ระวัง ฟอร์มาลิน ภัยเงียบที่มากับอาหาร

จะทำอาหารทั้งที ก็ต้องมีอาหารสดๆ เป็นวัตถุดิบชั้นดี แต่บ่อยครั้งที่อาหารสด อาหารทะเล หรือแม้แต่ผัก ก็มีสารปนเปื้อน!! ที่ชื่อว่า ฟอร์มาลิน

ฟอร์มาลิน คืออะไร??

ฟอร์มาลินเป็นสารที่สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติจากกระบวนการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิต แต่ฟอร์มาลินยังมีในรูปแบบของสารสารเคมี ที่มีลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน เรียกว่า สารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) และมีเมทานอล (methanol) ปนอยู่ด้วย

โดยทั่วไปมักนิยมใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และในด้านการแพทย์ที่จะใช้สารฟอร์มาลินในการรักษาสภาพศพไว้ไม่ให้เกิดการเน่าเปื่อย จึงอาจทำให้สารตัวนี้ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำมาเป็นส่วนผสมในอาหารสดให้อาหารยังคงความสดใหม่ได้ยาวนานและดึงดูดให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

อันตรายของฟอร์มาลิน

หากได้รับสารฟอร์มาลินจากการสูดดมหรือรับไอระเหย อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนัง เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก มีอาการแสบปาก คอและจมูกร่วมด้วย และหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบของหลอดลมหรือปอด โดยในทางการแพทย์สารฟอร์มาลินเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ทั้งมะเร็งในโพรงจมูก ช่องคอ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย

อาการเมื่อได้รับพิษจากฟอร์มาลิน

  • มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นชนิดต่าง ๆ หรือผื่นลมพิษชนิดเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว
  • ปากและคอแห้ง มีอาการคลื่นไส้
  • อาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก
  • อาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ หายใจลำบาก
  • ความดันเลือดต่ำ จนทำให้ช็อกหรือหมดสติ เลือดเป็นกรดและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

วิธีการป้องกัน

  1. สังเกตและดมกลิ่น หากอาหารมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลินจะมีกลิ่นที่ฉุนต่างไปจากเดิม เช่น กลุ่มปลาหรืออาหารทะเล จะมีกลิ่นที่เปลี่ยนไปและมีกลิ่นคาวน้อยลง เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเนื้อสัมผัสต่างไปจากเดิม เช่น เนื้อหมู เนื้อหมูจะมีความหยุ่นไม่นุ่มเหมือนปกติ
  3. ก่อนการปรุงอาหารควรล้างทำความสะอาดโดยใช้วิธีให้น้ำไหลผ่านมากๆ
  4. 4.เมื่อซื้ออาหารมาแล้วหลังจากล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ นำไปแช่สารละลายด่างทับทิมเจือจาง และล้างอีกครั้งหลังจากแช่สารละลายด่างทับทิมเจือจาง
  5. ปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงเพื่อช่วยให้สารฟอร์มาลินที่ตกค้างในอาหารหายไป

ข้อมูลจาก ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.