งานวิจัยชี้ กุยช่าย ช่วยล้างไขมันในเลือด
กุยช่าย เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ในอาหารประจำชาติเกาหลีหลายชนิด เช่น กิมจิ ซุปต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์เกาหลี จึงสนใจศึกษาประโยชน์ของกุยช่าย โดยหนึ่งในนั้นคือคุณสมบัติเกี่ยวกับการลดไขมันในเลือด
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Korean Nutrition Society ให้ข้อมูลการทดลองว่า หลังจากทีมนักวิจัยเลี้ยงอาหารหนูทดลองจนอ้วน จากนั้นจึงป้อนสารสกัดจากใบกุยช่ายต่อเนื่องนาน 4 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลอง ผลปรากฏว่า หนูทดลองมีระดับไขมันในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก อธิบายสรรพคุณทางยาของกุยช่ายในหนังสือ สมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
เหง้า มีสรรพคุณทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับสิ่งคั่งค้าง ลดอาการท้องอืด ตกขาว แก้ฟกช้ำ ลดอาการบวม ต้น มีสรรพคุณแก้โรคนิ่ว หนองในใบ ลดไขมันในเลือด ขับปัสสาวะ แก้ช้ำใน ส่วนเมล็ด ขับพยาธิเส้นด้าย ขับโลหิตประจำเดือน
กุยช่าย สีเขียว
มีสารอาหารสูง มีกลิ่นฉุน แต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่ากุยช่ายสีขาว
กุยช่าย สีขาว
เป็นพันธุ์เดียวกันกับกุยช่ายสีเขียวแต่มีวิธีปลูกต่างกัน โดยหลังปลูกนาน 6 เดือนจะได้ต้นกุยช่ายสีเขียว ผู้ปลูกจะตัดกอกุยช่ายให้สั้นลงและใช้กระถางหรือภาชนะทึบแสงครอบกอไว้ หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เมื่อไม่ได้รับแสงแดด ต้นกุยช่ายที่งอกขึ้นใหม่จะไม่มีการสังเคราะห์แสง จึงไม่เกิดการสร้างสารสีเขียวที่เรียกว่าคลอโรฟิลล์ ลำต้นและใบจึงกลายเป็นสีขาว มีกลิ่นฉุนและสารอาหารน้อยกว่า
เสริมให้อีกนิดค่ะ โดยธรรมชาติแล้วนั้นของผัก ชนิดนี้ กุยช่ายมีสีเขียว ส่วนกุยช่ายสีขาวที่เราเห็นในเมนูผัดต่างๆ เกิดจากเกษตรกร หาถัง กระถาง หรือวัสดุทึบแสงมาครอบกอกุยช่ายเขียวที่เพิ่งตัดเก็บเกี่ยวไปขาย เพื่อไม่ให้กุยช่ายชุดใหม่ที่กำลังจะงอกขึ้นมาได้พบปะแสงอาทิตย์ เมื่อไม่ได้รับแสง เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนผิวคนที่ไม่โดนแดด เม็ดสีเมลานินจะไม่เพิ่มจำนวน ผิวจึงดูขาว กุยช่ายไม่เจอแดดก็ไม่เกิดการสังเคราะห์แสง และไม่สร้างคลอโรฟิลล์เช่นกัน ผิวพรรณของกุยช่ายจึงอ่อนจางลง
เรื่องนี้เขาวิจัยกันแล้ว สรุปคร่าว ๆ กุยช่ายเขียว มีเบต้าแคโรทีน แคลเซียม และฟอสฟอรัสมากกว่า กุยช่ายขาว ส่วนสารอาหารอื่นๆ นั้นเหมือนกัน คือ วิตามินเอ ใยอาหาร และสารอัลลิซิน เป็นต้น
- แคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูก
- วิตามินเอ บำรุงดวงตาให้แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
- เบต้าแคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง
- ใยอาหาร กุยช่ายเป็นผักที่มีแคลอรีน้อย แต่ใยอาหารเยอะมากจึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
- สารอัลลิซิน อยู่ในน้ำมันหอมระเหยในกุยช่าย เจ้ากลิ่นฉุนๆในกุยช่ายนี่ละ ที่มีการวิจัยพบว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ความดันโลหิต (หากกินสดบ่อยๆ)
เมื่อรู้ความแตกต่างของกุยช่ายทั้งสองสีแล้ว หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วละค่ะว่าจะเลือกกินกุยช่ายสีไหน ถ้าใครชอบของธรรมชาติแบบบริสุทธิ์มากกว่าก็แฮปปี้กับการกินกุยช่ายเขียวได้เลย ส่วนใครที่เป็นแฟนกุยช่ายขาวก็ไม่เป็นไรนะ เพราะกุยช่ายขาวไม่ใช่ผักชนิดเดียวที่เรากิน เราทดแทนสารอาหารที่ขาดหายไปด้วยการกินผักหลากหลายชนิดได้อยู่แล้ว
กุยช่ายลดเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
การศึกษาทางระบาดวิทยาและห้องปฏิบัติการพบว่า กุยช่ายและพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ได้แก่ กระเทียม ต้นหอม หอมเล็ก และหอมหัวใหญ่ อุดมด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารในกลุ่มออร์แกโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นสารแอนติออกซิแดนต์ช่วยต่อต้านฟรีแรดิคัล และยับยั้งการก่อตัวของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of the National Cancer Institute ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาหารประจำวันของชายชาวจีน ในเมืองเซี่ยงไฮ้ จำนวน 238 คน พบว่า ผู้ที่กินกุยช่ายและพืชในตระกูลเดียวกันเป็นประจำมากกว่าวันละ 10 กรัม จะลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ทั้งนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ดังปรากฏในวารสารวิชาการ The American Journal of Clinical Nutrition และ Journal of Nutrition
เก็บกุยช่ายให้อยู่นาน
ควรใช้กุยช่ายทำอาหารให้หมดในครั้งเดียว เพราะยิ่งเก็บนาน วิตามินยิ่งสูญสลาย คุณค่าทางอาหารยิ่งลดลง แต่หากใช้ไม่หมด แนะนำให้เก็บในถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่ตู้เย็น เก็บไว้ได้นาน 1 สัปดาห์ หรือหากต้องการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น ควรใส่กุยช่ายในกล่องพลาสติกเก็บอาหาร เติมน้ำพอท่วม ปิดฝาและแช่ในช่องแช่แข็ง เมื่อต้องการนำมาใช้จึงตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องให้น้ำแข็งละลาย วิธีนี้สามารถเก็บรักษากุยช่ายได้นานประมาณ 1 เดือน
คุณแม่บ้านท่านใดทราบแล้ว รีบหาเมนูหลากหลาย ทั้งกุยช่ายและผักในตระกูลเดียวกัน มาปรุงอาหารป้องกันโรคร้ายไม่ให้มากล้ำกรายคุณผู้ชายกันค่ะ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
น้ำเต้าหู้ ของดีใกล้ตัว บำรุงสมอง ดูแลหัวใจ
ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
ซอสมะเขือเทศโฮมเมด จากห้องครัวปูเป้
ติดตามชีวจิตได้ที่