยื่อข้อปรกติเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสร้างกระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมขึ้น และส่งผลให้ข้ออักเสบ ซึ่งอาจจะเรียกอีกอย่างได้ว่า แพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune)

สังเกตอาการ

อาการของโรคนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ชาปลายมือปลายเท้า โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายกระทบกับอากาศเย็น ๆ

หลังจากนั้นจะปวดเมื่อยตามตัวและข้อต่าง ๆ แล้วจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น โดยข้อที่เริ่มมีการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเข่า ข้อศอก ต่อมาจะเป็นข้อไหล่ ส่วนข้อศอกจะปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง และข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวม ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย

อาการปวดข้อจะมีลักษณะเฉพาะคือ ข้อแข็งขยับลำบากมักจะเป็นมากในเวลาที่อากาศหนาวเย็น หรือในตอนเช้า พอสายๆอาการจะทุเลา เข้าใจว่าความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อแรงดันภายในข้อที่เสื่อม โดยอาจไปบีบรัดปลายประสาทที่โผล่ออกมา

อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวันและมากขึ้นๆเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้นอีกขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้อจะแข็งและพิการ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีอาการซีด ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง

เราไปดูวิธีการดูแลตัวเองกันค่ะ

วิธีดูแลตัวเอง

  1. นอกจากจะบำบัดรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยควรรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งแนะนำให้ทำในช่วงเช้าประมาณ 15 นาที
  2. ต้องเคลื่อนไหวข้อ และฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่งๆ เพราะยิ่งอยู่นิ่ง ข้อยิ่งแข็งฝืดและขยับยากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรฝึกกายบริหารในท่าต่างๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยทำให้ข้อลดความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  3. ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะแม้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ก็อาจเกิดโทษจากยาสเตียรอยด์ หรือยาอันตรายอื่นๆที่ผสมอยู่ในยาชุด
  4. ควรรู้สมดุลร่างกายของตัวเองว่าเมื่อใดควรพักข้อที่อักเสบ และเมื่อใดควรให้ข้อนั้นออกกำลังกายจะช่วยให้รับมือกับโรคได้ดีขึ้น เช่น เมื่อข้อเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น ให้หยุดการออกกำลังบริเวณข้อทันที และเริ่มออกกำลังใหม่เมื่อการอักเสบลดลงแล้ว
  5. การออกกำลังกายในสภาพไร้น้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ เป็นวิธีดีที่ที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ
  6. การนวด ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ทุเลาลงได้ ส่วนการใช้ยาทาถูนวดต่างๆที่ใช้สำหรับแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ยาหม่อง จะช่วยให้หายปวดได้ชั่วคราว เช่นเดียวกับการใช้ยาแก้อักเสบในรูปครีม นวดบริเวณรอบๆข้อที่มีการอักเสบ ก็จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ชั่วคราวเช่นกัน

คลาย ปวดข้อรูมาตอยด์ ด้วยการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญของการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เนื่องจากช่วยลดอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของข้อ รวมถึงส่งเสริมสุขภาพโดยรวม อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยรูมาตอยด์ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและข้อจำกัดของผู้ป่วย ดังนี้

ออกกำลังกายแก้ปวดรูมาตอยด์

การออกกำลังกายเพื่อความยืดหยุ่น (Flexibility Exercises)

การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ควรทำทุกวันหรืออย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรง (Strengthening Exercises)

การฝึกกล้ามเนื้อด้วยน้ำหนัก (Strength Training) ใช้ดัมเบลล์หรือยางยืด ควรทำอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่รองรับข้อต่าง ๆ

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercises)

การเดิน (Walking), การว่ายน้ำ (Swimming), หรือการปั่นจักรยาน (Cycling) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและปอด ควรทำ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายเพื่อการเคลื่อนไหวข้อ (Range-of-Motion Exercises)

การหมุนข้อมือและข้อเท้า ช่วยรักษาความยืดหยุ่นและการเคลื่อนไหวของข้อ ควรทำทุกวัน

การออกกำลังกายเฉพาะที่ (Targeted Exercises)

สำหรับข้อต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เช่น มือ เข่า หรือข้อเท้า อาจต้องมีการออกกำลังกายที่เน้นเฉพาะจุดนั้น ๆ

การออกกำลังกายแบบเน้นสมาธิ (Mind-Body Exercises)

โยคะ (Yoga) และไทชิ (Tai Chi) ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความสมดุล และลดความเครียด

ข้อควรระวัง – ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย ก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่ข้อต่าง ๆ อักเสบมาก

ควรเริ่มต้นอย่างช้า ๆ และเพิ่มความหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหยุดทันทีหากมีอาการปวด หรือรู้สึกไม่สบายที่ข้อมากขึ้น

การออกกำลังกายที่เหมาะสมสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรูมาตอยด์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถจัดการกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

บทความอื่นที่น่าสนใจ

4 ท่าบริหารป้องกันข้ออักเสบ

ออกกําลังกายยังไง ทําล่ำเป็นตอม่อ ต่อไปนี้ไม่มีอีกแล้วจ้า!!

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.