“ศิลปะกระจก” ความงดงามเพื่อพุทธบูชา ณ วัดมณีจันทร์ จ.บุรีรัมย์
แสงแดดเจิดจ้าของฤดูร้อนทำให้ต้นไม้สองข้างทางออกดอกบานสะพรั่ง ทั้งตะแบก ตาเบบูย่า หางนกยูง ราชพฤกษ์ รวมทั้งต้นจาน ต้นไม้พื้นถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ออกดอกสีแดงพราวเต็มต้น
จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ วัดมณีจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านมะเฟือง ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ แม้ใครต่อใครจะกล่าวขานกันว่าภาคอีสานนั้นแห้งแล้ง แต่ยามนี้เรากลับพบว่า ความร้อนแล้งไม่ได้ทำให้น้ำใจของคนที่นี่เหือดแห้งตามไปด้วยเลย โดยเฉพาะพลังความศรัทธาที่ผู้คนแห่งนี้มีต่อพระพุทธศาสนา
เรื่องเล่าแห่งศรัทธา
แม้มองจากภายนอก วัดมณีจันทร์จะเป็นเพียงวัดเล็กๆ วัดหนึ่งทางภาคอีสานแต่สิ่งที่ทำให้วัดแห่งนี้แตกต่างจากวัดอื่นๆ คือ อุโบสถของวัด หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “สิม” มีผนังประดับด้วยศิลปะกระจกอย่างงดงาม สะท้อนถึงจิตใจที่ละเอียดอ่อนและดีงามของผู้คนที่ร่วมกันสร้างศิลปะกระจกที่วัดแห่งนี้
คุณเสฏฐพันธุ์ เสริญไธสง โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ซึ่งเติบโตที่หมู่บ้านมะเฟืองและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการบูรณะวัดมณีจันทร์ เล่าว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 ที่ผ่านมาเคยมีการบูรณะมาแล้ว 3 ครั้งหลังจากนั้นในช่วงเดือนเมษายนปี 2548 กำนันมังกร เสริญไธสง บิดาของคุณเสฏฐพันธุ์ได้รวมพลังชาวบ้านถวายพระประธานนามว่า “พระพุทธนาคบัลลังก์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินสีเขียวใต้แม่น้ำโขง เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน
จวบจนกระทั่งปี 2550 คุณเสฏฐพันธุ์จึงได้บูรณะอุโบสถครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนหลังคามุงกระเบื้อง และกะเทาะผนังปูนที่ถูกเกลือจากดินกัดเซาะจนผุกร่อนออกแล้วฉาบปูนใหม่ โดยจัดหางบประมาณจากการทอดผ้าป่าและทอดกฐินนอกจากนั้นก็ยังได้รับความร่วมมือจากศิลปินสองท่านและทีมงานในการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกของโบสถ์ทั้งสี่ด้านด้วยงานศิลปะกระจกสี โดยคุณเสฏฐพันธุ์เล่าถึงความตั้งใจในการบูรณะว่า
“จิตรกรรมที่วัดแห่งนี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากวัดเชียงทองที่หลวงพระบางประเทศลาว อย่างไรก็ตาม เรานำมาประยุกต์โดยให้ภาพบนผนังทั้งสี่ด้านสะท้อนเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ประเพณี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนของเรา รวมทั้งสะท้อนถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย
“นอกจากนั้นยังมีหลายภาพที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของคนในยุคนี้ เช่น ภาพคนขับมอเตอร์ไซค์ คนใช้โทรศัพท์มือถือ การบูรณะโบสถ์แห่งนี้มีคุณค่ามากกว่าความสวยงาม เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประดับกระจก ได้เรียนรู้ทักษะการดูแลรักษาและซ่อมแซมจากอาจารย์ที่มาถ่ายทอด ส่งผลให้พวกเขารู้สึกรัก หวงแหน และช่วยกันดูแลสมบัติที่มีค่านี้ด้วยตัวเองสืบไป”
ศิลปะกระจกสี ศิลปะเพื่อพุทธบูชา
ศิลปินสองท่านที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจกันรังสรรค์ผลงานที่อุโบสถของวัดมณีจันทร์ในครั้งนี้คือ อาจารย์อัศวิณีย์ หวานจริง (นิรันต์) แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บุตรสาวของ อาจารย์พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2546 กับคู่ชีวิตคือ อาจารย์อุดม หวานจริง ทั้งสองท่านและทีมงานใช้เวลาในช่วงปิดเทอมลงมาคลุกคลีทำงานร่วมกับชาวบ้านมะเฟืองอย่างจริงจังถึง 3 ปีเต็มจนได้ผลงานที่วิจิตรงดงามอย่างที่เห็น
“งานศิลปะกระจกสีที่วัดมณีจันทร์นี้ เป็นทั้งความท้าทายและความภาคภูมิใจที่ตั้งใจทำถวายเป็นพุทธบูชา เพราะเป็นงานที่ยากมากๆ เริ่มตั้งแต่การตัดกระจกสีเพื่อเรียงเป็นภาพต่างๆ ให้ได้สัดส่วนพอเหมาะกับขนาดของผนังและสัดส่วนทางกายภาพของคน สัตว์ สิ่งของ การเลือกใช้สีของกระจกที่มีสีหลักอยู่ทั้งหมด 6 สี ได้แก่ แดง เขียว น้ำเงิน ฟ้า และขาว เพื่อสร้างรูปทรงให้มีมิติของสีที่แตกต่าง แต่มีความกลมกลืนกับเรื่องราว
“การทำงานต้องใช้ทั้งความละเอียดรอบคอบและความใจเย็นเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นจิตรกรรมผนังด้านนอก เราก็ต้องคิดค้นว่าทำอย่างไรให้ศิลปะกระจกสีเหล่านี้อยู่ทนนาน สู้สภาพแดดฝนของภาคอีสานได้นานที่สุด
“โดยเฉพาะด้านหลังที่เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯออก ณ สีหบัญชร ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทีมงานของเราตั้งใจทำเป็นพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติทั้งสองพระองค์ เฉพาะพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเราต้องตัดกระจกให้เล็กเท่าเม็ดข้าวโพด แล้วนำมาเรียงสีให้เหมือนกับรูปถ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่ส่วนพระพักตร์นี้เราต้องใช้เวลาในการทำอยู่ร่วม 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ” อาจารย์อัศวิณีย์เล่าและกล่าวเสริมว่า
“อุโบสถหลังนี้จะเป็นแหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรม รวมทั้งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะเยาวชนได้รู้จักรากเหง้าของตนเองและภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย”
ด้วยเหตุนี้ศิลปะกระจกสีบนผนังอุโบสถวัดมณีจันทร์จึงไม่ได้สะท้อนเพียงความงดงามเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความรัก ความศรัทธา และจิตวิญญาณของผู้คนที่ทำให้ศิลปะอันงดงามปรากฏเป็นรูปร่าง บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ณ วัดแห่งนี้อีกด้วย
เรื่อง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ / ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
ที่มา: นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
ปฏิบัติธรรมเข้มข้น ณ วัดคลองตาลอง จ.นครราชสีมา
วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร การศึกษาคือหัวใจสําคัญของการเผยแผ่
ชวนเที่ยว 5 วัด ลดเครียด-ใจสงบวันหยุด
วัดคณิกาผล วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 3 ใน ย่านพลับพลาไชย
วัดยานนาวา แหล่งธรรมะเพื่อคนทุกวัย
ย้อนรอยธรรมตามพระราชา วัดบวรนิเวศวิหาร
เกร็ดประวัติที่บางคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับ วัดอรุณราชวราราม
พิศพระธรรม 1,200 วินาที ณ พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา วัดเทพศิรินทราวาส
สำนักปฏิบัติธรรมเสวตสมบูรณ์ ปล่อยวางทุกข์ไว้ที่ปลายนา
วัดอัมพวัน สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน